ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : คงไม่มีสสารใดอีกแล้วซึ่งแม้ให้ประโยชน์แก่มนุษย์เพียงน้อยนิดแต่กลับครอบครองผืนดินอันกว้างใหญ่ได้เฉกเช่นน้ำตาล รายงานล่าสุดชี้ว่า อ้อยอันเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับสามของโลกรองจากธัญพืชและข้าวนั้น ได้เข้าครอบครองที่ดินทั่วโลกไว้ถึง 26,942,686 เฮกตาร์ (ราว 168.3 ล้านไร่) ซึ่งนอกเหนือจากประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้วผลิตผลที่ได้ยังก่อให้เกิดวิกฤติด้านสาธารณสุขไปทั่วโลกติดต่อกันมาหลายศตวรรษ

การระบาดของโรคอ้วนและโรคที่เกี่ยวข้องอันรวมไปถึงมะเร็ง สมองเสื่อม โรคหัวใจและเบาหวานลุกลามไปทั่วทุกประเทศที่คาร์โบไฮเดรตจากน้ำตาลมีบทบาทสำคัญในเศรษฐศาสตร์อาหาร และคงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องถอยหลังกลับมาพิจารณาจุดกำเนิดของน้ำตาลแต่ครั้งโบราณเพื่อที่จะใคร่ครวญว่า ความหวานที่เราต่างถวิลหานั้นกลับกลายมาเป็นภัยคุกคามทั้งต่อภูมิภาค สังคม และสุขภาพได้อย่างไร

แลหลังย้อนอดีต

สรีรวิทยาของมนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาจากอาหารซึ่งมีปริมาณน้ำตาลต่ำมากและปราศจากคาร์โบไฮเดรตผ่านการขัดสี อันที่จริงแล้วน้ำตาลเข้ามาสู่วงจรอาหารของเราก็ด้วยความบังเอิญ โดยอาจเป็นได้ว่ามนุษย์โบราณใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการขุนสุกรให้อ้วนและอาจเคี้ยวชานอ้อยบ้างเป็นครั้งคราว

การศึกษาซากพืชและดีเอ็นเอเผยให้เห็นว่า อ้อยถือกำเนิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนักโบราณคดีกำลังอยู่ระหว่างค้นหาหลักฐานยุคแรกของการเพาะปลูกอ้อยที่แหล่งโบราณคดีคุ๊กสแวมพ์ในปาปัวนิวกีนี ซึ่งพบหลักฐานการเพาะปลูกพืชใกล้เคียง เช่น เผือกและกล้วยที่นับย้อนไปได้ถึงราว 8,000 ปีก่อนคริศตกาล โดยเชื่อกันว่านักเดินเรือชาวออสโตรเนเชียนและโพลีเนเชียนเป็นผู้นำอ้อยไปเผยแพร่ทั่วภูมิภาคแปซิฟิกตะวันออกและมหาสมุทรอินเดียเมื่อราว 3,500 ปีก่อน

น้ำตาลทรายขาวปรากฏโฉมเป็นครั้งแรกเมื่อราว 2,500 ปีก่อนในอินเดีย ก่อนที่กระบวนการผลิตจะแพร่หลายไปทางตะวันออกสู่จีน และทางตะวันตกสู่เปอร์เซียและโลกอิสลามยุคแรก จากนั้นจึงเดินทางไปถึงเมดิเตอร์เรเนียนในศตวรรษที่ 13 ซึ่งยังผลให้ไซปรัสและซิซิลีกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการผลิตน้ำตาล โดยที่น้ำตาลได้ยกระดับมาเป็นเครื่องปรุงชั้นสูงแพงลิบลิ่วในยุคกลาง

เกาะมาไดราในมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นพื้นที่แรกของโลกที่เก็บเกี่ยวอ้อยสำหรับป้อนสู่กระบวนการผลิตและค้าน้ำตาลในเชิงอุตสาหกรรมระหว่างปลายศตวรรษที่ 15 ก่อนที่โปรตุเกสจะค้นพบผืนดินอุดมซึ่งเอื้อต่อการปลูกอ้อยในบราซิลจนนำมาสู่การเพาะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจด้วยแรงงานทาส จนเมื่ออ้อยจากบราซิลเข้าสู่ภูมิภาคแคริบเบียนเมื่อราวปี พ.ศ.2190 นั่นเองที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อสนองตอบความหลงใหลในรสหวานล้ำทั่วยุโรปตะวันตก

               

ด้วยเลือดและน้ำตา

น้ำตาลซึ่งผู้คนล้วนแต่ถวิลหาแม้ไร้ซึ่งความจำเป็นนั้น ได้ผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ ความต้องการแรงงานสำหรับเก็บเกี่ยวอ้อยปริมาณมหาศาลในบราซิลและแคริบเบียนทำให้เกิดกระบวนการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยคาดกันว่ามีทาสราว 12,570,000 รายถูกส่งตัวจากทวีปแอฟริกาไปยังทวีปอเมริการะหว่างปี พ.ศ.2044 ถึง พ.ศ.2410 และอัตราตายบนเรือแต่ละเที่ยวนั้นคาดว่าอาจสูงถึงร้อยละ 25 ซึ่งจำนวนร่างไร้วิญญาณที่ทิ้งลงจากกราบเรือนั้นอาจอยู่ระหว่าง 1-2 ล้านศพ

การขยายตัวของการผลิตเชิงอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในภูมิภาคมิดแลนด์และเซาธ์เวสต์ของอังกฤษเป็นปัจจัยสนับสนุนการผลิตสินค้า เช่น ทองแดงและทองเหลือง เหล้ารัม เสื้อผ้า ยาสูบ และปืน อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับใช้ซื้อหาทาสจากชนชั้นสูงในแอฟริกา เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคารและประกันภัยในทุกวันนี้ ซึ่งอาจนับย้อนไปถึงต้นกำเนิดในธุรกิจค้าทาสข้ามสมุทรในศตวรรษที่ 18      

แต่อีกด้านหนึ่งทาสในไร่อ้อยกลับต้องเผชิญกับชะตาชีวิตอันโหดร้าย และเมื่อจักรวรรดิอังกฤษประกาศเลิกทาสในปี พ.ศ.2377 ก็กลับกลายเป็นว่านายทาสเท่านั้นที่เป็นฝ่ายได้รับเงินชดเชย ซึ่งเงินส่วนใหญ่ได้นำมาใช้สร้างสาธารณูปโภคในยุควิกตอเรียน เช่น ทางรถไฟและโรงงาน

หายนะแห่งปัจจุบันกาล

ในภาพรวมแล้วเรื่องราวของน้ำตาลและยาสูบนั้นใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง สินค้าทั้งสองต่างก็ผลิตขึ้นด้วยแรงงานทาสและเมื่อแรกสุดก็เชื่อกันว่าเป็นคุณต่อสุขภาพ และแม้ว่าน้ำตาลและยาสูบมีความเป็นมาที่ยาวนาน ทว่าการบริโภคในปริมาณมากที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมานั่นเองที่เป็นสาเหตุของภัยต่อสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาลและยาสูบดังเช่นทุกวันนี้ 

แนวคิดเรื่อง “การระบาดเชิงอุตสาหกรรม” ของโรคไม่ติดต่ออันมีสาเหตุมาจากการมุ่งแสวงหากำไรของบรรษัทยักษ์ใหญ่ดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์ของบุหรี่และน้ำตาล เพราะในขณะที่บุหรี่เป็นที่ทราบดีว่าทำให้เสพติดได้ น้ำตาลเองก็สามารถกระตุ้นการตอบสนองเชิงพฤติกรรมซึ่งแยกกันไม่ออกจากอาการเสพติด    

อย่างไรก็ดีในศตวรรษที่ 21 นี้บทบาทของน้ำตาลดูจะเด่นชัดกว่าภัยคุกคามอื่นรวมถึงยาสูบหรือกระทั่งแอลกอฮอล์ เพราะน้ำตาลนั้นไม่เพียงเป็นส่วนประกอบในอาหารแทบทุกอย่าง (ให้พลังงานราวร้อยละ 20 ของแคลอรีจากอาหาร) หากยังมีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะพืชเศรษฐกิจโลกและมรดกทางวัฒนธรรม

 

บางทีการเปรียบเทียบน้ำตาลกับการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจช่วยให้เห็นภาพชัดเจน เพราะเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นไม่ใช่เพียงทรัพยากรที่ก่อมลพิษ แต่ในอีกด้านหนึ่งยังมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิต รวมไปถึงภูมิศาสตร์และการเมืองของพื้นที่แหล่งทรัพยากร เช่นเดียวกันกับน้ำตาลซึ่งมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจ การใช้แรงงานและการพลัดถิ่น ตลอดจนปทัสถานทางวัฒนธรรมในโลกยุคใหม่

ต้นกำเนิดเชิงวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์ของอ้อยอาจช่วยให้เรามองเห็นว่าเหตุใดน้ำตาลจึงสามารถครอบงำโลกปัจจุบัน รวมไปแนวทางที่เราพอจะทำได้เพื่อลดผลร้ายของมัน 

น้ำตาลเองก็เป็นเช่นเดียวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภัยคุกคามอันร้ายกาจแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งวิทยาศาสตร์ได้อธิบายสาเหตุไว้อย่างละเอียด แต่ถึงกระนั้นก็เห็นได้ชัดว่าเรายังคงขาดเจตจำนงของภาคประชาชนและภาครัฐ เช่น การเสนอเก็บภาษีน้ำตาลและการติดคำเตือนผลกระทบต่อสุขภาพเพื่อที่จะร่วมกันแก้ไขผลกระทบจากน้ำตาล ในห้วงปัจจุบันที่น้ำตาลหยั่งรากลึกอยู่ในวงจรอาหารนี้ (สถิติเมื่อปี 2546 ชี้ว่าอ้อยมีสัดส่วนร้อยละ 6.2 ของผลผลิตทางการเกษตรของโลกและร้อยละ 9.4 ของมูลค่าผลผลิตสุทธิ) จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่คาดหวังด้วยมาตรการทางสังคมและเศรษฐกิจอันเข้มข้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

มาร์ค ฮอร์ตัน ศาตราจารย์ด้านโบราณคดี มหาวิทยาลัยบริสตอล

อเล็กซานเดอร์ เบนท์เลย์ ศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาวัฒนธรรมเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยฮูสตัน

ฟิลลิป แลงตัน อาจารย์อาวุโสด้านสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยบริสตอล

ที่มา : The Conversation