ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีการเสวนา “แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย Severe sepsis และ septic shock อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผย ฝีมือแพทย์ไทยพัฒนา “แนวปฏิบัติช่วยเพิ่มอัตรารอดของผู้ป่วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง” เป็นที่ยอมรับ แถมตีพิมพ์วารสารการแพทย์ต่างประเทศ ขยายสู่การปฏิบัติ รพ.ทั่วประเทศ ด้าน  “สรพ.” จัดทำแผนความปลอดภัยใน รพ.ขับเคลื่อน 3 ปี พร้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลหนุนดูแลผู้ป่วยวิกฤต ขณะที่ สภาการพยาบาล จัดทำ “CNPG 11 กลุ่ม” เพิ่มความปลอดภัยผู้ป่วยและพยาบาล คาดเริ่มใช้ปี 59 นี้

เวทีการเสวนา “แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย Severe sepsis (ภาวะโลหิตเป็นพิษที่มีภาวะอวัยวะทำงานบกพร่อง เช่น ตับ ปอด หัวใจ ประสาท) และ septic shock (ภาวะโลหิตเป็นพิษที่มีความดันโลหิตต่ำแม้ว่าจะได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอ) อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ในการประชุม World Sepsis Day (WSD) Thailand 2015 “Holistic View of Sepsis Care : Learning form Theory and Practice” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา โดย 13 องค์กรด้านสุขภาพ อาทิ สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) / สรพ. กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น ณ ศูนย์ประชุม อิมแพค เมืองทองธานี

รศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล ผู้แทนสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง เป็นประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ ซึ่งการจัดการอยู่ที่เจอเร็ว จัดการให้รอดชีวิต และต้องทำให้ผู้ป่วยไม่กลับมาเป็นซ้ำ โดยการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้มีแนวปฏิบัติตั้งแต่ 10-15 ปีก่อน และลงตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ซึ่งต้องทำให้ผู้ป่วยหายช๊อกภายใน 6 ชม. และแนวปฏิบัตินี้ได้ทำมาใช้ทันทีกับผู้ป่วยในประเทศไทย กระจายไปยังโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ปัญหาแนวปฏิบัติข้างต้นนี้ คือขั้นตอนปฏิบัติมีมาก ไม่รู้ว่าอะไรจำเป็นและไม่จำเป็น ต่อมาจึงมีการพัฒนาแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดย นพ.รัฐภูมิ ชามพูนท แพทย์หน่วยระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต รพ.พุทธชินราช ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตมากกว่า ได้นำเสนอในปี 2553 และในปี 2557 ได้ถูกตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine เช่นกัน โดยมีการขยายปฏิบัติใน รพ.ต่างๆ ทั้งนี้แนวปฏิบัติที่ นพ.รัฐภูมิ จัดทำขึ้นนี้เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการและผู้ปฏิบัติ โดยผู้ปฏิบัติเป็นผู้สะท้อนและนำไปสู่การปรับปรุงแนวทางปฏิบัติ เกิดการดูแลผู้ป่วยที่เข้มแข็งในที่สุด    

นพ.ทรนง พิลาลัย หัวหน้าฝ่ายจัดการความรู้ สำนักวิชาการและบริหารการเปลี่ยนแปลง สรพ. กล่าวว่า บทบาทของ สรพ.คือเราต้องการเห็นระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นระบบที่น่าไว้วางใจ โดยปัญหาติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง เป็นเรื่องที่ สรพ.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นหนึ่งในประเด็นที่มุ่งให้ รพ.เกิดการพัฒนาด้วยวิธีขับเคลื่อนผ่านชุมชนนักปฏิบัติและสมาคมวิชาชีพ รวมถึงราชวิทยาลัย เพื่อป้องกันปัญหาการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง เน้นแนวทางที่เป็นจริง อิงความรู้วิชาการ บริการจัดการผลลัพธ์ ขยับร่วมกันอย่างกัลยาณมิตร พิชิตความปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้เกิดการแปลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ร่วมกัน

“สรพ.มีโครงการที่มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยใน รพ. โดยเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นหนึ่งในเรื่องที่ สรพ.ให้มีการขับเคลื่อน ดำเนินการระยะแรก คือ ปี 2558-2560 มี รพ.148 แห่งเข้าร่วม เบื้องต้นขับเคลื่อนผ่านนักชุมชนปฏิบัติ 11 ชุมชน” นพ.ทรนง กล่าว และว่า ส่วนในปี 2559 จะเน้นความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญในไอซียู และจะมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการดูแลผู้ป่วยวิกฤต ซึ่งจะชวนทุก รพ.เข้าร่วมในการจัดทำข้อมูลเพื่อพัฒนาการดูแลผู้ป่วย นอกจากนี้ยังจะมีการขยายองค์ความรู้เรื่องปัญหาการติดเชื้อในกระแสเลือดและแนวทางในการป้องกันเพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยยิ่งขึ้น

ด้าน นางสาวประชิด ศราธพันธุ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า มุมมองของสภาการพยาบาล ยุทธศาสตร์การทำงานเน้นคุณภาพและความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและพยาบาลผู้ปฏิบัติงาน ปัญหาการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งรวมไปถึงการดูแลคุณภาพการพยาบาลอื่นๆ รพ.จะมีแนวปฏิบัติคลินิกของตนเอง อย่าง รพ.ศิริราช และ รพ.ในสังกัด สธ. แต่ปัญหาคือผู้ปฏิบัติอาจปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติคลินิกนี้ ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยผู้รับบริการ เวลาเดียวกันผู้ให้บริการเองก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน จากการร้องเรียน ด้วยเหตุนี้สภาการพยาบาลจึงให้ความสำคัญ โดย รศ.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาลให้ความสำคัญอย่างมาก และเห็นว่าในอนาคตพยาบาลทุกคนต้องมีแนวปฏิบัติคลินิกที่ต้องทำ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและพยาบาลเอง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาการพยาบาลจึงได้เริ่มทำ “แนวปฏิบัติคลินิกสำหรับพยาบาล” (Clinical Nursing Practice Guide line : CNPG) ขึ้น โดยจัดทำทั้งหมด 11 กลุ่ม อาทิ การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุระยะยาว เป็นต้น โดยใกล้แล้วเสร็จ และจะประกาศใช้ในปี 2559 นี้

“กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง เป็นหนึ่งในความเสี่ยงของการดูแลผู้ป่วยวิกฤต และเรามาดูว่าบทบาทพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ไหน เพื่อลดการติดเชื้อกระแสเลือดให้ได้ และสุดท้ายเพื่อให้แนวปฏิบัติคลินิกใช้ได้จริง ต้องมีการติดตามปรับปรุงให้ได้แนวปฏิบัติที่เหมาะสม เพื่อประกาศเป็นแนวปฏิบัติคลินิกระดับประเทศต่อไป” ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าว