ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชฎาพร” พยาบาลวิชาชีพ สู่ “หมอเวชศาสตร์ครอบครัว” รุกงาน “ปฐมภูมิ-เยี่ยมบ้าน รพ.เกษตรวิสัย” ดูแลผู้สูงอายุติดเตียง ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยระยะสุดท้าย มะเร็ง-ไตวาย สร้างเครือข่ายด้วย “โครงการบุญรักษา” ประยุกต์วัฒนธรรมชาวอีสาน ดึงชาวบ้าน ชุมชนและ อปท. มีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ พร้อมระบุ ว่า องค์ความรู้เวชศาสตร์ครอบครัวทำให้แก้ไขปัญหาสุขภาพที่ยุ่งยากซับซ้อน ของประชานได้อย่างครอบคลุมเป็นองค์รวม  

ด้วยใจรักที่จะทำงานชุมชนและความชอบที่จะดูแลชาวบ้าน การเป็น “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” จึงเป็นทางเลือกสำหรับ “พญ.รัชฎาพร สีลา” ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาของการทำงานที่ รพ.เกษตรวิสัยในจังหวัดร้อยเอ็ด ผลงานที่ปรากฎจึงเป็นคำตอบได้ดี

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แม้ว่าเป็นกลไกสำคัญของงานบริการปฐมภูมิและการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ทำหน้าที่คัดกรองโรคและรักษาเบื้องต้น ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ แต่กลับเป็นสาขาที่ขาดแคลนอย่างยิ่ง มีแพทย์เลือกเรียนน้อยมาก

การเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของ พญ.รัชฎาพร เริ่มต้นจากการเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลโพนทราย จ.ร้อยเอ็ด โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เล็กๆ  ซึ่งมีหมอเพียงคนเดียวคือผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทำให้หลายครั้งต้องทำบทบาทคล้ายแพทย์ ตรวจรักษา ดูแลคนไข้ ทำให้มีแนวคิดการบริหารจัดการหลายอย่างและคิดว่าหากเป็นหมอคงมีโอกาสดูแลคนไข้มากขึ้น และต่อมาในปี 2546 ได้มีโครงผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยเป็นแนวคิดของ ศาสตราจารย์พิเศษ นพ.ไพจิตร ปวบุตร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นโครงการของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นปีแรก โดยเปิดโอกาสให้บุคลากรสาธารณสุขได้ลาศึกษาและเรียนแพทย์ได้ โดยเพิ่มสถาบันการผลิตในโรงพยาบาลทั่วไป นอกจากโรงเรียนแพทย์ ทำให้ได้เรียนรู้ในบริบทที่แท้จริงของระบบบริการสาธารณสุขส่วนใหญ่ของประเทศ เห็นสภาพการทำงานที่เป็นจริง

“หลักสูตรแพทย์ที่เรียนเป็นหลักสูตรแนวใหม่ 5 ปีที่เปิดให้บุคลากรสาธารณสุขร่วมเรียนกับน้องนักศึกษาแพทย์ในระบบผ่านการเอ็นทรานซ์หลักสูตรแพทย์ 6 ปี โดยได้รับการยกเว้นเรียนปีแรก เพราะถือว่าได้ผ่านการเรียนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาแล้ว ซึ่งแต่ละปีมีโค้วต้ารับสมัครเรียน 30 คน โดยในปี 2558 เป็นรุ่นที่ 11 แล้ว ส่วนรุ่นแรกที่ตัวเองได้สอบเข้าเรียน มีบุคลากรสาธารณสุขทั้งพยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น สมัครสอบถึงกว่าพันคน แต่สอบผ่านเกณฑ์เพียง 28 คนเท่านั้น” พญ.รัชฎาพร กล่าว

พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า หลังเรียนจบได้เข้าเพิ่มพูนทักษะที่ รพ.ร้อยเอ็ดและ รพ.พนมไพร จากนั้นจึงได้ทำงานที่ รพ.เกษตรวิสัยจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว โดยในระหว่างเป็นหมอที่นี่ สธ.ได้เปิดโครงการผลิตแพทย์สาขาขาดแคลน โดยเวชศาสคร์ครอบครัวเป็นหนึ่งในสาขาหนึ่งผลักดันการผลิต เปิดให้โรงพยาบาลที่ทำงานเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานได้ ทั้งเป็นหลักสูตรที่ไม่ต้องลาศึกษา ประกอบกับเป็นสาขาที่ได้ทำงานกับชาวบ้าน ชุมชน ตรงกับแนวคิดที่อยากเป็นหมอทำงานใน รพช.อย่างมีความสุขจึงเลือกเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว

“เวลาเรียนเรามักเจอคำถามว่าจะเป็นหมออะไร หมอแบบไหนที่อยากเป็น ทุกคนที่เรียนหมอต่างก็มองหาสาขาวิชาที่เป็นตัวเอง มองหาคนแบบที่อยากเป็น ตอนนั้นยอมรับว่าหมอเองยังไม่รู้จักเวชศาสตร์ครอบครัว และในวิชาเรียนก็ไม่มีวิชาที่สอนอย่างในตอนนี้ แต่พอดีมีอาจารย์ที่เป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวและเห็นท่านทำงานใน รพช.อย่างมีความสุข เป็นหมอที่คนไข้และชาวบ้านรัก และตัวเองก็ชอบที่จะทำงานใน รพช.อยู่แล้ว ไม่อยากเเรียนหรือทำงานในเมือง ดังนั้นการเรียนหมอเวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นคำตอบสำหรับตัวเอง” พญ.รัชฎาพร กล่าวและว่า นอกจากนี้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจคือการได้เห็นทักษะการทำงานของอาจารย์หมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่เข้าใจความเป็นคนของคนไข้ บางครั้งไม่ต้องใช้ยาแต่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันคนไข้เองก็รักอาจารย์เหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่าเป็นสาขาแพทย์ที่น่าสนุก ทำให้การทำงานไม่เบื่อ ตรงกับคำที่ นพ.ประเวศ วะสี เคยพูดไว้ว่า “รักษาคน ไม่ได้รักษาไข้”   

การเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.เกษตรวิสัยนั้น พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า ด้วยในช่วงที่ค้นหาข้อมูลเรียนสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวนี้ ได้มีการเปิดรับสมัครโรงพยาบาลเพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหมอสาขานี้ และจากที่ได้พูดคุยกับอาจารย์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นจึงแนะนำให้โรงพยาบาลเกษตรวิสัยเข้าร่วมเป็นสถาบันปฏิบัติงานเวชศาสตร์ครอบครัว นับเป็นโอกาสที่ดี นอกจากประโยชน์ในแง่การเรียนแล้ว ยังเป็นโอกาสพัฒนาทีมงานสหสาขาวิชาชีพ และพัฒนางานเวชศาสตร์ครอบครัวให้กับโรงพยาบาลไปพร้อมๆ กัน จึงได้นำเสนอแก่ทีมบริหารและได้รับการสนับสนุนจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล สมัครร่วมเป็นสถาบันปฏิบัติงานเพื่อสอบวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว โดยมี โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นเป็นสถาบันสนับสนุนวิชาการในการร่วมผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

“จากจุดเริ่มต้นนี้ ทำให้ รพ.เกษตรวิสัยไม่เพียงแต่เกิดการพัฒนางานเยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยเรื้อรังโรคเรื้อรังเท่านั้น แต่ยังทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ด้วยเริ่มแรกจัดทีมหมอและสหสาขาวิชาชีพหมุนเวียนออกตรวจและดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พื้นที่ 15 แห่ง ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี รวมทั้งการออกเยี่ยมบ้าน จนกลายเป็นระบบดูแลผู้ป่วยเรื้อรังใกล้บ้านในที่สุด เน้นผู้ป่วย 5 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยสูงอายุติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งผู้ป่วยมะเร็งและไตวายที่มีการเชื่อมต่อระหว่าง รพ.กับชุมชน และคนในบ้าน ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลต่อเนื่องไม่แต่เฉพาะการรักษาและรวมถึงการดูแลสภาพจิตใจ ซึ่งรวมไปถึงญาติผู้ป่วยด้วย    

พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า ในการดูแลผู้ป่วยทั้ง 5 กลุ่มข้างต้นนี้ แม้ว่า รพ.เกษตรวิสัยได้จัดทีมดูแลอย่างเป็นระบบ แต่ปัญหาสำคัญคือการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องที่ต้องอาศัยครอบครัวและชุมชนที่ต้องช่วยกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน จึงได้เกิดแนวคิดจัดตั้ง “โครงการบุญรักษา” เพื่อสร้างเครือข่ายดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน ประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ชาวบ้านในชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบูรณาการทำงานร่วมกันและเริ่มค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายดำเนินการ โดยปีแรกค้นหาผู้ป่วยสูงอายุติดบ้านติดเตียง 120 ราย ผู้พิการติดเตียง 101 ราย ผู้ป่วยจิตเวช 25 ราย และผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมะเร็ง 60 รายและผู้ป่วยไตวาย 98 ราย

