ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข กำชับนายแพทย์สาธารณสุขเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน หลังมีรายงานสัตว์ปีกสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกเสียชีวิตจำนวนมาก ผู้ที่เดินทางไปพื้นที่ระบาดหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก หาก มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง ระบุไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกติดต่อกันมาเป็นเวลา 9 ปี และไม่พบติดเชื้อในสัตว์ปีกเป็นเวลา 8 ปี

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกว่า ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกติดต่อกันมาเป็นเวลา 9 ปี และไม่พบติดเชื้อในสัตว์ปีกเป็นเวลา 8 ปีแต่ยังมีความเสี่ยง ล่าสุดมีรายงานสงสัยการติดเชื้อในสัตว์ปีกที่ประเทศเพื่อนบ้านชายแดนด้านจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เตรียมความพร้อมป้องกันโรคไข้หวัดนก ดังนี้

1.เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน รวมทั้งประสานงานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้ากรมอุทยานฯ เพื่อเฝ้าระวังในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ หากพบการระบาดในสัตว์ ให้แจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่เตรียมพร้อมดูแลผู้ป่วยทันที 

2.ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เฝ้าระวังหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันการติดเชื้อ ไม่นำสัตว์ปีกป่วยตายมาชำแหละหรือบริโภค หากพบผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ร่วมกับมีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่มีโรค หรือเดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที

3.ประชาสัมพันธ์การป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ให้ประชาชนรับทราบ แนะนำผู้ค้าสัตว์ปีกและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

4.กำชับให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคัดกรอง และดูแลผู้ป่วยตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ซักประวัติเสี่ยงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม โดยเฉพาะผู้ป่วยปอดบวมที่มีอาการรุนแรงต้องนอนโรงพยาบาล และเก็บตัวอย่างเชื้อส่งห้องปฏิบัติการในผู้ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก และแจ้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่ 5.แนะนำผู้ที่เดินทางไปพื้นที่ระบาดของโรคหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก รวมทั้งคลุกคลีกับผู้ที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อเดินทางกลับมาแล้วมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทาง

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกรายสุดท้ายปี 2549ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติการสัมผัสกับไก่ป่วย/ตายผิดปกติ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกในคน แต่รักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เตรียมไว้ที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง วิธีการป้องกันโรคไข้หวัดนก คือ ไม่สัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายโดยตรง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติกป้องกัน ขอให้ประชาชนยึดหลักกินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ รับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีกและไข่ที่ปรุงสุก

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก รายงานผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558พบรายงานผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกแล้ว 844 คน เสียชีวิต 449 ราย พบใน 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ กัมพูชา แคนนาดา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และเวียดนาม