ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์แนวหน้า : องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ไวรัสซิกา ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนักในบราซิลและประเทศอื่นๆในภูมิภาค เป็น "ภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก" โดยนับเป็นการประกาศเตือนภัยครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติอีโบลาที่แพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2557

การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่องค์การอนามัยโลก ได้เปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือในเรื่องของไวรัสซิกา และความเกี่ยวข้องกับการที่ทารกในบราซิลเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ หรือภาวะศีรษะเล็กเกินไป เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ ทางระบบประสาท

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษาโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ ไวรัสดังกล่าวมียุงเป็นพาหะ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหัว มีไข้เล็กน้อย และรู้สึกปวดข้อ หลังเชื้อไวรัสฟักตัวเป็นเวลา 3-12 วัน ความสัมพันธ์ระหว่างโรคไข้ซิกากับภาวะศีรษะเล็กเกินยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตในวงกว้าง

พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า แนวโน้มดังกล่าวซึ่งเพิ่งถูกตั้งข้อสงสัยนั้นส่งผลให้ไวรัสซิกาที่แต่เดิมเป็นภัยคุกคามปานกลาง กลายเป็นภัยคุกคามที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากพบ "ความสัมพันธ์อันซับซ้อน" ระหว่างการติดเชื้อไวรัสซิกากับหญิงมีครรภ์ว่า จะส่งผลให้ทารกที่คลอดออกมามีศีรษะเล็กกว่าปกติ ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของระบบประสาทของสมอง แม้ยังไม่มีผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ก็ตาม

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยโรคไข้ซิการายแรกในบราซิลเมื่อเดือน พ.ค. 2558 ก็ได้พบการแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอเมริกา นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดที่ประเทศเฟรนช์โปลินีเซียเมื่อปี 2556 ด้วยเช่นกัน ซึ่งประกาศครั้ง หลังจากที่มีการประกาศภัยฉุกเฉินเมื่อปี 2557 ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก และโรคโปลิโอเช่นเดียวกับวิกฤติไข้หวัดหมูเมื่อปี 2552

องค์การอนามัยโลก ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไวรัสซิกากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในทวีปอเมริกา และคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 4 ล้านคน และขณะนี้ที่บราซิลพบเด็กทารกแรกคลอดที่มีอาการสมองเล็ก ซึ่งเกิดจากมารดาติดเชื้อไวรัสซิการะหว่างตั้งครรภ์แล้ว 3,700 คน

ที่มา: http://www.naewna.com