“แนวคิดโครงการบุญรักษามาจากคนภาคอีสานชอบทำบุญ จึงนำเรื่องบุญเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยชวนให้เข้าร่วมทำบุญด้วยการดูแลผู้ป่วย เริ่มจากการโฮมบุญ ชวนผู้ดูแลผู้ป่วย ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน อปท. และบุคลากรสาธารณสุขมาร่วมรับฟังข้อมูล ให้ดูตัวอย่างคนไข้ที่ได้รับการฟื้นฟูจนดีขึ้นและชี้ให้เห็นว่าหากคนไข้รายนี้ไม่ได้รับการดูแลจะเป็นอย่างไร แล้วพาลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วย ลองออกแบบการดูแลโดยชุมชนเพื่อคนในชุมชน นอกจากนี้ก็คืนข้อมูลให้พื้นที่ รับรู้ว่ามีผู้ป่วยเรื้อรัง 5 กลุ่มที่ต้องดูแลร่วม 300-400 ราย เฉพาะทีมหมอและสหสาขาวิชาชีพคงไม่เพียงพอ จึงย้ำด้วยว่าต้องอาศัยเครือข่ายให้เกิดการดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง”  พญ.รัชฎาพร กล่าวและว่า หลังจากนั้นได้พาเยี่ยมบ้านคนไข้เพื่อให้เห็นบริบทความเป็นอยู่และร่วมกันวางแผน พร้อมกำหนดบทบาทในการดูแลคนไข้ร่วมกัน เป็นกระบวนการเรียนรู้และลงมือทำร่วมกัน และหลังการดูแลผู้ป่วยแล้ว จะมีการนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันในรูปแบบเรื่องเล่าถึงการดูผู้ป่วยแต่ละรายเป็นอย่างไร เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนอนุโมทนาบุญ เพื่อสรุปว่าหลัง 1 ปีของการดูแลผู้ป่วยแล้วผลเป็นอย่างไร  

ต่อมากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายหมอครอบครัว พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า จึงเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับที่ รพ.เกษตรวิสัยเพราะเป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรามีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดในมือ รู้ว่าผู้ป่วยอยู่จุดไหน เป็นกลไกทำให้เกิดนวัตกรรมชุมชนดูแลกันเอง และเป็นเจ้าของคนไข้แทนโรงพยาบาลและ รพ.สต. ซึ่งทำให้เกิดความเข้มแข็ง และครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยในทุกมิติ ไม่แต่เฉพาะด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งต้องบอกว่าหลัง 2 ปี โครงการบุญรักษาเป็นผลชัดเจนมาก และจะต่อยอดโดยเชื่อมโยงไม่สู่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีที่เป็นอัตราการตายอันดับ 1 ในพื้นที่ต่อเนื่อง 5 ปี และกลุ่มผู้ป่วยเบหวานความดันโลหิตสูงที่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ชาวบ้านและชุมชน เกิดคำถามจากการไปดูแลผู้ป่วยติดเตียงว่า “ถ้าไม่อยากเป็นผู้ป่วยติดเตียงแบบนี้เราจะทำอย่างไร” คำตอบคือการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ จึงเกิดการพัฒนาต่อยอดการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนเองอย่างเข้มแข็ง กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือทำงานร่วมกันของภาคสาธารณสุขและประชาชนเหล่านี้ จะนำมาสู่คำตอบของการดูแลตนเอง (Self care) ที่ยั่งยืนและเป็นเป้าหมายสูงสุดของงานสาธารณสุขต่อไป

พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า หมอเวชศาสตร์ครอบครัวหากดูภาพรวมในปัจจุบันโดยเฉพาะในเชิงนโยบายของกระทรวงได้ให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ส่วนพื้นที่มองว่ายังไม่ได้มีการเตรียมรองรับการทำงานของหมอเวชศาสตรครองครัวในพื้นที่เท่าที่ควร อาจต้องมีการสนับสนุนจากผู้บริหารและจัดระบบงานรองรับการทำงานของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ชัดเจนขึ้นทั้งในทางนโยบายและโครงสร้างงานที่รองรับที่ชัดเจน จะเป็นการส่งเสริมให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทำงานได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป