ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. สปสช.ลงนามข้อหารือความร่วมมือกับ JICA ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการพัฒนาบุคลากรและให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประเทศในประเทศอื่น ด้าน สธ.เผยอยู่ระหว่างดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมโดยชุมชนสาหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้แทนโครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Capacity Building to support the movements in achieving Universal Health Coverage หรือ CapUHC) และ นพ.ทาเคโอะ โทดะ (Dr.Takao Toda) อธิบดีสำนักพัฒนาบุคลากร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ได้ร่วมในพิธีลงนามข้อหารือความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพโลก (Project Partnership for Global Health and Universal Health Coverage) ระหว่าง นายทาโร คิคุชิ (Mr. Taro Kikuchi) ผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สปสช. 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การลงนามข้อหารือความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนาบุคลากร และให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการได้แก่ 1) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพของไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืนในประเทศไทย 2) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อส่งเสริมความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย และ 3) การเผยแพร่ประสบการณ์ดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีนานาชาติ

หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศ จัดทำรายละเอียดกิจกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าวเรียบร้อย ก็จะมีการลงนามรายละเอียดความร่วมมืออย่างเป็นทางการอีกครั้งภายในปีงบประมาณนี้ ระหว่างประธานผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และผู้แทนฝ่ายไทย

รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า การดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมาโดยตลอด และในระดับภูมิภาคอาเซียนนี้ ไทยมีจุดแข็งที่โดดเด่นเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าเพื่อประชาชน และได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบของประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าและสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นได้ โดยไม่มีกำแพงค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการสุขภาพ และความสำเร็จนี้ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเป็นแกนนำพัฒนาระบบการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาค 

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการโดยชุมชนสาหรับผู้สูงอายุในประเทศไทยระยะที่สอง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการแบบใหม่ สาหรับกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงซึ่งต้องการการดูแลระยะยาวในระดับชุมชน

“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ JICA จะมีโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพโลก กับประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองโครงการนี้จะสร้างผลกระทบต่อระบบสุขภาพชุมชนในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่จะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการนี้ หน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สปสช.และองค์กรอื่นๆ ที่ดำเนินงานด้านสุขภาพในประเทศไทย ความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่นนี้จะมีส่วนช่วยเร่งให้การดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมภาวะสุขภาพโลก เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศต่อไป” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ประกอบด้วยองค์กรภาคีเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ 7 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กระทรวงสาธารณสุข และ ศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ (ศธส.) คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร