ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : ช่วงปี 56 เกิดแนวคิดร่วมมือทำงานกันของ 2 องค์กร หนึ่งคือหน่วยงานรัฐ อีกหนึ่งคือหน่วยงานเอกชนที่มีความตั้งใจช่วยเหลือสังคมและวงการสาธารณสุขให้คนไทยทั้งประเทศมีสุขภาพการรักษาที่ดี และเป็นไปอย่างทั่วถึงด้วยการสร้างแพทย์ใหม่ๆ ขึ้นมา

โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ หน่วยงานของรัฐ และมหาวิทยาลัยสยาม คือ หน่วยงานเอกชนที่มีความเห็นพ้องกัน ณ ขณะนั้นดำเนินการภายใต้โครงการ "40 ปี ม.สยามความพร้อมสร้างแพทย์คุณภาพสู่ AEC"

พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่(สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือตัวแทนของภาครัฐในขณะนั้น ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยามคือตัวแทนภาคเอกชน คือผู้ร่วมมือกัน ท่ามกลางสักขีพยาน ในแวดวงสาธารณสุขจำนวนหนึ่ง

ในการเปิดโครงการเมื่อปี 56 ในวันที่ 27 ก.พ. ที่ห้องประชุมกมลพร โรงแรมสยาม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ นั้น ดร.พรชัย ระบุไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแพทย์จึงอยากมีส่วนช่วยชดเชยส่วนที่ขาดโดยการเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ในภาคการศึกษาปี 2556 เป็นปีแรกรับนักศึกษา 48 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลตำรวจที่จะสร้างแพทย์ที่มีคุณภาพลงพื้นที่ ช่วยเหลือประชาชนในเขตเมืองและชนบทและอนาคตจะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน

ยังมีคนไทยอีกมากมายที่รอคอยการให้บริการสาธารณสุขที่ต้องเจอปัญหาการเข้าคิวนาน เราคิดว่าจะช่วยตรงนี้ได้และเมื่อเรามีความพร้อมวันหนึ่งจะก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในอาเซียน จะสร้างแพทย์ให้ใช้ภาษาต่างๆ ได้ เพื่อให้การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมอาชีพเป็นไปได้ดี เช่น จีน อังกฤษ เป็นภาษาที่แพทย์ต้องเรียน แต่จะมีภาษาอาเซียนที่นักศึกษาแพทย์สามารถเลือกเรียนได้

ด้าน พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ กล่าวในงานแถลงว่า แพทย์ไทยทั้งหมดประมาณ 4.7 หมื่นคน อยู่ในสถานะแพทย์ที่พร้อมในการรักษา 3 หมื่นคน เฉลี่ยแล้วแพทย์ 1 คน รักษา 2,000 คน ขณะที่ตัวเลขควรอยู่ที่ 1 ต่อ 500 วันนี้ ม.สยามได้ยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประเทศชาติซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้

ดังนั้นในฐานะที่เป็นอุปนายกแพทยสภาได้หารือร่วมกับแพทย์ถึงแนวทางการผลิตแพทย์ จากเดิมเชื่อว่ามีเพียงมหาวิทยาลัยรัฐบาลที่สามารถสอนและเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์แล้วได้มาตรฐาน ได้เปลี่ยนแปลงระบบโดยให้มหาวิทยาลัยเอกชนสามารถทำการเรียนการสอนได้ แพทยสภายังมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพร่วมกับโรงพยาบาลตำรวจ เพราะเป้าประสงค์ของการผลิตแพทย์คือต้องการช่วยประชาชนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุข ผลิตแพทย์เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่ช่วงปี 56-58 พยายามได้ให้ข้อมูลกับคณะทำงานไว้มาต่อเนื่องว่า การที่หน่วยงานภาครัฐนั้นไปทำสัญญาหรือลงนามหรือร่วมมือกับภาคเอกชนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียดถ่องแท้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดปัญหาในภายหลังได้ และจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กรทั้งสองฝ่าย แต่การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวก็มีต่อเนื่องไม่ได้ยุติหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือศึกษาข้อกฎหมายให้ละเอียดแต่อย่างใด

และเมื่อถึงปี 58 มีการกำหนดให้ทุกวันศุกร์ตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไปให้นักศึกษาปี 3 เข้ามาศึกษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมีหนังสือยืนยันจาก ม.สยามและโรงพยาบาลตำรวจ แต่ต่อมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย พล.ต.อ.สุพร พันธุ์เสือ ที่ปรึกษา (สบ 10) มีหนังสือให้โรงพยาบาลตำรวจแจ้งไปยัง ม.สยามกรณีให้นักศึกษามาเรียนที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น ดำเนินการไม่ได้เพราะผิดระเบียบในหลายประเด็นด้วยกัน และให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อหาทางออกและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมถึงคนที่จะต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดขึ้นด้วย

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มนักศึกษามีหนังสือแจ้งกันมีใจความสำคัญว่า รพ.ตำรวจไม่มีอำนาจให้นักศึกษาแพทย์ ม.สยามเข้าเรียนในโรงพยาบาล ซึ่งมีการลงรายชื่อของนักศึกษาผู้ปกครองเพื่อยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้พิจารณาช่วยเหลือ และจะทวงถามถึงข้อสรุปเรื่องนี้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปด้วย

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า พล.ต.ท.สมบูรณ์ ตันตระกูล นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจมีหนังสือออกจากโรงพยาบาลตำรวจถึงคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.สยามว่า ตามที่คณะแพทย์ฯ ขออนุญาตให้นักศึกษาแพทย์ปีที่ 3 จำนวน 46 รายเข้าศึกษาวิชา Introduction to Clinical Medicine และผู้ป่วยที่โรงพยาบาลตำรวจทุกวันศุกร์ ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 58 ถึงวันที่ 11 มี.ค. 58 นั้นโรงพยาบาลตำรวจได้พิจารณาแล้วเรียนว่า โรงพยาบาลตำรวจไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการผลิตแพทย์ ไม่มีอำนาจอนุญาตให้ ม.สยามมาใช้อาคารสถานที่ของโรงพยาบาลในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา อย่างไรก็ตามสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากรณีของ ม.สยามทั้งหมด แล้วมีความเห็นเสนอต่อ ผบ.ตร.สั่งการต่อไป

นั่นก็เท่ากับว่าการกระทำก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 56 ต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบให้นักศึกษาจำนวนหนึ่งได้รับความเดือดร้อน ซึ่งนอกจากจะต้องเยียวยานักศึกษาแล้ว จะต้องหาคนกระทำผิดในหน่วยงานทั้งสองแห่งมารับโทษตามระเบียบด้วย

และจากกรณีการยกเลิกความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลตำรวจและ ม.สยามในการเรียนการสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ระดับชั้นคลินิก (ปีที่ 4-6) นั้น รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา ระบุว่าแพทยสภารับทราบปัญหาและนำเข้าพิจารณามีมติดังนี้

1. สำหรับนักศึกษาปี 1-3 แพทยสภา ม.สยามและกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) จัดหาสถานที่ศึกษาต่อในระดับคลินิก ชั้นปีที่ 4-6 ให้กับนักศึกษาทุกคน

2. ให้คณะแพทยศาสตร์ ม.สยามหยุดพักการรับนักศึกษาแพทย์ใหม่ไว้ก่อน

และ 3.สำหรับนักเรียนที่อยู่ระหว่างการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ ม.สยามปี 2559 ทางแพทยสภาได้ดำเนินการขอความร่วมมือ จาก กสพท.ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยรายละเอียดขอให้ติดตามทางหน้าเว็บไซต์ กสพท.ต่อไป

"ขอให้นักศึกษาแพทย์มั่นใจว่า แพทยสภาจะติดตามช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกความร่วมมือดังกล่าวอย่างเต็มที่ทุกคน"

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหากรณีความร่วมมือวิชาการเพื่อผลิตแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจและ ม.สยามนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากรณีนี้ขึ้นมา เพื่อหาทางออกที่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายแล้วโดยคณะทำงานได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงคำนึงถึงประโยชน์ของนักศึกษาแพทย์เป็นที่ตั้งด้วย

เรื่องนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคม และภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้นการกระทำที่ผิดระเบียบกฎหมายคงต้องมีผู้รับผิดชอบต่อไป และอีกไม่นานความชัดเจนจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.อ.สุพรในฐานะกำกับดูแลโรงพยาบาลตำรวจน่าจะมีผลสรุปออกมาให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป.

ขอบคุณที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 พ.ย. 2558