ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมแพทย์ชนบททำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.สธ. ผิดหวังไม่แสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของ ครม. 24 พ.ย.เรียกร้องทบทวนจุดยืน และต้องผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.58 นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ โดยระบุว่า หลังจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ผ่านการพิจารณาของ ครม.เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า กระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่มีการให้ความเห็นใดๆ ในขั้นตอนปกติก่อนออกมาเป็นกฏหมายที่ต้องมีการถามความเห็นของแต่ละกระทรวง

“แต่ในปี 2558 ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรี กลับไม่มีจุดยืน ไม่มีความเห็น ไม่ออกมายืนนำเพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง”

“ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้ทบทวนจุดยืนต่อ พ.ร.บ.จีเอ็มโอนี้ และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และเปิดให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นแห่งชาติ เฉกเช่นข้อเสนอในสมัยรัฐมนตรี นพ.มงคล ณ สงขลา ก่อนที่ ร่าง พรบ.ดังกล่าวจะเข้าหรือไม่เข้าสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติต่อไป ประชาชนคนไทยคาดหวังบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในการปกป้องสุขภาพประชาชน”

ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมดของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีดังนี้

 

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558

เรื่อง ขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พรบ.จีเอ็มโอ

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

ด้วยพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... หรือ พรบ.จีเอ็มโอ ได้ผ่าน ครม.แล้วในวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นี้ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักเพราะมีความพยายามของทุนการเกษตรยักษ์ใหญ่ในการผลักดันมายาวนานนับสิบปี แต่ที่น่าแปลกใจคือ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่มีการให้ความเห็นใดๆ ในขั้นตอนปกติก่อนออกมาเป็นกฏหมายที่ต้องมีการถามความเห็นของแต่ละกระทรวง ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้ในสังคมและวงวิชาการว่า พืชและสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรมไม่น่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับเพิกเฉยไม่มีแม้ความเห็นบรรทัดเดียว เพื่อทักท้วง หรือให้ข้อสังเกต หรือขอแก้ไขสาระให้รัดกุม

ทั้งนี้ข่าวจากที่ประชุม ครม.ระบุชัดว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป” นี่คือหลักฐานว่า สธ.หายไปการทำหน้าที่การปกป้องสุขภาพประชาชน

การตัดแต่งดัดแปลงพันธุกรรมนั้นมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว ยีนที่ตัดแต่งโดยมนุษย์ ที่มีการนำส่วนของยีนของไวรัสหรือแบคทีเรียมาใส่เข้าไปในพืชหรือสัตว์ อาจสร้างหายนะได้ในระยะยาว และที่สำคัญเมื่อมีการผสมพันธุ์ของพืชหรือสัตว์จีเอ็มโอกับพืชหรือสัตว์พื้นถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ก็ย่อมจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่ต่างจากการเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ยีนปนเปื้อนนี้จะคงอยู่ในสายธารพันธุกรรมอีกนับพันนับหมื่นปี

ในปี 2550 สมัยที่ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความพยายามผลักดัน พรบ.จีเอ็มโอนี้เข้า ครม.แล้ว แต่ในสมัยนั้น รัฐมนตรีมงคล ณ สงขลา มีจุดยืนที่ชัดเจนมากว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องปกป้องสุขภาพประชาชนเหนือผลประโยชน์ทางการค้า จึงคัดค้านอย่างเต็มด้วยหลักวิชาการ จน พรบ.ไม่สามารถผ่าน ครม.ได้ ในครั้งนั้น ครม.เพียงอนุญาตให้กระทรวงเกษตรฯ “เตรียมความพร้อมในการขยายการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกไปในระดับการทดลองของทางราชการได้ โดยให้ระบุพื้นที่และชนิดของพืชให้ชัดเจนรวมทั้งมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่จะทำการทดลอง ตลอดจนจัดทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฯลฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 67 ก่อน ทั้งนี้ในการศึกษาควรมีการศึกษาโดยใช้กระบวนการแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นความเห็นร่วมกันแล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในแต่ละพื้นที่ต่อไป”

ซึ่งหมายความว่าในครั้งนั้น ครม.อนุญาตเพียงให้กระทรวงเกษตรเปิดแปลงวิจัยรายพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งยังต้องมีการศึกษา EHIA หรือศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และจัดการรับฟังความเห็นประชาชน ประดุจเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 หากศึกษาแล้วเป็นรายพื้นที่แล้วพบว่าไม่มีผลกระทบก็ให้ทำได้ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ถูกต้องที่สุด

แต่ในปี 2558 ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรี กลับไม่มีจุดยืน ไม่มีความเห็น ไม่ออกมายืนนำเพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจาก พรบ.จีเอ็มโอ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง

ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้ทบทวนจุดยืนต่อ พรบ.จีเอ็มโอนี้ และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และเปิดให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นแห่งชาติ เฉกเช่นข้อเสนอในสมัยรัฐมนตรี นพ.มงคล ณ สงขลา ก่อนที่ ร่าง พรบ.ดังกล่าวจะเข้าหรือไม่เข้าสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติต่อไป

ประชาชนคนไทยคาดหวังบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในการปกป้องสุขภาพประชาชน

ด้วยความเคารพนับถือ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท