ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ชลบุรี รพ.รัฐและ ร.ร.แพทย์แห่งแรกของไทยได้รับรองมาตรฐาน JCI จากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ระบุมาตรฐาน JCI นั้น มีหัวใจหลักคือความปลอดภัยกับคนไข้และคนให้บริการ เผยที่ผ่านมาในประเทศไทยมีเฉพาะ รพ.เอกชนเท่านั้นที่ได้รับมาตรฐานนี้

จากกรณีที่โรงพยาบาลชลบุรีเป็นโรงพยาบาลรัฐ และโรงเรียนแพทย์แห่งแรก ได้รับการรับรองคุณภาพ Joint Commission International (JCI) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของ The Joint Commission ซึ่งเป็นสถาบันของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ดำเนินงานมานานกว่า 75 ปี โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจะต้องมีการให้บริการที่มุ่งเน้นคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้รับบริการเป็นสำคัญ   

นพ.อัษฏา ตียพันธ์

นพ.อัษฏา ตียพันธ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ผู้ซึ่งพัฒนาระบบคุณภาพบริการในโรงพยาบาลจนประสบความสำเร็จและได้รับการรับรองคุณภาพ JCI กล่าวว่า โรงพยาบาลชลบุรีนั้นมีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลได้ตามแนวทางการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล HA (Hospital Accreditation) แล้ว จึงได้มีแนวคิดว่าหากจะพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้ดีกว่าเดิมควรจะใช้แนวทางใดอีก แต่ไม่ได้หมายความว่า HA ไม่ดี เพียงแต่ต้องการต่อยอดให้ดีขึ้น และได้ทราบว่า มาตรฐาน JCI เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานระดับโลกที่ต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้การยอมรับ และในประเทศไทยโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินทั้งหมดจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน

ขอบคุณภาพจาก Facebook/Prasert Kitja

“หลังจากที่ได้ไปฟังแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน JCI แล้ว ผมก็เอามาคุยกันกับคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลชลบุรีว่า เราจะมาเริ่มต้นพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลตามแนวทางนี้ดีหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากมาตรฐาน JCI นั้น มีหัวใจหลักคือความปลอดภัยกับคนไข้และคนให้บริการ ซึ่งในตอนแรกนั้นตั้งใจจะทำเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยตัวหลัก แต่หลังจากที่เชิญที่ปรึกษาจากศูนย์ฝึกอบรมมาตรฐานการบริการด้านสุขภาพระดับสากลแห่งประเทศไทย (Thai International Health Care Standard Training Center-TITC) มาให้ความรู้แล้ว ทางโรงพยาบาลจึงตัดสินใจที่จะพัฒนาให้ได้คุณภาพมาตรฐานเต็มรูปแบบ” นพ.อัษฏา กล่าว

นพ.อัษฏา กล่าวว่า การพัฒนาเพื่อให้ได้รับมาตรฐาน JCI นั้น จะต้องพัฒนาทุกระบบ เช่น ความปลอดภัยของผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ ฯลฯ ซึ่งมีหัวข้อในการประเมินประมาณ 20 กว่าหัวข้อ และมีรายการที่จะต้องดำเนินการกว่า1,300 รายการ หลังจากที่ได้ทราบแนวทางการประเมินแล้ว ทางโรงพยาบาลได้จัดทำนโยบายคุณภาพ จากนั้นจึงทำแผนปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน หลังจากที่ได้พัฒนาทั้งระบบมาประมาณ 2 ปีกว่า และเห็นว่าพร้อมแล้วจึงได้ให้คณะกรรมการจากต่างประเทศมาประเมินมาตรฐาน JCI

“สำหรับแนวทางในการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย (International Patient Safety) ต้องเริ่มจากการชี้บ่งตัวผู้ป่วย (Identification) ซึ่งจะต้องใช้ข้อมูลอย่างน้อย 2 ตัวชี้บ่งร่วมกันเสมอ คือ 1.ชื่อ-นามสกุล ของผู้ป่วย 2.วันเดือนปีเกิดของผู้ป่วย เพราะหากใช้ชื่อ นามสกุลอย่างเดียวอาจจะคลาดเคลื่อนได้ และและก่อนการผ่าตัดทุกครั้งจะต้องมีการระบุจุดที่จะผ่าตัดโดยแพทย์ เพื่อให้การผ่าตัดไม่ผิดข้าง ไม่ผิดคน เป็นต้น ซึ่งรายการที่ต้องประเมินนั้นละเอียดมาก ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในโรงพยาบาล และมีการตั้งหัวหน้าทีมดูแลแต่ละหัวข้อ” นพ.อัษฏา กล่าว

นพ.อัษฏา กล่าวว่า การสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ให้มาร่วมกันสร้างมาตรฐานในการทำงานนั้นสำคัญมาก เพราะหลายคนอาจจะบอกว่างานเยอะ งานยุ่งมากอยู่แล้ว ทำไมต้องทำงานคุณภาพอีก วิธีที่ใช้จูงใจคือต้องชี้ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา เพราะเมื่อการให้บริการมีมาตรฐาน คนไข้มีความปลอดภัย นั่นคือการทำบุญอย่างหนึ่ง และต้องทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าการพัฒนาคุณภาพตามแนวทางนี้ส่งผลดีกับการรักษาพยาบาลคนไข้ ทำให้มีความมั่นใจว่าเมื่อญาติ หรือตัวเจ้าหน้าที่เองป่วย ก็อยากเข้ามารักษาที่นี่ เพราะมาแล้วรู้สึกปลอดภัย และจะได้รับการดูแลที่ดี ส่วนเจ้าหน้าที่ก็จะลดการเจ็บป่วย ติดเชื้อจากโรงพยาบาล การพัฒนาคุณภาพช่วงแรกยากมาก แต่พอเป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกวันแล้ว ก็จะอยู่ในมโนสำนึก ทำแล้วจะไม่เหนื่อย

“ผมจะบอกเสมอว่า 1.การที่เราพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐาน JCI นั้น ไม่ได้ทำไปเพื่อแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชน หรืออยากได้เงินค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติ แต่ทำไปเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเท่านั้น และ 2.การตรวจประเมินอาจจะใช้งบประมาณมากหน่อย แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยทั้งคนมารักษาและคนให้การรักษา และเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นระบบที่พัฒนาขึ้นมาจะช่วยได้มาก เช่น เมื่อก่อนโรงพยาบาลไม่มีระบบเตือนภัยไฟไหม้ ไม่มีระบบหนีไฟ เราต้องปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งคือค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างมหาศาล เงินที่เสียไปคุ้มค่ามาก”

นพ.อัษฏา กล่าวว่า ถ้าโรงพยาบาลอื่นๆ อยากจะทำเริ่มจากการไปปรึกษาที่ปรึกษาก่อน และต้องเริ่มจากการหาความรู้ว่ามาตรฐาน JCI เป็นอย่างไร อย่าเพิ่งคิดว่ามาตรฐานนี้เป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เพราะเท่าที่ทราบจากที่ปรึกษานั้น ขนาดโรงพยาบาลในอินเดีย ปากีสถาน ซึ่งระบบยังไม่ดีเท่าเราเขายังทำได้ ทำไม่เราจะทำไม่ได้ และโรงพยาบาลชลบุรีมีคนไข้วันละ 3,000-4,000 คน งานหนักเหมือนที่อื่น เราก็ได้ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว หากบางโรงพยาบาลยังไม่พร้อมที่จะทำเต็มระบบก็ทำเฉพาะบางส่วนที่พร้อมไปก่อนก็ได้ ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้การตรวจประเมินเพื่อพิจารณารับรองโรงพยาบาลตามมาตรฐาน JCI จะครอบคลุมถึงการบริหารจัดการองค์กร ทิศทางและภาวะผู้นำ ระบบโครงสร้างความปลอดภัยทางกายภาพ ระบบการรองรับภาวะฉุกเฉิน ระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ ระบบการสื่อสารและสารสนเทศ ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ระบบคุณภาพและความปลอดภัยผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการดูแลรักษาตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาล จนกระทั่งผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยคำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและอาการที่เป็น รวมถึงการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อให้กระบวนการดูแลรักษาเกิดผลลัพธ์ที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง