ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : เป็นหนึ่งเดียวในจำนวนข้าราชการระดับ 11 ที่ถูกคำสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยุค คสช.แล้วได้ย้อนกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมกระทั่งเกษียณอายุ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เปิดใจกับ "โพสต์ทูเดย์" ก่อนพ้นตำแหน่งปลัดกระทรวง ซึ่งตัวเขาบอกว่าภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตสำหรับการเป็น "ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข" ตลอดการทำหน้าที่มาร่วม 30 ปี

ช่วง 3 ปีในตำแหน่ง หมอณรงค์ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย หลายคนเรียกขานยุคของเขาว่า เป็นช่วงที่ข้าราชการ "เข้มแข็ง" ที่สุด ขณะที่บางฝ่ายก็มองว่าเป็นยุคที่มี "ความขัดแย้ง" ภายในกระทรวงมากที่สุดเช่นกัน

จะให้น้ำหนักไปทางใดก็แล้วแต่ ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือ การออกจากกระทรวงไปกว่า 5 เดือน แล้วได้โอกาสมาเก็บของกลับบ้านในช่วงเวลาสั้นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงอย่างมีนัยสำคัญ...นั่นคือได้รัฐมนตรีว่าการคนใหม่มาทำหน้าที่

ครั้งหนึ่ง คุณหมอณรงค์ เคยบอกไว้ว่า คงมีข้าราชการเพียงไม่กี่คนที่ลุกขึ้นยืน "ไฮด์ปาร์ก" ในหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ไม่ว่าจะเป็นวันที่เขาประกาศ "พลิกขั้ว" ไม่สังฆกรรมกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันที่เขาโดนย้ายออกจากกระทรวงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และในวันก่อนที่ตัวเขาได้รับคำสั่งย้ายกลับไปทำงานในฐานะปลัดกระทรวง

"ผมคิดว่าเราเป็นข้าราชการ เรามีระบบราชการ แล้วผมก็พูดตั้งแต่วันแรกว่า เราไม่ใช่ข้าราชการของนักการเมือง ผมเชื่อว่าข้าราชการเรามีจุดยืน ส่วนนักการเมืองก็เป็นเรื่องนโยบาย อย่างของท่านรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็ชัด คือ ถ้ากล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต้องทำ

"สิ่งที่พูดกันมากอีกอย่าง คือ พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ล่าสุดก็คือ 'คนไทยต้องมีหน้าที่ทำงานตามหน้าที่' ผมคิดว่า นี่คือหน้าที่ของเรา คือการเป็นข้าราชการก็ต้องทำงานข้าราชการ ต้องเป็นพลเมืองดี คือ มีอะไรช่วยเหลือกันเพื่อประเทศชาติต้องทำ

"ไม่ใช่บอกว่าจะเป็นข้าราชการอย่างเดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องอื่น แต่ไม่ใช่การออกมาเป็นสีทางการเมือง ผมคิดว่าข้าราชการเป็นเสาหลักในการบริหารบ้านเมือง เพื่อให้ประเทศเคลื่อนต่อไปได้ ถ้าจะปฏิรูป ข้าราชการก็ต้องเป็นเสาที่ช่วยปฏิรูปด้วย" นพ.ณรงค์ แสดงจุดยืนชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเขาจึงริเริ่มนโยบายกอบกู้ศักดิ์ศรีข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วยการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล ผ่าน "โรงพยาบาลคุณธรรม" ที่เน้นกระบวนการพัฒนาคนให้มีจริยธรรมในการทำงาน

"เรื่องระบบธรรมาภิบาล ผมอยากให้ไปดูการทำงาน ตอนนี้พอนโยบายเรากระจายลงไปที่เขตให้มีการตรวจสอบ ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า เราไม่มีออร์เดอร์จัดซื้อจัดจ้างที่มันแปลกๆ อีกแล้ว ส่วนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ผมก็เชื่อว่ามันเข้าระบบมากขึ้น มันคงมีเรื่องร้องเรียนบ้างบางส่วน

