ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเข้าขั้นวิกฤต เผยแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียปีละ 8.8 หมื่นคน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า 3.8 หมื่นคน เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 4 หมื่นล้านบาท ชี้แนวทางจัดการปัญหาต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ จี้ทุกภาคส่วนต้องสานพลังร่วมมือแก้ไข

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวภายในงาน สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี พ.ศ. 2558 ว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเป็นปัญหาวิกฤติหนึ่งของไทยและของโลก ในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาถึง 38,000 คน ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงกว่า 40,000 ล้านบาท เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่เกิดจากเราทุกคน และรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุสมผล และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรีย

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการจัดการปัญหานี้ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ กพย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เน้นการปฏิบัติการ การทำงานที่เสริมและสานพลังของภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยานับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่สำคัญและขณะนี้สถานการณ์ถึงขั้นวิกฤติแล้ว เพราะเราปล่อยให้มีการใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยขาดการควบคุมมายาวนาน การแก้วิกฤตินี้ได้ต้องมีความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน  สสส.มีแนวทางสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพในเรื่องเชื้อดื้อยานี้ โดยสนับสนุนภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ กพย.ในการรณรงค์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจในการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผล มีโครงการขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนอื่นๆ  นอกจากช่วยให้ตนเองและคนรอบข้างปลอดภัยจากปัญหานี้แล้ว จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลทั้งของครัวเรือนและของประเทศลงได้จำนวนมาก

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. มีนโยบายซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ โครงการ หรือสนับสนุนงบประมาณกองทุนต่างๆ และได้เข้าร่วมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวโดยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการให้สามารถประเมินการสั่งใช้ยาในโรงพยาบาล เพื่อนำผลไปปรับปรุงคุณภาพของหน่วยบริการต่อไป

 

ขอบคุณภาพจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)