ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.สยามธุรกิจ : คปภ.เล็งปฏิรูประบบประกันสุขภาพ จ้าง สวปก.วิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศ หวังบูรณาการร่วมกันระหว่างประกันสุขภาพที่บริษัทประกันขายอยู่กับระบบของภาครัฐ ลดความซ้ำซ้อน ประหยัดงบรัฐ ประชาชนได้รับสวัสดิการดีขึ้น "สุทธิพล" แย้มไอเดียผสมผสานยึดโมเดลประกันพืชผล คือรัฐจ่ายค่ารักษาส่วนหนึ่ง อีกส่วนให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพโดยรัฐซัพพอร์ตเบี้ยส่วนหนึ่งให้ ย้ำถ้ายอดทำประกันสุขภาพเยอะ เบี้ยถูกลงแน่ ลั่น พ.ค.ได้ข้อสรุป ด้านสถานทูตอังกฤษทาบ ส.วินาศภัยดีไซน์ประกันรองรับคนอังกฤษเกษียณในไทย

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า คปภ. ได้จ้างสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กระทรวงสาธารณสุข ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพ โดยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยและต่างประเทศ นำมาวิเคราะห์เพื่อบูรณาการผลประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างการประกันภัยสุขภาพของเอกชนกับระบบประกันสุขภาพของภาครัฐเพื่อลดความทับซ้อนระหว่างกันและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น รวมทั้งมาตรการที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพและหารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย

ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยมี 3 ระบบหลัก คือ 1.ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว 2.ระบบประกันสังคม และ 3.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 ระบบพบว่า ยังมีความทับซ้อนกันในเรื่องของสิทธิประโยชน์ การเบิกซ้ำซ้อนกัน ขณะที่ธุรกิจประกันภัยเองก็มีประกันสุขภาพเอกชนโดยสมัครใจอยู่เช่นกัน ซึ่งขณะที่ คปภ.ทำวิจัย ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยก็มีการศึกษาวิจัยโครงการประกันสุขภาพอยู่ โดยปัญหาที่พบคือจำนวนประชากรที่ลงทะเบียนอยู่ในระบบขณะนี้น่าจะเกิน 49 ล้านคนเกินกว่าที่จะอยู่ในระบบสวัสดิการที่รัฐจะสามารถจัดการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงได้

"ระบบการจ่ายเงินของกองทุนต่อสถานพยาบาลก็เป็นลักษณะปลายปิดไม่ได้สะท้อนต้นทุนการรักษาโรค มาตรฐานคุณภาพต่างๆ ก็ยังแตกต่างกัน เป็นประเด็นทั้งในระบบสวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ เรื่องของค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ไม่สะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ราคากลางของค่าใช้จ่ายต่างๆ การใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนกัน มีการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีโรคที่ไม่ติดต่อเพิ่มขึ้นอีก ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้น ประเทศเราซึ่งมีปัญหาด้านเศรษฐกิจหลายเรื่องก็เกิดภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น คปภ.เองก็เป็นห่วงเรื่องนี้"

เลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า โจทย์ของ คปภ.มีแนวทางว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้มีการปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งในส่วนของข้าราชการ และประชาชน คือมองในภาพรวม แทนที่จะจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือค่าเหมาจ่ายเป็นรายหัวเหมือนที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน สามารถทำผสมผสานกันได้หรือไม่ คือให้ไปซื้อประกันสุขภาพส่วนหนึ่งโดยรัฐบาลสนับสนุนเบี้ยให้เหมือนการประกันภัยสินค้าเกษตรที่รัฐบาลจ่ายชดเชยส่วนหนึ่งพร้อมอุดหนุนเบี้ยด้วย

"ต้องทำอย่างระมัดระวัง ระบบการให้สวัสดิการของรัฐที่ให้กับประชาชนเป็นรูปแบบนี้มานานแล้ว หากจะมีรูปแบบเพิ่มเติมก็อยู่ในไลน์เดียวกันหมด โดยเราจะเสนออีกโมเดลให้รัฐพิจารณา ทางเอกชนอยากให้เปลี่ยนไปเลยโดยจ่ายเบี้ยให้มาซื้อประกันสุขภาพกับบริษัท แต่เราจะใช้วิธีการผสมผสาน เพราะถ้าเปลี่ยนไปเลยต้องดีกว่าเดิม ไม่ใช่เปลี่ยนไปแล้ว หลักประกัน ความมั่นใจของประชาชนมีแค่ไหน ดูจากที่ต่างประเทศทำกัน เอาระบบที่เขาทำแล้วได้ผลมา สมมติเปลี่ยนเป็นให้การสนับสนุนเรื่องเบี้ย ประชาชนจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร เพราะขณะนี้เริ่มมีประกันสุขภาพโดยสมัครใจ ฟีดแบ็กเป็นที่ยอมรับ แต่ปัญหาคือเบี้ยยังแพงอยู่ เพราะคนทำประกันยังน้อยอยู่ ถ้าเราทำทั้งระบบ อัตราเบี้ยก็จะถูกลงจะคล้ายๆ กับประกันภัยพืชผลทางเกษตร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการเคลม"

อย่างไรก็ดี นายสุทธิพล กล่าวว่า ประโยชน์ของการสนับสนุนในรูปของเบี้ย จะทำให้ประชาชนผู้รับสวัสดิการสามารถใช้บริการสถานพยาบาลที่ครอบคลุมเพิ่มขึ้น รวมไปถึงได้รับสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม ไม่ใช่ถูกจำกัดเหมือนในปัจจุบัน ขณะที่จำนวนผู้ทำประกันมีมากขึ้น การแข่งขันเพิ่มขึ้น เบี้ยจะถูกลงและมีศูนย์ข้อมูลกลางประกันสุขภาพ

"โครงการนี้มีระยะเวลา 1 ปีถึงวันที่ 25 พ.ค.2559 ตอนนี้ทางผู้วิจัยได้ส่งรายงานขั้นต้นมาแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการวิเคราะห์ผลการศึกษาเพื่อกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนา จะเร่งให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันจะมีข้อเสนอของเอกชนเข้ามาด้วย ถ้าโครงการนี้ออกมาจะมีประโยชน์มากทั้งกับประชาชน ข้อมูลต่างๆ ที่มีปัญหาอยู่ รวมไปถึงมาตรฐานไม่เท่ากัน เกิดความซ้ำซ้อนกัน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น คอสต์ที่มากขึ้น มีโรคต่างๆ มากขึ้น"

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า เป็นเรื่องดีที่จะมีการปฏิรูปประกันสุขภาพใหม่ เพราะปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากการตอบรับซื้อส่วนควบประกันสุขภาพ ที่ทำให้เบี้ยประกันสุขภาพ โตขึ้น มีพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่ดี เครื่องมือและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ดี แบบประกันคุ้มครองสุขภาพออกมาหลากหลาย ล้อไปกับการแพทย์ที่ดีขึ้นในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อมูลสถิติต่างๆ ด้านการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล และการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ สะท้อนกลับมาทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น การขยายอายุการรับประกัน การคุ้มครองกลุ่มเด็ก กลุ่มสูงอายุ การคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่ครอบคลุมมากขึ้น

"ในช่วง 3-5 ปีมานี้ประกันสุขภาพพัฒนาไปมาก และได้รับการตอบรับสูง เชื่อว่าการปฏิรูประบบประกันสุขภาพจะทำให้เกิดความคุ้มครองใหม่ๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้นจากเดิม เช่น โรคร้ายแรง เรื่องบริการการเคลมและการบริการก็จะมีในเรื่องของดิจิตอลเข้ามาสนับสนุน เป็นต้น"

ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันสุขภาพปีละกว่า 50,000 ล้านบาท โดย 80% มาจากธุรกิจประกันชีวิต

ด้าน นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย "สยามธุรกิจ" ว่า ทางสถานทูตอังกฤษเพิ่งมีหนังสือมาถึง สมาคมฯ ให้ช่วยพิจารณาออกแบบประกัน ให้กับชาวอังกฤษที่มาเกษียณในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ 10,000-20,000 คน โดยแบบประกันที่มองไว้มีทั้งประกันอุบัติเหตุ (พีเอ) และประกันสุขภาพิแต่จะให้น้ำหนักไปที่ประกันสุขภาพมากกว่า เพราะมีความคุ้มครองโรคภัยไข้เจ็บที่น่าจะตรงกับความต้องการ

นายกี่เดช กล่าวว่า ปัจจุบันมีชาวต่างชาติมาเกษียณในไทยเยอะ โดยแบบประกันที่ทำออกมาจะไม่แค่รองรับคนอังกฤษเท่านั้นแต่จะรองรับชาติอื่นด้วยๆ เช่น ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส รวมไปถึงคนในอาเซียน อาทิ พม่า เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 - 12 ก.พ. 2559

เรื่องที่เกี่ยวข้อง