ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นประเด็นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว สำหรับการประกาศใช้ “คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” ฉบับใหม่ ซึ่งแพทยสภาและสภาวิชาชีพต่างๆ ประกาศใช้เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เหตุผลเพราะคำประกาศสิทธิฯ ฉบับเดิมใช้มานาน 17 ปี และมีเพียงข้อความระบุถึงสิทธิแต่ไม่มีหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ จึงควรออกประกาศใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องสิทธิชัดเจนขึ้น

สำหรับคำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติมข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยขึ้นมา อาทิ การชี้แจงทำความเข้าใจข้อมูลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนการรักษา การให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่เป็นจริงและครบถ้วนแก่ผู้ให้การรักษา ผู้ป่วยพึงรับทราบว่าผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามสิทธิกรณีถูกกล่าวหาไม่เป็นธรรม ตลอดจนให้รับทราบว่าการรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ และเหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้แม้จะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้ว

พลันที่คำประกาศสิทธิฯดังกล่าวถูกประกาศออกมา กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยก็ตั้งข้อสังเกตทันทีว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยหรือคุ้มครองหมอกันแน่

อภิวัฒน์ กวางแก้ว

อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย แสดงความกังขาว่า คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ที่อ้างถึงการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย แต่กลับพ่วงข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ซึ่งหลายข้อแทนที่จะคุ้มครองกลับดูเหมือนจำกัดสิทธิมากกว่า เช่น บอกว่าผู้ป่วยมีสิทธิในการได้รับการปกปิดข้อมูล แต่ข้อพึงปฏิบัติกลับระบุว่าผู้ป่วยต้องให้ข้อมูลสุขภาพและข้อเท็จจริงต่อแพทย์

“กรณีนี้อาจเป็นเหตุให้มีการบังคับทางอ้อมให้ผู้ป่วยเปิดเผยข้อมูลความลับ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี”อภิวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังอาจตีความข้อพึงปฏิบัติได้ว่า หากผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามจะด้วยเหตุอันใดก็ตาม และเกิดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ขึ้น ทั้งแพทย์และโรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะแจ้งไว้แล้วในข้อพึงปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน การระบุให้ผู้ป่วยทราบว่าการรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ หรือเหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้น ความหมายที่อยู่ระหว่างบรรทัดก็น่ากังขา เช่น หากเกิดความผิดพลาดเสียหายจริง จะหมายความว่าผู้ให้บริการทางการแพทย์ย่อมไม่ต้องรับผิดชอบเพราะได้แจ้งให้ทราบไว้แล้วหรือไม่

“อ่านอย่างไรก็รู้สึกได้ว่าประกาศฉบับนี้ไม่ได้มุ่งหวังคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยอย่างแท้จริง แต่ทำเพื่อปกป้องกันเองเท่านั้นหรือไม่” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ระบุ

ขณะที่ ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ชี้ประเด็นว่า การออกคำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่นี้ ไม่มีกระบวนการให้ฝ่ายผู้รับบริการหรือผู้ป่วย และฝ่ายผู้ให้บริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นเลย การทำเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีกับระบบสุขภาพไทย แต่กลับสร้างความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

ธนพล เรียกร้องให้มีการทบทวนกระบวนการและเนื้อหาในคำประกาศสิทธิผู้ป่วยให้ชัดเจนเพื่อลดข้อกังขา และมีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่า คำประกาศสิทธิฯนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยจริงๆ

ทั้งนี้ ไม่กี่วันหลังประกาศใช้คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ซึ่งเพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยเข้ามา แม้เจตนาสร้างความเข้าใจกับผู้ป่วยต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ก็บั่นทอนความมั่นใจของผู้ป่วยไปด้วย เพราะมีการพูดถึงความไม่แน่นอนในการรักษา และการระบุว่าการรักษาอาจเกิดเหตุไม่พึงประสงค์หรือสุดวิสัยได้ ทำให้ต้องตีความว่า หากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ผู้ให้บริการทางการแพทย์จะร่วมรับผิดชอบหรือไม่ เพราะอ้างได้ว่าได้แจ้งในประกาศนี้แล้ว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากไม่ออกมาคัดค้าน จะกลายเป็นว่าทุกคนยอมรับโดยดุษฎี ต่อไปหากมีการฟ้องร้องกรณีได้รับความเสียหายจากการแพทย์ ผู้ป่วยจะแพ้หมด เพราะจะอ้างว่าผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามเองและหมอทำเต็มที่แล้ว

กรรณิการ์ ระบุด้วยว่า คำประกาศสิทธิฯฉบับใหม่ อ้างว่าได้จัดเวทีรับฟังความเห็นแล้วและมีเครือข่ายผู้ป่วย และตัวแทนผู้บริโภคเข้าร่วมด้วย ในเดือน  ต.ค.  2557 อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงเวทีเดียวและได้ท้วงติงประเด็นเหล่านี้แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีเพียงแก้ไขถ้อยคำจาก “หน้าที่ของผู้ป่วย” มาเป็น“ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย” เท่านั้น

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

ขณะที่ในฝั่งของผู้ให้บริการอย่าง ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ก็ตอบโต้และชี้แจงคำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับนี้ว่า เสียงวิจารณ์คัดค้านเหล่านี้เป็นเรื่องเหลวไหล เพราะสิทธิที่มาพร้อมกับหน้าที่ เป็นหลักการสากลที่ใช้กันทุกประเทศทั่วโลก คนที่ออกมาคัดค้านก็หน้าเดิมไม่เกิน 10 คนที่มีอคติกับแพทยสภา

ศ.นพ.สมศักดิ์ ชี้ว่า เหตุผลที่ยกขึ้นมาคัดค้านนั้น บางข้อก็ไม่สมเหตุสมผล เช่น การติดเชื้อ HIV แล้วไม่ยอมบอกหมอ อ้างว่าไม่ต้องการเปิดเผยความลับ ถ้าไม่บอกแล้วหมอจะรักษาได้อย่างไร อาจทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาด จ่ายยาผิดพลาด สิ่งเหล่านี้เป็นผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง หรือการไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำของหมอแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา แบบนี้เป็นความผิดของหมอหรือไม่

“ถ้าบอกให้เลิกดื่มเหล้าแต่คนไข้ไม่ยอมเลิกดื่ม เป็นความผิดของหมอหรือ สิทธิต้องมากับหน้าที่และความรับผิดชอบ ผู้ป่วยก็ต้องมีความรับผิดชอบ นี่เป็นหลักการที่ใช้กันทั่วโลก แต่บ้านเราจะเอาแต่สิทธิแต่ไม่เอาหน้าที่”ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การระบุว่า การรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ และเหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้แม้จะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ จะเป็นข้ออ้างให้หมอไม่ต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น นายกแพทยสภา ระบุว่าเป็นเพียงการแจ้งเพื่อให้ผู้ป่วยทราบ และไม่มีข้อความใดที่ห้ามไม่ให้ฟ้อง

“เป็นข้อความที่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่าหมอไม่ใช่เป็นหมอเทวดาที่รักษาได้ทุกโรค เหตุสุดวิสัยต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่บอกล่วงหน้า คนจะมีความคาดหวังสูง คิดว่าหมอรักษาได้หมด ซึ่งมันไม่ใช่ ดังนั้นถ้าประชาชนเข้าใจจุดนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับหมอจะน้อยลง”ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ ย้ำอีกว่า คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่นี้ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอและผู้ป่วยดีขึ้น เพราะหากแต่ละฝ่ายซื่อสัตย์ต่อกัน อธิบายกันตรงๆ ทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ถ้าปกปิดข้อมูลต่อกันกลับจะยิ่งทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น