16-17 พ.ย.นี้ ประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 1 “หลักประกันสุขภาพ: ความก้าวหน้า ความท้าทาย และความกลมกลืน” เวทีแลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจผู้เกี่ยวข้องระบบสุขภาพ มุ่งบูรณาการพัฒนาระบบร่วมกัน สู่ความเท่าเทียมกันและความยั่งยืนระบบหลักประกันสุขภาพประเทศไทย
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวถึงการจัดประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2558) “หลักประกันสุขภาพ: ความก้าวหน้า ความท้าทาย และความกลมกลืน” โดยจัดขึ้นในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า ประเทศไทยก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 ถือได้ว่าเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังมีความท้าทายในการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ การรับและส่งมอบบริการ การจัดหาและการใช้เงิน ระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ ระบบกำกับคุณภาพบริการและการคุ้มครองสิทธิและอื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน และได้ตั้งอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อจัดทำกลไกเพื่อสร้างความกลมกลืน และได้นำมาสู่การประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2558)
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของกลไกการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การบูรณาการและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพไปในทิศทางที่เกื้อหนุนและสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการและแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมการนำข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ ขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่ความกลมกลืนของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย และการพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ
ขณะนี้คณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพได้เสนอกลไกเพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพที่ดูแลโดยภาครัฐ โดยจัดตั้ง “คณะกรรมการสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพ” และต้องย้ำว่า จะไม่มีการนำเงินจากกองทุนต่างๆ มารวมกัน โดยจะเป็นเพียงเวทีกลางเปิดให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมเพื่อดูว่าสิทธิประโยชน์ใดยังแตกต่างและจะทำให้กลมกลืนกันอย่างไร ซึ่งในหลายประเทศที่มีหลายกองทุนต่างใช้กลไกนี้เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมเช่นกัน
“การประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการเดินหน้าในเรื่องนี้และยังเป็นกลไกหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเพื่อให้เกิดความยั่งยืน” นพ.สุวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมมีวิทยากรผู้มีชื่อเสียงระดับโลกเข้าร่วม อาทิ ศาสตรจารย์ แอนน์ มิลส์ นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขระดับโลกจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2552, ดอกเตอร์ทูมัส พาลู ผู้จัดการ หน่วยประชากร โภชนาการ และ สุขภาพ ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกและแปซิฟิก, ศาสตราจารย์นาโอกิ อิเคกามิ จากมหาวิทยาลัยเคียวโอ ประเทศญี่ปุ่น และศาสตราจารย์ ไฮ ฟาง จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นประสบการณ์การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพ และการสร้างความกลมกลืนในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ
นอกจากนี้ยังมีเวทีต่างๆ อาทิ สิทธิประโยชน์กลางหลักประกันสุขภาพ-ทุกคนได้ประโยชน์จริงหรือ?, แหล่งเงินสำหรับจัดบริการสุขภาพ ภารกิจที่รัฐต้องลงทุน/แหล่งเงินมาจากไหน, ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย: อภิบาลระบบอย่างไรให้ได้ผลดี, ถึงเวลาของการ Harmonize วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการหรือยัง และระบบการคุ้มครองสิทธิประชาชน เสนอการบริหารจัดการและกลไกการทำงานร่วมกัน 3 กองทุนฯ เป็นต้น
- 29 views