"แต่อย่างน้อยในกระบวนการ เราออกระเบียบใหม่ ให้มีการจัดซื้อร่วม ให้ทุกวิชาชีพออกมาช่วยกันดู อันนี้คือกระบวนการที่มีการปรับ เรื่องการรับ การสนับสนุน เราเชื่อว่าเรากำลังเดินมาถูกทาง" นพ.ณรงค์ ระบุ

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง "ประชาคมสาธารณสุข" โดยดึงทุกวิชาชีพ ทุกชมรม ใน สธ.กว่า 50 ชมรม มารวมตัวกัน เพื่อระดมสมองแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ หาทางออกให้กันและกัน รวมถึงเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข

ขณะเดียวกัน ประชาคมสาธารณสุขยังมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องการแทรกแซงจากการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เมื่อใดที่เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น คุณหมอณรงค์ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งก็เข้าไปมีส่วนร่วม

"การแสดงจุดยืนทางการเมือง เป็นความเห็นร่วมของคนในระบบ เพราะตอนนั้นมีการตั้งคำถามไปยังหัวหน้าส่วนราชการว่าคิดอะไร ผมก็คิดว่าต้องถามคนสาธารณสุข จึงเกิดประชาคมขึ้นมา ซึ่งจุดยืนก็ชัดเจนว่า เราไม่เอารัฐบาลโกงประชาชน นี่คือจุดแข็งของคนสาธารณสุข แล้วมันทำให้เห็นชัดว่า ข้าราชการเราพร้อมปกป้องประเทศในอะไรที่ดีงาม และชัดเจนว่า เราไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใด" นพ.ณรงค์ กล่าว

นั่นเป็นเหตุผลที่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้ใส่ชุดข้าราชการ และเชื่อว่าก้าวมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง ระหว่างการทำหน้าที่จึงไม่เคยพะวงเรื่องเก้าอี้ และที่ผ่านมาก็ทำงานไม่ว่าจะอยู่บนเก้าอี้ใด

"ผมไม่พะวงเก้าอี้แล้ว เพราะผมหมดแล้ว (หัวเราะ) เตี่ยผมก็บอกว่า ถ้าเขาให้ทำก็ทำ ถ้าไม่ให้ทำก็ไม่ทำ นี่คือคติประจำ ใจ" คุณหมอณรงค์ ระบุ

หลังเกษียณราชการไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา มีข่าวคราวว่าเขาจะได้รับเลือกไปทำหน้าที่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อไปเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันการปฏิรูประบบสาธารณสุข แต่เจ้าตัวบอกว่า ไม่ทราบว่ามีการเสนอชื่อ และยังไม่ทราบด้วยว่าหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนฯ ต้องทำอะไรบ้าง

คำตอบที่แน่ชัด ก็คือเขาตั้งใจ "ทบทวนตัวเอง" ..."ผมอยู่มา 60 ปี ก็ยังไม่คิดถึงปีที่ 61 ตอนนี้มีงานอย่างเดียวคืองานเลี้ยงหลาน เรื่องอื่นผมยังไม่ได้คิดจริงๆ

"ปราชญ์อินเดียบอก คนเรามีสี่ช่วงอายุ มีขั้นพรหมจารี คือศึกษาเล่าเรียน คฤหัสถ์ คือครองเรือนหลังจากศึกษาเล่าเรียนจบ วานปรัสถ์ คือการออกไปปฏิบัติธรรมหลังจากทำงานได้นานพอสมควร ถ้าเป็นคนอินเดียก็จะเข้าไปอยู่ในป่า ผมคิดว่าผมอยู่ในขั้นนี้

