ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ไทยรัฐ : วันเสาร์สบายๆวันนี้มาคุยเรื่องโมเดลการสร้างเสริมสุขภาพกันดีกว่า เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้ สสส.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มีผลงานเข้าตา WHO หรือองค์การอนามัยโลก ทำให้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับ สสส.ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เป้าหมายหลักเพื่อให้มีองค์กรรูปแบบกองทุนสสส.ขยายไปยังประเทศต่างๆมากขึ้น และเพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs

WHO ยกย่องรูปแบบการทำงานของ สสส.เป็น นวัตกรรมของการสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก ซึ่ง สสส.มีงบประมาณจาก Earmarked Tax หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าภาษีบาป โดยใช้เงินจากภาษีสุราและยาสูบมาสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการรักษาพยาบาล ยึดหลัก “สร้างดีกว่าซ่อม” สร้างสุขภาพให้ดี ดีกว่าซ่อมสุขภาพที่เสื่อม

ส่วนโรค NCDs เป็นโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส หรือผ่านตัวนำโรค (พาหะ) แต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในร่างกาย ส่วนใหญ่เป็นผลจากการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารรสจัด และมีความเครียดสะสม

สาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกมีเกินกว่า 60% ที่ตายด้วยโรค NCDs และในจำนวนนี้มีเกิน 80% ที่เป็นประชากรของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งกลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุดคือ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง เห็นชื่อโรคแล้วนึกถึงคนใกล้ตัวใช่ไหมครับ

อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันโรคเหล่านี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และสร้างสุขภาวะทางจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ สสส.รณรงค์มาตลอด

ทั้ง รูปแบบของกองทุนและแนวทางการปฏิบัติงานของ สสส.เป็นโมเดลที่ WHO จะผลักดันให้เกิดขึ้นในอีก 10 ประเทศได้แก่ บังกลาเทศ พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีเหนือ มัลดีฟส์ มองโกเลีย เนปาล ศรีลังกา และภูฏาน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ร่วมใน WHO สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากเซ็นเอ็มโอยูไปเมื่อเดือนก่อน ระหว่างนี้จนถึงสิ้นปีจะเป็นช่วงของการเตรียมงาน ออกแบบหลักสูตรเนื้อหาการประชุม ทำงานวิจัยถอดบทเรียนประเด็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงวิเคราะห์นโยบายการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ก่อนทำเป็นพิมพ์เขียวส่งมอบให้ 10 ประเทศดังกล่าว

ก็เป็นเรื่องราวดีๆ ที่เก็บมาเล่าสู่กันฟัง ผลงานของ สสส.ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ส่วนเรื่องที่ สสส.กำลังถูกตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ก็ต้องดำเนินการต่อไป

ยังดีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ไม่หลงไปกับกระแสกดดัน ถึงได้รีบประกาศว่าเจตนาของการตรวจสอบครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ยุบหรือไม่ยุบ สสส. แต่มาตรวจสอบในประเด็นที่ติดขัดและเป็นข้อสงสัยของสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับแก้กันไป เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด.

‘ลมกรด’

ที่มา: http://www.thairath.co.th คอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย