ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอธีระ’ อาจารย์แพทย์ จุฬาฯ ชี้ แก้ปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชน ครึ่งปีไม่คืบ เหตุ นายกฯ ไม่ใส่ใจ แนะต้องดึงเรื่องดูเอง หากเห็นความสำคัญ 33,000 รายชื่อร้องเรียน หลังกลไกตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาเป็นแค่ปาหี่ ออกมาตรการแก้ปัญหา ติดฉลากยา ทำเว็บไซต์แสดงราคาไม่ตอบโจทย์ แถมขาดการมีส่วนร่วม แนะต้องหาจุดร่วมราคากลางเหมาะสม ไม่เรียกเก็บเกินจริง ประชาชนใช้สิทธิประกันสุขภาพรัฐภาวะฉุกเฉิน รพ.เอกชนได้    

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนซึ่งได้ร่วมคณะทำงานแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ภายหลังจากที่ภาคประชาชนได้เสนอ 33,000 รายชื่อ เพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน โดยเฉพาะในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน และปัญหาค่ายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีการคิดราคาที่แพงเกินจริง มีราคาต่างกันตั้งแต่ 40-600 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็นผลการศึกษาของ นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล รพ.รามาธิบดี โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งมี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เป็นประธาน และตนได้เข้าร่วม โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นเจ้าภาพ ปรากฎได้มีการประชุมเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น จากนั้นก็เงียบหายไป แม้แต่ผู้ที่ร่วมเป็นกรรมการเองก็ไม่ทราบการดำเนินการของ สบส.เพียงแต่รับทราบมาตรการที่ประกาศผ่านสื่อเท่านั้น  

นพ.ธีระ กล่าวว่า ส่วนมาตรการที่ประกาศออกมานั้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศติดฉลากยา หรือแม้แต่แสดงค่ารักษาพยาบาลบนเว็บไซต์ มองว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์ต่อข้อเรียกร้องขอประชาชนได้ โดยเฉพาะความกังวลใจของประชาชนต่อการรักษาฉุกเฉินที่ไม่สามารถเลือก รพ.เอกชน หรือ รพ.รัฐได้ เพราะที่ผ่านมายังคงมีปัญหาการให้เซ็นยอมรับค่ารักษาพยาบาลของ รพ. ทั้งที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ แม้ว่าในการประชุมคณะทำงานจะมอบให้สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ไปศึกษาการจัดทำราคากลางค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินที่เหมาะสม แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยและเท่าที่ทราบได้มีการให้ทบทวนใหม่ ทั้งที่เรื่องนี้จำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ซึ่งปัญหาเท่าที่ทราบคือ รพ.เอกชนมองว่าราคากลางที่ตั้งขึ้นนั้น เป็นราคาที่ต่ำเกินไป เพราะ รพ.เอกชนต้องลงทุนเอง ทั้งอาคารสถานที่และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ แต่การจะอ้างแบบนั้นทั้งหมดเป็นเรื่องไม่ถูก เพราะบุคลากรสุขภาพยังคงเป็นการลงทุนผลิตโดยรัฐ รวมถึงประชาชนเองที่ได้เสียสละร่างกายให้แพทย์ได้เรียน ดังนั้น รพ.เอกชนจึงควรลดกำไรในช่วงฉุกเฉินลงให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งต้องย้ำว่าภาคประชาชนไม่ได้เรียกร้องให้กำหนดราคาเท่ากับ รพ.รัฐแต่อย่างใด

นอกจากนี้รัฐบาลยังควรพิจารณาเก็บภาษี รพ.เอกชนเพิ่มเติม เพราะแม้ว่า รพ.เอกชนจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว เพื่อชดเชยให้กับภาครัฐที่ต้องแบกรับภาระธุรกิจ รพ.เอกชน ซึ่งนอกจากการผลิตบุคลากรสุขภาพข้างต้นแล้ว ยังต้องรับภาวะความเสี่ยงในระบบสาธารณสุขที่เกิดขึ้น เช่น กรณีผู้ป่วยโรคเมอร์สที่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อรักษา รพ.เอกชน ที่มาจากการทำธุรกิจ  