"หลังจากนี้ผมคงนั่งทบทวน ที่ไปนั่งสำนักนายกฯ ผมก็นั่งทบทวนเยอะ หลังจากนี้เป็นช่วงที่เราต้องทบทวนชีวิต ผมคิดว่าคนไทยต้องช่วยกันทบทวนมากๆ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทบทวนว่าเราทำอะไร แล้วกลายเป็นว่าภาระอะไรของประเทศ เราก็ไปโยนให้ท่านนายกฯ คนเดียว ท่านคงแบกรับไม่ไหว" อดีตปลัด สธ. ให้ข้อคิด และให้ข้อเสนอแนะด้วยว่า การปฏิรูปที่ดี คือการมีส่วนร่วมจากทุกคน ให้ช่วยกันส่งเสียงดังๆ ว่าต้องการปฏิรูปอะไร เช่น ถ้าจะปฏิรูประบบสุขภาพ ทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสียงดังๆ หรือถ้าจะปฏิรูปเศรษฐกิจ คนไทยก็ต้องช่วยกันคิดว่าจะต้องปฏิรูปอย่างไร หากจะให้รัฐบาลรับภาระเพียงฝ่ายเดียวก็คงเคลื่อนได้ลำบาก

"ผมคิดว่าภาวะนี้คือการตั้งต้นประเทศใหม่ ถ้าไม่ช่วย แล้วมัวแต่วิจารณ์ คงไปไม่รอด" คุณหมอณรงค์ ให้ความเห็น

สำหรับงานในกระทรวงหมอ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เรื่องเขตสุขภาพคงไม่ต้องเริ่มใหม่ และเชื่อว่าคนในระบบเองก็มีมุมมองกับเรื่องเขตสุขภาพที่เข้มข้นพอสมควร รวมถึงเห็นปัญหาตรงกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็คงเดินต่อได้ไม่ติดขัดอะไร

"ที่ผมเชื่อมากที่สุดคือเชื่อในประชาคม ในความเข้มแข็งวิชาชีพต่างๆ ช่วยกัน เมื่อเห็นปัญหาแล้ว ทางออกมันคงมี แต่ผมอยู่วงนอกแล้ว เขาก็บอกว่าไม่ควรหันกลับมาดูไม่ใช่เหรอ (ยิ้ม)"

แน่นอนว่า อาจมีความกังวลจากหลายๆ ฝ่ายว่า ความขัดแย้งในระบบสุขภาพจะจบลงอย่างไร เขาบอกว่าเป็นความ "หลากหลาย" ในความเห็นมากกว่า ณ วันนี้ชัดเจนแล้วว่า คนทุกระดับเห็นตรงกันว่าการจัดบริการร่วม เพื่อให้เข้าถึงประชาชนโดยแท้จริง เพราะฉะนั้นเมื่อมีจุดเริ่มนี้แล้ว ก็ไม่เห็นว่าความขัดแย้งจะทำลายความเป็นพี่เป็นน้องในกระทรวงสาธารณสุขได้

"มันไม่ได้แตกแยก เพราะไม่งั้นคงไม่มีการจัดสิ่งดีๆ อย่างที่เราร่วมกันทำมา เราอาจจะเห็นต่างกันเรื่องงบประมาณ แต่เรื่องงานเราเห็นตรงกันค่อนข้างมาก อะไรที่แยกเป็นส่วน เรากำลังมาช่วยกันจัด ผมเชื่อว่ากระทรวงนี้ เรามีสิ่งดีๆ เยอะ คนดีๆ เยอะ คนส่วนมากเห็นร่วมกันว่าจะทำยังไง และเอาระบบบริการนำหน้า ทั้งหมดนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ ผมยืนยัน" นพ.ณรงค์ กล่า

หนึ่งในประเด็นที่ นพ.ณรงค์ ต่อสู้มาตลอด ก็คือการจัดระบบการเงินการคลังของระบบสุขภาพ ซึ่งแต่ละปีมีมากกว่า 2 แสนล้านบาทเสียใหม่ ด้วยการนำเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีละ 1.2 แสนล้านบาท จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาไว้ที่เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง รวมถึงให้เปลี่ยนการบริหารจัดการ ให้ยุบเลิกกองทุนย่อยต่างๆ ซึ่งทำให้เงินลงไปยังพื้นที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

"ถ้าเราเริ่มด้วยการบอกว่าเงินมีปัญหา แล้วเอาเงินนำ เช่น เราอยากเห็นบริการแบบนี้ แล้วเอาเงินไปตั้งไว้ ผ่าต้อกระจกจะได้เงินเท่านี้ นี่คือการเอาเงินนำ แต่ที่เราคุยกันคือเราจะเอาบริการนำ เอาปัญหาประชาชนตั้งว่าเขตไหนมีปัญหาเรื่องต้อกระจกบ้าง แล้วเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับการบริการผ่าต้อกระจกอย่างครบถ้วน

"ผมเสนอว่า ถ้านโยบายรัฐบาลเอาเขตนำ ขณะนี้ก็เดินหน้าอย่างนั้น เพราะฉะนั้นระบบบริหารจัดการเงิน ควรจะจัดการกันในเขต เวลาผมพูดถึงการกระจายอำนาจ อำนาจบริหารจัดการทุกอย่างขณะนี้กำลังแบ่งไปที่เขต อำนาจการเงินก็ควรต้องแบ่งไปที่เขต ซึ่งก็ต้องเจรจากันที่ประชาชน ไม่ใช่ไว้ที่ส่วนกลาง" เขายืนยันจุดยืนเดิม

"ตอนนี้การเงินยังอยู่ที่ส่วนกลางหมด จึงต้องตั้งคำถามกลับว่า ในขณะที่ 'ผู้ให้บริการ' อย่าง สธ.กระจายอำนาจไปในระดับเขตแล้ว การบริการก็ถูกกระจายอำนาจมากขึ้น เพราะเหตุใดผู้ซื้อบริการอย่าง สปสช. จะยังคงจัดระบบการเงินการคลังไว้ที่ส่วนกลาง แทนที่จะไว้ที่เขต

"ตอนนี้เรามีเขตสุขภาพ 3 ระดับ 1.เขตของผู้ให้บริการ (สธ.) 2.เขตของผู้ซื้อบริการ (สปสช.) และ 3.เขตสุขภาพประชาชน ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามนโยบายรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ก็ต้องรับรู้ว่าเงินที่เข้าเขตจะมีกี่บาท เขาจะได้จัดบริการภายในเขต แต่ตอนนี้ไม่รู้จะมีเงินเข้ายังไง แล้วเข้าไปแล้วก็ไปหักเงินเขาอีก แล้วมันจะกระจายอำนาจกันอย่างไร ก็ต้องถามเหมือนกันว่ากล้าไหม ถ้าจะเอาระบบการเงินการคลังไปไว้ที่เขตทั้งหมด"

นพ.ณรงค์ ย้ำด้วยว่า ขณะนี้หัวใจที่เดินมาคือเขตสุขภาพ ที่ประชาชนได้ประโยชน์แล้ว โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับระบบจัดการการเงิน แต่เกิดจากการตั้งต้นว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการครบถ้วนมากกว่า

"อย่างที่เราเห็นคือที่ภาคใต้ ที่สุไหง โก-ลก เขามานั่งคุยว่าจะทำยังไงให้ประชาชนที่เป็นต้อกระจกเข้าถึงบริการ ไม่ใช่เอาเงินมาตั้ง ใครผ่าก็ได้เงินไป แล้วมีคนมาตามผ่า นี่คือวิธีคิดที่สวนทาง แล้ววิธีนี้พิสูจน์แล้วว่าถ้าเราช่วยกันจัดบริการก่อน แล้วเอาเงินมาเติม ประชาชนจะได้อย่างยั่งยืน สถานีอนามัยไปหากลุ่มเป้าหมาย โรงพยาบาลอำเภอก็เตรียมห้อง แพทย์เฉพาะทางก็ผ่า ไม่ใช่คุยกันว่าผ่าตาได้เงินเท่านี้" นพ.ณรงค์ ระบุ

ขณะที่การจัดการ 3 กองทุนสุขภาพ ระหว่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ให้เท่าเทียมกันนั้น นพ.ณรงค์ ไม่ต้องการแสดงความเห็น เพียงแต่มองว่า ในฐานะผู้ให้บริการก็มีหน้าที่ให้บริการ ไม่ว่าจะอยู่ในกองทุนไหน แต่ขอให้กลับไปดูที่ปรัชญาการเกิดของแต่ละกองทุนสุขภาพว่าเป็นอย่างไร และโครงสร้างการจัดบริการเป็นอย่างไร แล้วค่อยหาทางออกมากกว่าจะมุ่งทำให้เท่าเทียมกันอย่างเดียว

"ผมเชื่อว่าในบรรดานโยบายที่เราร่วมกันทำมาทั้งหมดตลอด 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังคน เรื่องจัดระบบธรรมาภิบาล และที่สำคัญที่สุดคือการจัดระบบเขตสุขภาพ เราทำทั้งหมดแล้ว แล้วเราก็กำลังเดินหน้าไป ขณะเดียวกันผมเชื่อว่าเราเป็นพี่เป็นน้องกันมากขึ้น ข้างบนเห็นอกเห็นใจคนข้างล่าง ถ้าตัดเรื่องคนเล่นการเมืองออกไป ผมเชื่อว่าระบบบริการเราเป็นพี่น้องกันมากขึ้นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา" คุณหมอณรงค์ สรุปภาพรวมก่อนอำลาชีวิตราชการ

ปัญหาประชาชนต้องมาก่อน นโยบายรัฐสำคัญลำดับรอง

ในช่วง 3 ปี ระหว่างทำหน้าที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ต้องทำงานภายใต้นโยบายฝ่ายการเมืองที่ล้วนมีคำนำหน้าว่า "นายแพทย์" เช่นเดียวกับเขา ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีแนวทางการทำงานแตกต่างกัน

แต่สำหรับตัวเขา หลักการไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่รับราชการอยู่ที่พิจิตร จนก้าวเป็นผู้บริหารสูงสุด หลักการคือต้องอยู่กับปัญหาประชาชน และต้องรับรู้ปัญหาประชาชนให้มากที่สุด

ขอบคุณภาพจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์

"ในอำเภอ จังหวัดที่ผมอยู่ ผมต้องรู้จักพื้นที่ที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ถ้าผมเป็นปลัด ผมก็ต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ เข้าหาพื้นที่ให้มากที่สุด ส่วนนโยบายที่ลงมา ผมก็จะพิจารณาว่ามันสอดคล้องกับปัญหาหรือไม่ นี่คือประสบการณ์ของผม" คุณหมอ เล่า

"การที่จะเข้าใจก็ต้องมีข้อมูลทางระบาดวิทยาว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นผมจะไม่ทำงานแบบมองแล้วก็รณรงค์ ผมคิดว่ามันต้องแก้ปัญหารายบุคคล คนเราจะแก้ปัญหาได้ต้องเข้าใจปัญหาและสาเหตุ อย่างเด็กขาดสารอาหารสองคน ปัญหาคือขาดสารอาหารเหมือนกัน แต่สาเหตุที่ขาดสารอาหารอาจจะต่างกัน เพราะฉะนั้นหัวใจของผมคือการลงพื้นที่" นพ.ณรงค์ ระบุ

อดีตปลัดกระทรวงหมอยึดปรัชญาการทำงานที่สำคัญ คือ 1.ต้องมองปัญหาประชาชน 2.ต้องมีข้อมูล 3.วิธีแก้ปัญหาจะมากขึ้นตามประสบการณ์ หรือหากบางอย่างยากก็อาจต้องพึ่งความรู้ทางวิชาการ หรือองค์ความรู้อื่นๆ เข้ามาช่วย

หลักการอีกอย่างที่คุณหมอใช้ก็คือ การให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ระดับปลายสุด เช่น หากเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ก็ต้องให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ต้องไปคุย-เยี่ยมทุกคนให้ได้อย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งจะใช้ช่วงนอกเวลางาน เพื่อเปิดอกคุยกันทุกเรื่อง และสิ่งที่ยึดถือมากที่สุดก็คือ "ความสุขของเจ้าหน้าที่"

"เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนโยบาย แต่ปัญหาประชาชนไม่เคยเปลี่ยน เพียงแต่เราต้องจัดให้มันเข้าที่ อย่างตอนนี้เราคุยกันเรื่องพัฒนาการเด็กล่าช้า เราเพิ่งจะพูดกัน ถามว่าเป็นนโยบายรัฐไหม ผมไม่ทราบ แต่นี่คือปัญหาที่ผมเจอและต้องทำ เพราะฉะนั้นผมคิดว่านโยบายเราคงต้องเอามาดูว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ปัญหาในพื้นที่ที่มีอยู่ ผมคิดว่าต้องให้ความสำคัญมากกว่า นโยบายรัฐเป็นความสำคัญระดับสอง รองจากปัญหา" นพ.ณรงค์ ระบุขณะที่ปัญหาในระบบสาธารณสุข ที่หลายคนคิดว่าทำอย่างไรจึงแก้ไม่ตก สักที เช่น โรงพยาบาลขนาดใหญ่แออัด การผลิตแพทย์ไม่เพียงพอ ในมุมมอง นพ.ณรงค์ เขาเห็นปัญหานี้มานาน และด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดระบบ "เขตบริการสุขภาพ" ขึ้นมาบริหารจัดการร่วม แก้ปัญหาบางพื้นที่ที่คนไข้กระจุก ให้กระจายทรัพยากรไปยังจุดอื่น

"เราไม่สามารถย้ายคนไป-มาได้ เราก็ต้องเอางานมาช่วยกัน ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือหัวใจของเรื่องการจัดบริการร่วม เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าขาดไม่ขาด มันคงขาด บางที่เกิน บางที่ว่าง บางที่แน่น ทีนี้จะทำยังไงให้มันไปด้วยกันได้"

นพ.ณรงค์ ฉายภาพ "ในภาพรวม ก่อนหน้านี้ผมมองเห็นว่าโรงพยาบาลใหญ่-เล็ก และสถานีอนามัยแยกกันทำงาน แต่ตอนผมไปเยี่ยมก็จะเห็นการทำงานร่วมกัน เห็นทุกคนร่วมกันทำงานอย่างมีความสุข โดยเอางานเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาเงินเป็นตัวตั้งว่าต้องทำเท่านี้จึงจะได้เงิน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งดีงาม แล้วหลังจากนี้เราจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพของแต่ละหน่วยให้ทำงานได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน" อดีตปลัด สธ. ระบุ

นพ.ณรงค์ ยังยกตัวอย่างการจัดการของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่มีการกระจุกตัวชัดเจน ซึ่งภายหลังจากการจัดนโยบายเขตสุขภาพก็เริ่มเห็นผล ทำให้โรงพยาบาลหาดใหญ่แออัดน้อยลง ด้วยการนำผู้ป่วยเส้นเลือดในสมอง เมื่อพ้นวิกฤตไปให้การรักษาต่อ และทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลบางกล่ำ ซึ่งอยู่ไปไม่ไกล ผลลัพธ์ที่ได้คือ ลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลใหญ่ และผู้ป่วยเองก็ได้การบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น

"หรือที่โรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่ เราให้แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูคุยกับชุมชนว่า ถ้าผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ถ้าเขาหายแล้ว จะมีอาชีพอะไรให้เขาทำบ้าง โดยให้แพทย์โรงพยาบาลประสาทเป็นพี่เลี้ยง นี่คือการมองอย่างครบวงจร นี่คือสิ่งที่พวกเราทำ และคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยน"

หมอณรงค์ อธิบายอีกว่า การจัดระบบเขตสุขภาพในช่วง 2-3 ปีมานี้ ได้ทำให้คนในพื้นที่มองภาพการ "กระจุก-กระจาย" และมองการจัดการในระบบเขตมากขึ้น มากกว่าที่จะรับนโยบายจากข้างบนอย่างเดียว แต่ได้มองไปถึงการจัดพื้นที่ของตัวเองอีกด้วย

"ตอนนี้พื้นที่ที่ว่ากระจุกกระจายอย่างไร เขาก็ไปจัดการเอง เขตก็มองไปทางเขต กระทรวงก็มองในรูปกระทรวง ส่วนประชาชน จะทำอย่างไร ก็ต้องคุยกันเยอะว่าต้องป้องกันส่งเสริมสุขภาพอย่างไร นี่ก็เป็นนโยบายที่จะส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น เพราะเราก็สนับสนุนให้สถานีอนามัยทำงานนี้ มากกว่าหมดเวลาไปกับการทำงานหน้าจอ จนไม่มีเวลาไปเยี่ยมบ้านเหมือนที่ผ่านมา

"ที่ผมคิดและที่เราทำ มันเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เนื่องจาก 10 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบการเงินการคลังทำให้ทุกคนมองแต่ตัวเอง ไม่มองระบบ ผมคิดว่าแพทย์โรงพยาบาลใหญ่คงเจออะไรเยอะมาก คนไข้ไส้ติ่งที่โรงพยาบาลขอนแก่น ผ่าวันหนึ่งเกือบ 20 ราย ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลใหญ่หมดไปกับการผ่าไส้ติ่ง สิ่งที่เขามอง และเราเห็นตรงกันคือ เคสอย่างนี้ควรไปไว้ที่ โรงพยาบาลรอง เขาก็ต้องออกมาคุยกับน้องๆ โรงพยาบาลอำเภอ ทำให้มันง่ายขึ้น" นพ.ณรงค์ ระบุ

นอกจากนี้ หมอณรงค์ ยังยืนยันเรื่องกลไกการเงินว่า หากโรงพยาบาลผ่าเกินเกณฑ์ จะต้องมีเงินให้มากขึ้น ไม่ใช่ผ่าตัดไส้ติ่ง โรงพยาบาลเล็กได้เงินน้อยกว่าโรงพยาบาลใหญ่ หากภาระงานเพิ่มขึ้นก็ต้องเอาเงินมาเติม ไม่ใช่หักเงินไปกับอะไรไม่รู้อย่างที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การทำงานในระบบราชการย่อมมีข้อจำกัด ติดขัดเรื่องอำนาจ บุคลากร และงบประมาณเสมอ คุณหมอมองในทางตรงกันข้ามว่า ไม่ได้เป็นข้อจำกัด เพราะหากตั้งต้นด้วยเรื่องเหล่านี้คงไม่สามารถเดินหน้างานต่อได้

"ถ้าตั้งต้นด้วยทรัพยากรไม่พอ ก็จะไม่เห็นทางออกอื่น นอกจากเลิกทำ ผมคิดว่าต้องดูเรื่องงาน แล้วดูว่าจะทำงานร่วมกันยังไง ผมจะไม่เริ่มด้วย เรื่องคนขาด ขาดเงิน แต่ผมจะเริ่มด้วยปัญหาคืออะไร แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง ทุกอย่างมันเปลี่ยนได้ แต่อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด งานที่ตำบลก็ให้ตำบลคิด ไม่ใช่คิดมาจากส่วนกลาง แล้วทำงาน มนก็พิสูจน์กันมาตลอด...นี่คือประสบการณ์ผม" อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทิ้งท้าย .

ผู้สัมภาษณ์ : พิเชษฐ์ ชูรักษ์, สุภชาติ เล็บนาค นสพ.โพสต์ทูเดย์

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 ตุลาคม 2558