ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน เตรียมเข้าพบ ปลัด สธ.คนใหม่ 12 ต.ค.นี้ หารือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือน ทั้งหลังเข้าแท่งบัญชี และเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการสังกัดอื่น พร้อมทวงถามความคืบหน้าค่าตอบแทนวิชาชีพสาธารณสุขฉบับ 8 และ 9 ที่ยังล่าช้า ระบุมี สสจ.ดำเนินการไปแล้วเพียง 10 กว่าแห่งเท่านั้น ทั้งยังมีปัญหาเหลื่อมล้ำ แนะนำความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาปรับค่าตอบแทน ปรับที่สูงเกินไปลงมาบ้าง นอกจากไม่เป็นภาระการคลัง แล้วสร้างความเป็นธรรมให้วิชาชีพอื่นๆ ด้วย

นายประเมธ ช่วยศิริ ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แห่งประเทศไทย กล่าวถึง แนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของเพดานเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ที่ทำให้ข้าราชการซึ่งเคยดำรงตำแหน่งระดับเดียวกันในระดับ 6-7 หลังเข้าแท่งบัญชีเงินเดือนใหม่ เกิดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือน คือผู้ที่เข้าแท่งทั่วไป ระดับอาวุโส มีเพดานเงินเดือนที่สูงกว่าผู้ที่เข้าแท่งวิชาการ ระดับชำนาญการ ที่ประมาณ 12,000 บาท ในขณะที่ข้าราชการ ก.พ. ที่อยู่ในระดับเดียวกัน ก็มีอัตราเพดานเงินเดือนที่ต่ำกว่าข้าราชการครู ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจที่เทียบระดับชั้นยศเดียวกัน

นายประเมธ กล่าวว่า ในส่วนของ ผอ.รพ.สต. นั้นเมื่อปรับเข้าแท่งในปี 2551 ได้แบ่งตำแหน่งออกออกเป็น 2 สายงาน  3 ตำแหน่ง คือ

1. สายเจ้าพนักงานสาธารณสุข แยกเป็น 2 ตำแหน่ง คือ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนชำนาญงาน ซึ่งมีเพดานเงินเดือนขั้นสูง 38,750 บาท มี ผอ.รพ.สต. 1,080 แห่ง จากรพ.สต.ทั่วประเทศกว่า 9,773 แห่ง เข้าสู่ตำแหน่งนี้ และอีกตำแหน่งคือ เจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส ที่มีเพดานเงินเดือนขั้นสูง 54,820 บาท 1,998 แห่ง

2. สายนักวิชาการ มี 1 ตำแหน่ง คือ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ มีเพดานเงินเดือนขั้นสูง 43,600 บาท 6,695 แห่ง ซึ่งแต่ละสายงานที่ระดับต่ำกว่าไม่สามารถข้ามไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าได้ ทำให้เกิดปัญหาเงินเดือนตัน

“เกิดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนในทั้ง 3 ตำแหน่งค่อนข้างมาก ทั้งที่ ผอ.รพ.สต.ก็ทำงานในหน้าที่เหมือนกัน ต้องบริหารคนในบังคับบัญชา บริหารงาน แผนงาน/โครงการ งบประมาณ ตลอดจนดูแลประชากรในพื้นที่ ตั้งแต่เกิดจนตาย มีดัชนีชี้วัด (KPI) ที่ต้องรับผิดชอบของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขมากมาย งานนโยบายทุกงานในพื้นที่ต้องลง รพ.สต. แต่ในส่วนของความก้าวหน้าในอาชีพ กลับไม่มีเลย ไม่ว่าจะเรียนจบ ป.ตรี ป.เอก ก็ข้ามแท่งเงินเดือนและตำแหน่งไม่ได้ เกิดปัญหาเงินเดือนตันเพราะหลังจากปี 2551 ทาง ก.พ.ไม่เปิดให้ข้ามแท่งได้เลย” นายประเมธกล่าว

นายประเมธ กล่าวว่า การดำเนินงานเบื้องต้นนั้น ทางชมรมจะพยายามผลักดันให้ ผอ.รพ.สต.ที่อยู่ในตำแหน่ง เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน จำนวน 1,080 คน ที่ยังไม่สามารถขยับไปสู่ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชนอาวุโสได้ ให้สามารถขยับไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ หากมีคุณวุฒิเพียงพอ เพราะ ผอ.รพ.สต.กลุ่มนี้ แม้จะไม่ได้เรียบจบหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ในช่วงที่มารับราชการ แต่ตอนนี้เกือบทุกคนได้ไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี, บางคนจบปริญญาโท ปริญญาเอก ด้วยซ้ำ

“จากการหารือกับชมรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขแห่งประเทศไทย, ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส., ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส (ชสอ.) มีแนวทางว่าจะขอเข้าพบและหารือกับ นพ.โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อหาทางช่วยเหลือ ผอ.รพ.สต. ในเบื้องต้นได้กำหนดวันไว้ว่าจะไปในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนตุลาคมนี้” นายประเมธกล่าว

นายประเมธ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นประเด็นหลักๆ ที่จะหารืออีกเรื่องคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ และการจ่ายค่าตอบแทนตามประกาศเรื่องค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ฉบับ 8 และ ฉบับ 9 ที่ยังมีความล่าช้า และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนใหญ่ยังไม่ดำเนินการ มี สสจ.ที่ดำเนินการไปแล้วเพียง 10 กว่าแห่งเท่านั้น

ในประเด็นค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขนั้น แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ บุคลากรสาธารณสุขขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาปรับค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข เพื่อลดความเหลือมล้ำระหว่างวิชาชีพโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวยังคงใช้งบประมาณเท่าเดิม ไม่เป็นภาระทางการเงินการคลังรัฐบาลแต่อย่างใด โดยอาจมีการปรับค่าตอบแทนที่สูงเกินไปลงมาบ้าง เพื่อที่ค่าตอบแทนระดับล่างๆ ซึ่งประกอบด้วยหลายๆ วิชาชีพจะได้ปรับขึ้นไปบ้าง แม้จะไม่มาก แต่เพื่อความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรอีกด้วย

แหล่งข่าวรายนี้ กล่าวต่อว่า ทุกหน่วยงานที่ให้ข้อเสนอในเรื่องค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ฉบับ 8 และ ฉบับ 9  ตั้งแต่กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ  สำนักงบประมาณ  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)  และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ค่าตอบแทนดังกล่าว ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ เห็นควรสรุปผลและหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป 

"หากกระทรวงยังเอื้อต่อบางวิชาชีพ และละเลยต่อหลายๆ วิชาชีพ อาจทำให้เกิดความแตกแยกในกระทรววงสาธารณสุขในอนาคตได้” แหล่งข่าว กล่าวและว่า นอกจากนี้การเบิกค่าตอบแทนของบุคลากรในสายงานที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับ 2 (สายเจ้าพนักงาน) ที่จบปริญญาตรีแล้ว ในหลายจังหวัดก็ยังไม่เบิกค่าตอบแทนในอัตราปริญญาตรีให้ เนื่องจากทางผู้บังคับบัญชาไม่เข้าใจในประเด็นดังกล่าว ทำให้บุคลากรสายงานเจ้าพนักงานดังกล่าว เสียขวัญกำลังใจเป็นอย่างมาก จึงอยากให้กระทรวงทำหนังสือเวียนที่ชัดเจนในประเด็นนี้ส่งให้แต่ละจังหวัดต่อไปด้วย