ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

WHO ผนึก สสส.เดินหน้าสร้างสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้ สสส.เป็นผู้นำการวางระบบการเงินการคลังเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เน้นป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขยายกองทุนสุขภาพแบบ สสส.หวังคุมปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ อาหาร สร้างกิจกรรมทางกาย ลดโรคติดต่อเรื้อรัง ที่ทำให้คนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตายปีละกว่า 7.9 ล้านคน​

นพ.ฮานส์ ทรอดสัน (Dr.Hans Troedsson) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมคณะกรรมการภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 68 ที่กรุงดีลี ประเทศติมอร์ เลสเต เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมาว่า องค์การอนามัยโลก และ สสส. เห็นชอบร่วมกันในข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพระดับสากล โดยเล็งเห็นศักยภาพของ สสส. ที่เป็นผู้นำแนวหน้าด้านการสร้างเสริมสุขภาพในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่คุ้มค่าและมีประสิทธิผลที่สุดในการสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกมีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือครั้งนี้ ที่มีกลไกหลักคือการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ของ สสส. และภาคีเครือข่ายของไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ไปสู่นานาชาติ

“สสส.เป็นผู้นำแนวหน้าด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ในระดับนานาชาติด้วย สสส.ได้แสดงให้โลกได้เห็นว่า นวัตกรรมและกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อาทิ การควบคุมการบริโภคสุราและยาสูบ ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศรายได้สูง แต่สามารถทำได้ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเน้นเรื่องการตอบสนองต่ออันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และนโยบายการคลังเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ” ดร.ฮานส์ กล่าว

พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์  (Dr.Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตของประชากรในภูมิภาคที่มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คิดเป็นสัดส่วนถึง 62% ของการเสียชีวิตทั้งหมด มีจำนวนกว่า 7.9 ล้านคนต่อปี และที่น่าเศร้าเป็นอย่างยิ่งคือ โรคเหล่านี้กำลังคุกคามประชากรที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวทั้งๆ ที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยประชากรในภูมิภาคนี้มีพฤติกรรมเสี่ยงมาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และขาดกิจกรรมทางกาย สสส.เป็นผู้นำของภูมิภาคในการจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นแบบอย่างในระดับนานาชาติในด้านกลไกการสร้างเสริมสุขภาพ มีรายได้จากภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) ที่มาจากธุรกิจสินค้าทำลายสุขภาพอย่างบุหรี่และสุรา ซึ่งกลไกการเงินการคลังลักษณะนี้ทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นกลไกที่ยั่งยืน การทำงานต่อจากนี้ สสส.จะช่วยวางรากฐานการพัฒนาศักยภาพการสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ครั้งนี้ สสส.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ คือ 1.ความร่วมมือกับองค์กรอนามัยโลกสำนักงานใหญ่ ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพระดับสากล ในเรื่องการตอบสนองต่ออันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศกำลังพัฒนา ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และศึกษาวิจัยนโยบายการคลังเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ และ 2.ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเข้มแข็งการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังใน 11 ประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชียงตะวันออกเฉียงใต้ โดยดำเนินงานให้บรรลุผลในปี 2558-2560 สสส.จะผลักดันการสร้างกลไกการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประเทศสมาชิก เพิ่มจำนวนองค์กรหรือผู้นำสร้างเสริมสุขภาพ สร้างนวัตกรรมและนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ บุคลากรสร้างเสริมสุขภาพของไทย จะมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพมากขึ้น

“สสส.มีความยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนากลไกที่ยั่งยืนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนแบ่งปันและถ่ายทอดนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการจัดการปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสู่นานาประเทศ หลังการได้ขับเคลื่อนงานด้านนี้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในประเทศไทยมากว่า 14 ปี โดยเชื่อมั่นว่าผลจากความร่วมมือครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของการขับเคลื่อนงานเชิงรุกด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก” ผจก. สสส. กล่าว