ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เดินหน้าขับเคลื่อนการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย พร้อมตั้งเป้าขอรับรองเป็นเขตปลอดโรคไข้มาลาเรียจากองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2569 

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 37 และในปี 2558 องค์การอนามัยโลกรายงานจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกประมาณ 214 ล้านราย ซึ่งร้อยละ 89 อยู่ในประเทศแถบแอฟริกาและมีผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลก 438,000 คน  สำหรับประเทศไทยนั้นจำนวนผู้ป่วยลดลงร้อยละ 85 จาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือเพียง 24,000 ราย ในปี 2558 (ในระยะเวลา 15 ปี) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวบริเวณชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีการอพยพข้ามพรมแดนและมีการประกอบอาชีพที่ต้องพักค้างคืนในป่า สวนไร่ ซึ่งการควบคุมการระบาดของโรคต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วน

นอกจากนี้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงยังพบปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษาหลายขนาน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีพื้นที่ดื้อยาอนุพันธ์อาร์ติมิซินิน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ตราด ตาก กาญจนบุรี และระนอง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและมีการปรับยารักษาให้เหมาะสมแล้ว

สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปีงบประมาณ 2559 (ตั้งแต่ 1 ต.ค.58 - 7 ม.ค.59) พบผู้ป่วยทั้งหมด 2,675 ราย ลดลงร้อยละ 54 เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในจังหวัดอุบลราชธานี รองลงมาคือ ศรีสะเกษและตาก สาเหตุของการติดเชื้อใน จ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ เกิดจากประชาชนเข้าไปในป่าลึกเพื่อหาของป่ามารับประทานและขาย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทหาร ป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันพบอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันราย ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กระตุ้นให้ประเทศที่มีอัตราป่วยน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันราย ยกระดับนโยบายด้านมาลาเรียจากการควบคุมโรคเป็นการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนนโยบายดังกล่าวระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก นอกจากนี้ประเทศไทยร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกได้แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนเป้าหมายการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากภูมิภาคนี้ในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 9 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์  

นอกจากนี้ การดำเนินงานกำจัดโรคไข้มาลาเรียมีการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งโดยมีคำสั่งซึ่งลงนาม โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ณ วันที่ 26 มีนาคม 2558 แต่งตั้งจากคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนายุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรียที่มีระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2560-2569 โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียทั้งประเทศภายในปี 2567 และได้รับการรับรองเป็นเขตปลอดโรคไข้มาลาเรียจากองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2569

นพ.อำนวย กล่าวว่า ในปัจจุบันงบประมาณส่วนใหญ่ในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียได้รับสนับสนุนจากกองทุนโลก ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2560 หากขาดการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้โรคไข้มาลาเรียกลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในการควบคุมโรค ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการจัดเตรียมแผนเปลี่ยนถ่ายหลังสิ้นสุดการสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมทั้งงบประมาณจากรัฐบาลด้วย สำหรับงบประมาณเพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรียในระยะ 5 ปีแรก (ปี 2560-2564) คาดว่าจะใช้เงินทั้งสิ้น 2,283 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำจัดโรคไข้มาลาเรียนั้น จะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีโดยภาพรวม เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รวมถึงลดความเหลี่อมล้ำในสังคมตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ของประเทศจากที่มีนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับโรคไข้มาลาเรีย จะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีมากบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ จึงขอแนะนำประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียหรือตามป่าเขา ขอให้ระมัดระวังตัวในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ไม่ว่าการนอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือมุ้ง หรือมุ้งคลุมเปล การทายากันยุง เป็นต้น

โดยหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422