ส่วนการทำเว็บไซต์แสดงค่ารักษาพยาบาลนั้น ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เท่าที่เข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ มองว่าข้อมูลที่มีการนำเสนอไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย แม้แต่คนในระบบสุขภาพเอง ดังนั้นส่วนตัวจึงมองว่าไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้ช่วยในการตัดสินใจได้เลย เป็นเพียงให้ข้อมูลสั้นๆ ไม่ชัดเจน แถมมีศัพท์เทคนิคมาก อีกทั้งยังมีระดับราคาของ รพ.ที่แตกต่างกันหลายเท่า ซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่มีความรู้พอที่จะย่อยข้อมูลเหล่านี้และนำมาเปรียบเทียบติดสินใจได้ จึงมองว่าไม่ได้ทำเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะแท้จริง

“มาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเพียงมาตรการฉาบฉวย ไม่ตรงกับความต้องการที่ประชาชนกังวล และที่สำคัญคือเป็นการแก้ไขปัญหาแบบไม่ได้มีส่วนร่วมแท้จริง มีแต่ฝ่ายเทคนิคดำเนินการ ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การคุมค่ารักษาของแพทย์ เพราะการรักษาเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงความต้องการผู้ป่วยที่ต้องการรักษากับหมอที่มีประสบการณ์ที่เป็นเรื่องวิชาชีพสุขภาพ แต่ควบคุมคือการคิดราคาค่ายา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ต้องควบคุมให้เป็นธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้มีการคิดกำไรที่เกินควร ซึ่งต้องเป็นการหาฉันทามติและควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะจะช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนส่วนใหญ่ถึงเกณฑ์การคำนวณราคาได้”  

ต่อข้อซักถามว่า ความเป็นไปได้ของการแก้ไขปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชน เพราะที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า เรื่องนี้ผ่านมาครึ่งปีแล้วแต่การแก้ปัญหาไม่ถึงไหน เป็นเพราะผู้นำสูงสุดไม่ใส่ใจอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหานี้ที่ไม่ได้รับการแก้ไขไม่ได้อยู่ที่ระบบสุขภาพ แต่อยู่ที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ใส่ใจเพียงพอ หากท่านมองว่าเห็นเสียงเรียกร้องของประชาชน 33,000 คนที่ร่วมเข้าชื่อ และเรื่องนี้ยังเกี่ยวพันชีวิตและมีความสำคัญเพียงพอ ท่านต้องลงมาจับเองหรือมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีผลักดันแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพียงแต่รับยื่นรายชื่อและบอกว่ากังวลเท่านั้น เพราะการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสะท้อนว่าไม่จริงจังต่อการแก้ปัญหา โดยในส่วนคณะทำงานที่ตั้งขึ้นเป็นเพียงแค่จัดปาหี่เท่านั้น และแม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ ออกมา ส่วนตัวยังไม่พอใจเพราะประชาชนยังไม่ได้ประโยชน์และไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงอยากให้มีการย้อนปัญหานี้กลับมาและตั้งต้นแก้ไขปัญหานี้ใหม่

“ในเรื่องนี้ผมขอฝากตรงไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์แพทย์ ดูแลคนไข้ ทำงานวิจัย ทำงานด้านระบบสาธารณสุข และทำงานภาคประชาชนด้วย ขอเรียกร้องให้ท่านเข้ามาแก้ไขปัญหานี้โดยตรง เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้หากไม่สามารถทำในสมัยท่านแล้ว คงไม่สามารถหวังจากรัฐบาลอื่นได้ โดยเฉพาะจากการเมืองที่มักเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ธุรกิจเสมอ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่มาจับเรื่องนี้ เราคงไม่สามารถทำได้เลย เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าท่านได้ยืนอยู่กับประชาชนจริงหรือไม่” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว