‘นพ.สุธีร์’ อาจารย์แพทย์ มศว.ชี้ แพทยสภาต้องคงบทบาทกำกับและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ ไม่มีหน้าที่เปิดหลักสูตรอบรมศัลยกรรมเสริมความงาม ระบุเป็นหน้าที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ สมาคมแพทย์ แนะแพทยสภาต้องไม่แค่ทบทวน แต่ไม่ควรนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา คกก.แพทยสภา หวั่นเป็นตรายางรับรองแพทย์เปิดคลินิกทำศัลยกรรมความงาม กระตุ้นให้คนอยากทำสวย พร้อมห่วงการจัดหลักสูตรอบรบระยะสั้น นอกจากไม่ได้มาตรฐานแล้วยังไม่ทำให้เชี่ยวชาญได้
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) กล่าวถึงกรณีแพทย์ 840 คน เข้ายื่นเรื่องต่อแพทยสภาเพื่อออกหลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามเป็นรายหัตถการ ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นว่า การที่แพทยสภาจะเข้ามาทำในเรื่องนี้ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเรามีราชวิทยาลัยศัลยแพทย์อยู่แล้ว การที่แพทยสภาจะเข้ามาทำหลักสูตรเพื่ออบรมเอง คงต้องย้อนถามว่าแล้วเรามีราชวิทยาลัยไว้ทำอะไร อีกทั้งบทบาทหน้าที่สำคัญของแพทยสภาคือการกำกับมาตรฐานนวิชาชีพของแพทย์ ทั้งในด้านคุณวุฒิและคุณสมบัติ แต่หากเข้ามาจัดทำหลักสูตรและเปิดอบรมเอง หากเป็นแบบนั้นแล้วใครจะทำหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของแพทยสภา แต่ควรมอบเรื่องนี้ให้กับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการ
นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรู้ธรรมชาติของแผลและการหายของแผลในลักษณะต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เข้าอบรมเพียงแค่ 1-2 เดือนและมีความเชี่ยวชาญได้ แต่ต้องเห็นแผลของผู้ป่วยและการหายของแผล ทั้งยังต้องประเมินการรักษาได้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ดังนั้นการเปิดหลักสูตรในลักษณะนี้นอกจากผู้เรียนไม่ได้คุณภาพแล้ว ยังเป็นความเสี่ยงต่อคนไข้เอง
“การเปิดอบรมนี้โดยแพทยสภาเกรงว่าจะกลายเป็นการการันตีแพทย์ที่ทำศัลยกรรมด้านความงามหรือไม่ เพราะขณะนี้มีแพทย์ที่ทำด้านนี้มาก จึงเกรงว่าหลักสูตรอบรมจะกลายเป็นใบรับรองมาตรฐาน เวลาที่เกิดความผิดพลาดอาจถูกนำไบใช้ในการกล่าวอ้างว่าได้มีการอบรมหลักสูตรมาแล้ว โดยสิ่งที่ผิดพลาดเกิดจากเหตุไม่พึ่งประสงค์ในทางการแพทย์ เป็นสิ่งไม่คาดคิด เรียกว่าอาจเป็นการชุบตัวคนทำผิดได้ ตรงนี้มองว่าอันตรายมาก”นพ.สุธีร์ กล่าวและว่า เท่าที่ทราบมาขณะนี้แพทย์ศัลยกรรมพลาสติกต้องมาผ่าตัดรื้อให้กับผู้ป่วยในสิ่งที่แพทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงามทำไว้ การเปิดอบรมนี้อาจทำให้เกิดความเสียหายกมากขึ้นไปอีก ส่วนที่มีการอ้างการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ยิ่งต้องทำให้เป็นมาตรฐานบริการ ไม่ใช่แค่การเปิดอบรมระยะสั้น ที่อาจทำให้เกิดปัญหาไปอีก
ต่อข้อซักถามว่า เหตุผลที่มีการยื่นให้แพทยสภาจัดอบรมหลักสูตรศัลยกรรมความงามเป็นเพราะที่ผ่านมามีปัญหามากและมีกรณีเสียชีวิต จึงอยากให้มีการเปิดอบรมนี้เพื่อเป็นมาตรฐาน นพ.สุธีร์ กล่าวว่า คำว่ามาตรฐานต้องไม่ใช่แค่การอบรมหลักสูตรระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องเป็นการอบรมโดยราชวิทยาลัยในการให้คำรับรองและจัดการได้ ต่างจากการเปิดอบรมนี้และใครจะเป็นเจ้าของหลักสูตร ดังนั้นคงอ้างเหตุผลนี้ไม่ได้ ดังนั้นเรื่องนี้แพทยสภาไม่ใช่แค่ทบทวน แต่ไม่ควรนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการแพทยสภาด้วยซ้ำไป และต้องดูบทบาทหน้าที่ว่าควรทำหรือไม่
“เรื่องศัลยกรรมความงามเป็นเรื่องความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งหากผู้ให้บริการมีมากเท่าไหร่ ความต้องการก็จะเพิ่มมากขึ้นตาม เพราะจะทำให้เกิดการโฆษณาเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการอยากสวยอยากงามมากขึ้นไปอีก ดังนั้นต้องถามว่าใช่สิ่งที่แพทยสภาควรทำหรือไม่ และหากยิ่งมีสัญลักษณ์แพทยสภาติดอยู่ คนไข้ก็จะคิดว่าเป็นมาตรฐาน ทั้งที่เป็นเพียงแค่การอบรมระยะสั้น ทั้งนี้มองว่าแพทยสภาควรเน้นทำในเรื่องที่มีผลต่อโรคและชีวิตผู้ป่วย ซึ่งหากแพทยสภาลงมาทำเรื่องความสวยความงามเองจะกลายเป็นแพทย์พาณิชย์ไป”
นอกจากนี้ นพ.สุธีร์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่แพทยสภาเตรียมประกาศหลักเกณฑ์ควบคุมการให้ยาสลบและการดมยาในคลินิกเอกชนว่า แพทยสภาควรแก้ปัญหาการผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนที่ไม่ได้มีการเปิดห้องผ่าตัดมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาขาดแคลนวิสัญญีแพทย์ ส่งผลให้โรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ส่งต่อผู้ป่วยผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่แทน ที่เป็นปัญหาต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ดังนั้นแพทยสภาควรหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย
- 181 views