ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุมวันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดโลก รุกจัดระบบลดอัตราตายติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง โดย 13 องค์กร อาทิ สมาคมเวชบำบัตวิกฤติ สรพ. สธ. และ สปสช. รวมทั้งสมาคมวิชาชีพแพทย์ พยาบาล พร้อมเปิดข้อมูลหลังร่วมทำเวชปฏิบัติดูแลผู้ป่วยภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรง เผยข้อมูลปี 57 พบอัตราผู้ป่วยอัตรารอดชีวิตร้อยละ 60 ชี้เป็นแนวโน้มที่ดี เพื่อพัฒนาระบบลดอัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยต่อไป     

ที่ศูนย์ประชุม อิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เป็นประธานพิธิเปิดการประชุมวันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดโลก การดูแลการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบองค์รวม การเรียนรูจากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ หรือ World Sepsis Day (WSD) Thailand 2015 “Holistic View of Sepsis Care : Learning form Theory and Practice” เป็นการจัดประชุมต่อเนื่องปีที่ 3 โดยความร่วมมือระหว่าง 13 องค์กรด้านสุขภาพ อาทิ สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์การติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยร่วมกันและเป็นไปตามมาตรฐานเพื่อลดอัตราการตายในผู้ป่วยจากภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรงนี้

นพ.อนุวัฒน์ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เป็นสัญลักษณ์เพื่อเชื่อมต่อสังคมไทยกับสังคมโลกซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรง โดยกำหนดวันที่ 13 กันยายนของทุกปีเป็นวันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดโลก ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ความเป็นมาของการประชุมนี้เกิดจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยวิกฤติต่างเห็นปัญหา เพราะอดีตผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่หมดหวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกแล้ว จึงได้ร่วมกันทำงานเพื่อหาวิธีดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างดีที่สุด ทั้งการป้องกันและรักษา

ก่อนหน้านี้การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรง แต่เดิมเป็นการนำเวชปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยจากต่างประเทศมาใช้กับผู้ป่วยในประเทศ แต่ต่อมาได้มีการปรับและจัดทำเวชปฏิบัติดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในประเทศเอง จนเกิดการเชื่อมต่อระหว่างบุคลากรวิชาชีพและองค์กรวิชาชีพ และขยายไปยังโรงพยาบาลในทุกระดับ ประกอบกับการทำงานร่วมกับ สปสช. ทำให้มีการขยายการนำแนวเวชปฏิบัติไปใช้ และเกิดการต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาล 150 แห่งที่ได่เข้าร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงและร่วมส่งข้อมูลและเฝ้าระวัง

 “จากความร่วมมือการส่งข้อมูลของโรงพยาบาล 150 แห่ง ทำให้ทราบว่าจากแนวเวชปฏิบัติที่ดำเนินการอยู่นี้ ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงอยู่ที่ร้อยละ 60 นับเป็นข้อมูลใหม่ เพราะในอดีตไม่เคยมีการจัดเก็บเป็นภาพรวมระดับประเทศมาก่อน เพียงแต่มีการจัดเก็บเฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งบางแห่งมีอัตราการเสียชีวิตหลังติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 70 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและนำไปสู่การตั้งเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตในแต่ละปีต่อไป”   

ด้าน รศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล ผู้แทนสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงเป็นปัญหาสำคัญระบบสุขภาพประเทศไทยและทั่วโลก จึงเป็นที่มาของวันภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดโลกโดยทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และได้มีการสนับสนุนการจัดองค์ความรู้รวมถึงการเผยแพร่เพื่อให้มีการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างดีที่สุด สำหรับการจัดประชุมภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดโลกในประเทศไทยนี้ ได้เริ่มจัดครั้งแรกในปี 2556 และปีนี้เป็นการจัดประชุมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว และจากความร่วมมือของโรงพยาบาล 150 แห่งที่ได้เข้าร่วมเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรง ในปี 2557 ได้รายงานผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรง 40,673 ราย ในจำนวนนี้รอดชีวิต 24,508 ราย นับเป็นแนวโน้มที่ดี ซึ่งปีต่อไปน่าจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีกว่านี้ จากการปรับเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติงานต่อไป

ขณะที่ นพ.ภูวนนท์ เอี่ยมจันทน์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 2 พิษณุโลก กล่าวว่า จากการนำเสนอข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ผ่านมา ปัญหาการติดเชื้อในกระแสโลหิตสูงเป็นอันดับแรกและต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุและเด็ก จนกระทั่งในปี 2555 จึงได้เริ่มมีการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาระดับเขต และต่อมาในปี 2556 จึงจัดประชุมเพื่อพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาระดับประเทศ จากข้อมูล สปสช. พบว่า เฉพาะพื้นที่เขต สปสช. ที่ครอบคลุม 5 จังหวัด มีประชากรไม่เกิน 3 ล้านคน ในปี 2556 มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตรุนแรงสูงถึง 600 ราย ปี 2557 เสียชีวิต 700 ราย แต่ในปี 2558 เชื่อว่าจะลดลง ทั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ต่างช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การจัดระบบดูแลรวดเร็ว การเฝ้าระวังต่อเนื่อง รวมไปถึงการป้องกัน ที่ต้องทำกันอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ นอกจาองค์กรที่ร่วมจัดการประชุมข้างต้นแล้ว ยังมี สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมเวชศสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมมือจัดการประชุมในครั้งนี้