ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอปิยะสกล” แจง บริหารกองทุนบัตรทอง ใช้ กลไก คกก.ร่วม 7 คูณ 7 และ คกก. 5 คูณ 5 ประสานงานร่วมส่วนกลางและระดับเขต ขับเคลื่อน ลดขัดแย้ง เน้นรักษาความพึงพอใจประชาชน เพิ่มความพึงพอใจผู้ให้บริการ เพื่อความอยู่รอดของระบบบัตรทอง พร้อมเคาะทางออกร่วมจ่าย ย้ำต้องได้ข้อสรุปปีนี้ ไม่ขัดหลักการพื้นฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เตรียมเชิญ ศ.อัมมาร หารือข้อเสนอแนะ    

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวบรรยายพิเศษ “สานพลังพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสู่ความมั่นคง และยั่งยืน” ในการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.58 ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของประเทศไทยได้รับการพัฒนาตั้งแต่ปี 2548 จนเข้าสู่ปีที่ 13 แล้ว โดยการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนมีความชัดเจน เพราะผู้ป่วยนอกเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นจาก 110 ล้านครั้งต่อปี เป็น 150 ล้านครั้งต่อปี ขณะที่ผู้ป่วยในอยู่ที่ 4 ล้านครั้งต่อปี ทั้งยังช่วยปกป้องครอบครัวคนไทยจากการล้มละลายได้ถึง 76,000 ครัวเรือน ซึ่งจากผลสำรวจล่าสุด พบว่าประชาชนพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นถึง 9.11% แต่ในส่วนของผู้ให้บริการกลับพอใจต่อระบบเพียง 6.98% สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบ โดยเฉพาะบุคลากร ซึ่งไม่สามารถเพิ่มได้จากนโยบายจำกัดกำลังคน

ทั้งนี้ความดีใจของประชาชนต่อระบบเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้กำลังใจผู้ให้บริการด้วยเพราะเขาทำได้ดีมาก ประชาชนจึงได้พอใจขนาดนี้ หากเราไม่ให้กำลังใจผู้ให้บริการเลยและยังคงปล่อยไปแบบนี้ ต่อไปความพอใจของประชาชนก็จะลดลง ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดความสมดุล ดังนั้นงบประมาณที่ลงไปในปีนี้ นอกจากต้องรักษาความพึงพอใจประชาชนแล้ว ยังต้องทำให้ความพึงพอใจของผู้ให้บริการเพิ่มมากขึ้น นั่นคือความอยู่รอดของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีนี้จะมีกลไกการดำเนินงานแตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยจะมีความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุดเพื่อประสานการทำงานร่วมกัน คือ คณะกรรมการ 7 คูณ 7 ซึ่ง มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีเลขาธิการ สปสช.เป็นประธานร่วม  และคณะกรรมการ 5 คูณ 5 โดยมีผู้ตรวจกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมี ผอ.สปสช.เขต เป็นประธานร่วม โดยได้ลงนามคำสั่งแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นกลไกประสานการทำงานทั้งระดับส่วนกลางและระดับเขต โดยจะดูแลทั้งในด้านบริการและงบประมาณควบคู่กันไป เพื่อการดูแลสุขภาพและการบริการที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

“ผมให้ความสำคัญต่อคณะกรรมการ 2 ชุดนี้มาก และจะมีทีมงานคอยติดตามและคอยกำกับเพื่อปรับเปลี่ยนส่วนที่จำเป็น ดังนั้นเป้าหมายในปี 2559 คือการมีเอกภาพ การร่วมกันของทุกภาพส่วน เป็นเอกภาพในความหลากหลายเพื่อทำงานร่วมกัน ไม่แต่เฉพาะ สปสช. กระทรวงสาธารณสุข แต่รวมถึงภาคเอกชนและหน่วยบริการในสังกัดอื่น วันนี้เราไม่มีเวลาขัดแย้งอีกแล้ว และการแก้ปัญหาหนึ่งต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ ดังนั้นด้วยวิสัยทัศน์และการปฏิบัติจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหากเราสามัคคีจะเข้มแข็งและทำให้ประชาชนสู่สุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว และว่า นอกจากนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีเป้าหมายคือการมุ่งสู่ระบบการเงินการคลังระยะยาว การแหล่งเงินสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันเราดำเนินมา 13 ปีแล้ว และจะก้าวอย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน  

นอกจากนี้ นพ.ปิยะสกล ยังได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า ปีนี้คงต้องมาดูว่าสิ่งที่รัฐให้มาตลอดมีกำลังพอหรือไม่ที่จะทำให้ระบบนี้มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปได้ที่ผู้รับบริการอาจต้องร่วมจ่าย โดยอยู่ระหว่างการเชิญผู้ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ อย่าง ศ.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อมาพูดคุยถึงข้อเสนอแนะและผลที่จะเกิดขึ้น และคงต้องกล้าตัดสินใจแล้ว่า เราจะเดินหน้าอย่างไร ส่วนจะร่วมจ่ายในรูปแบบใดนั้น ขอยังไม่ลงรายละเอียดในขณะนี้ แต่ยืนยันว่าต้องไม่กระทบกับหลักการขั้นพื้นฐานของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบัน

ต่อข้อซักถามว่า คาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมจ่ายเมื่อไหร่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามกลับว่าทำมากี่ปีแล้ว แต่ปีนี้จะสรุปให้ได้ แบบนี้ก็แล้วกัน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ที่ต้องร่วมจ่ายเป็นเพราะงบประมาณไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกิดคุณภาพใช่หรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า คำว่าร่วมจ่ายขอเน้นว่า หลักการขั้นพื้นฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะหาแหล่งเงินมาอย่างไร ตรงไหน ต้องมาพูดคุยกัน ตอนนี้ตนเองก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ดูข้อเสนอที่มีการศึกษาเลย ซึ่งเชื่อว่า ศ.อัมมาร ซึ่งใช้เวลาศึกษานี้มาเป็นปีคงพอที่จะบอกเราได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อระบบ ขณะเดียวกันต้องดูแลการเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นทั้งหมดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เรื่องนี้ขอยืนยันตามคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวต่อที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