สุดท้าย เป็นเรื่องการเงินการคลัง และความยั่งยืนของระบบ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ระบบหลักประกันสุขภาพ “ถ้วนหน้า” ประกอบด้วย 4 ระบบใหญ่ๆ คือ 1) ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ครอบคลุมประชากรราว 48 ล้านคน 2) ระบบประกันสังคม ครอบคลุมประชากรราว 10 ล้านคน 3) ระบบสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมประชากรราว 5 ล้านคน 4) สวัสดิการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรอิสระ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย คนไร้รัฐ และอื่นๆ
ดังนั้น เมื่อคิดถึงระบบการเงินการคลัง และความยั่งยืนของระบบ จะต้องพูดถึงทุกระบบย่อย ซึ่งต้องการการปฏิรูปทั้งสิ้น มากน้อยแตกต่างกัน
ระบบสวัสดิการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการปฏิรูปขั้นแรก คือ โอนให้ สปสช.บริหาร และแก้ปัญหาใหญ่ลงไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ในส่วนของระบบย่อยที่ 4 นี้ ยังมีปัญหาขององค์การอิสระ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย สมาชิกรัฐสภาและอื่นๆ ที่ยังมีปัญหามากเรื่องประสิทธิภาพ กล่าวคือยังใช้เงินมาก และไม่สามารถแก้ปัญหากรณีมีการเจ็บป่วยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมากๆ (Catastrophic illness) ปรากฏขึ้นเนืองๆ ปัญหาคนไร้รัฐที่แก้ไขได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาคาราคาซัง เพราะไปให้กระทรวงสาธารสุขบริหาร ซึ่งมีปัญหาทั้งคุณภาพ และประสิทธิภาพที่จะต้องแก้ไขต่อไป
ปัญหาสวัสดิการข้าราชการ เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะยังคงใช้ระบบการจ่ายตามการให้บริการ ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ยาก ข้อสำคัญกรมบัญชีกลางขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดแรงจูงใจในการปฏิรูประบบระบบนี้จึงใช้จ่ายเงินของรัฐไปอย่างขาดประสิทธิภาพมากที่สุด แพงที่สุด ดูแลคนไม่ถึง 5 ล้าน แต่ใช้เงินไป ราว 6 หมื่นล้าน ขณะที่ระบบบัตรทองใช้เงินไปราว 1.2 แสนล้าน ดูแลคนถึง 48 ล้าน สวัสดิการข้าราชการจึงใช้เงินภาษีแพงกว่าบัตรทองถึง 6.7 เท่า เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปต่อไป แต่ที่แล้วมาท่านนายกฯ แทบจะไม่ “แตะ” เรื่องนี้เลย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและเข้าใจได้
ระบบประกันสังคม มีระบบ “ร่วมจ่าย” แบบล่วงหน้า (Prepaid) ทั้งจากผู้ประกันตนและนายจ้าง จึงมีความ “ยั่งยืน” ของรายได้ ดีกว่าทุกระบบ และในอนาคต เมื่อแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น ระบบนี้ก็จะขยายเติบโตขึ้นจากเดิมเมื่อตอนเริ่มต้นในปี 2533-2534 ครอบคลุมกิจการที่มีแรงงานตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป และลดขนาดลงเรื่อยๆ ทำให้สมาชิกเพิ่มจาก 2 ล้าน เป็นกว่า 10 ล้านแล้ว ปัญหาของระบบนี้อยู่ที่ 1) ประกันสังคมยังคงบริหารจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลเอง ทำให้มีปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล ควรโอนให้ สปสช. บริหาร “เฉพาะ” ในเรื่องนี้ เหมือนที่ อปท. ทำอย่างได้ผลดีมาแล้ว หากท่านนายกฯ ใช้ควากล้าหาญ เดินหน้าเรื่องนี้ คุณภาพและประสิทธิภาพบริการจะดีขึ้นอย่างแน่นอน และข้อสำคัญเงินกองทุนส่วนนี้จะเติบโต ยั่งยืนขึ้น ไม่ถูกรีดไปเข้ากระเป๋าของสถานพยาบาลมากเกินไปอย่างที่แล้วมา 2) ผู้ประกันตนส่วนหนึ่งเรียกร้องขอเลิกการ “ร่วมจ่ายล่วงหน้า” ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาทางการเงินการคลังต่อไปในอนาคต
ต่อไปเป็น “เรื่องใหญ่” คือ ปัญหาการเงินการคลังและความยั่งยืนของระบบบัตรทอง ทั้งๆ ที่ใช้เงินมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถพัฒนาทั้งเรื่องความเท่าเทียมและคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะ 1) ใช้เงินก้อนใหญ่ที่สุด 2) ยังมีเสียงเรียกร้องขอเงินก้อนโตเพิ่มขึ้นทุกปี 3) มีศัตรูจ้องทำลายมากที่สุด เพราะไปทำให้ “เสียราคา” ในอีก 2 ระบบใหญ่ คือ ราชการ และ ประกันสังคม
เรื่องนี้ต้องแก้อย่างเป็นระบบ
เรื่องแรก ที่ต้องทำ คือ สร้างสัมมาทิฐิ สร้างความเข้าใจให้ถูกต้องถ่องแท้ว่า
(1) ระบบบัตรทอง เป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องกระทำและพึงกระทำ เพราะเป็นความจำเป็นของประชาชน เป็นการลงทุนทางสังคมที่ให้ผลตอบแทนสูง สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ มิได้สร้างภาระการคลังโดยไม่สมควร และทั่วโลกยกย่อง จึงมิใช่ “ประชานิยม” อย่าง “จำนำข้าวทุกเมล็ด” และ “รถยนต์คันแรก”
(2) ระบบบัตรทอง เป็นการ “ลงทุนที่คุ้มค่า” เพราะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้สามารถมีพลังในการสร้างครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ เพราะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถลดการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็น และเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีหลักประกันว่าจะได้รับการดูแลรักษาโดยไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย เป็นส่วนหนึ่งของ “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
(3) ระบบบัตรทอง เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถบรรลุเป้าหมายของความเท่าเทียม คุณภาพ และประสิทธิภาพ และมีระบบบริหารที่มีธรรมาภิบาล ควรเป็นแบบอย่างแก่ระบบอื่นๆ
เรื่องที่สอง จะต้องสร้างกลไกและระบบที่สามารถสร้างความมั่นคงยั่งยืนทางการเงินการคลัง โดยต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กันทั้งระบบ ทั้งด้านการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ที่สำคัญคือ
(1) จะต้องสร้างความเป็นธรรมระหว่างระบบย่อยต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
(2) จะต้องควบคุมและลดความสูญเสียในระบบ โดยเฉพาะในส่วนของระบบราชการและประกันสังคม
(3) จะต้องหาทางเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกต่างๆ การที่ท่านนายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ เป็นการเดินมาถูกทาง และตั้งคนถูกคนแล้ว
เรื่องที่สาม เรื่องการร่วมจ่าย เป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ข้อสำคัญ คือ
(1) จะต้องให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
(2) จะต้องไม่ทำให้เกิดบริการ “สองมาตรฐาน” แก่คนไข้ที่มีฐานะแตกต่างกัน
(3) จะต้องไม่เป็นการสร้าง “กำแพง” (Barrier) ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
(4) จะต้องมุ่งกระทำเพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น เพื่อเพิ่มเงินในระบบ และดึงเข้ากระเป๋าของบางกลุ่มโดยไม่สมควร
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายทั้งแบบล่วงหน้า และเมื่อไปรับบริการแต่ละครั้ง รวมแล้วประชาชนร่วมจ่ายในสัดส่วนที่สูงมาก โดยจ่ายล่วงหน้าเฉลี่ยถึงร้อยละ 28.3 และจ่ายเมื่อไปรับบริการอีกร้อยละ 13.5 รวมแล้ว ประชาชนร่วมจ่ายสูงถึงร้อยละ 41.8 โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของญี่ปุ่น ใช้เงินสูงมาก โดยใช้ราวร้อยละ 9.5 ของจีดีพี ขณะที่ประเทศไทยใช้เพียงร้อยละ 4 และเนื่องจากจีดีพีของญี่ปุ่นใหญ่กว่าของไทยมาก ขณะที่ประชากรของเขามากกว่าเราเกือบสองเท่า เท่านั้น ค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ญี่ปุ่นจึงจ่ายแพงกว่าเราถึง 10.6 เท่า
ญี่ปุ่น ใช้ระบบร่วมจ่ายได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพเพราะญี่ปุ่นพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ และปล่อยให้ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” อย่างเต็มที่แบบบ้านเรา ช่องว่างรายได้ของคนญี่ปุ่นก็น้อยกว่าเรามาก คนจนญี่ปุ่นมีอยู่ราว 1.7-1.8% เท่านั้น คิดเป็นจำนวนราว 2 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องร่วมจ่ายเลย ทั้งการจ่ายล่วงหน้า และการจ่ายเมื่อไปรับบริการ โดยญี่ปุ่นสามารถสร้างระบบการรักษาพยาบาลได้ตามหลักการที่คนญี่ปุ่นภาคภูมิใจมากว่าเป็นบริการที่ “คุณภาพสูง ปลอดภัย และไร้ข้อกังวลใดๆ” (Safe, quality care that is free of any concerns) โดยระบบบริการของญี่ปุ่น สามารถสร้างความเท่าเทียมที่คนระดับนายกรัฐมนตรีที่ต้องร่วมจ่ายสูง ได้รับบริการมาตรฐานเดียวกันกับคนยากจนที่ไม่ต้องร่วมจ่ายเลย
เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้แล้ว และขอคัดมาเผยแพร่ในที่นี้ ดังนี้
มองระบบร่วมจ่ายให้ชัดๆ
จุดเด่นสำคัญประการหนึ่งของระบบประกันสุขภาพในญี่ปุ่น คือ การกำหนดให้มีการร่วมจ่าย (Copayment) เมื่อไปใช้บริการทุกครั้ง
ความคิดเรื่องการร่วมจ่ายในบ้านเรามีการผลักดันจากสองกลุ่มซึ่งประสานเสียงกันคือ จากสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและแพทยสภา วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อเพิ่มเงินในระบบ ซึ่งก็คือเพื่อเพิ่มผลกำไรกันนั่นเอง และทางภาครัฐโดยรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น) ก็ดูจะ “ตอบรับ” แนวคิดนี้ ซึ่งแสดงออกทางรูปธรรมอย่างชัดเจนใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การเสนอปฏิรูประบบการคลังด้านสุขภาพทั้งระบบโดยให้มีการร่วมจ่าย โดยข้ออ้างเพื่อให้เกิด “ความยั่งยืน” ของระบบการเงินการคลัง 2) การผลักดันการเก็บเงิน 30 บาท ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อเสนอเรื่องการร่วมจ่ายทั้งระบบถูกตั้งข้อสงสัยว่ามี “ระเบียบวาระซ่อนเร้น” (Hidden agenda) เพื่อผลประโยชน์ของ “พรรคพวก” เพราะมีข้อเคลือบแคลงว่าจะมีการผลักดันให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามา “แบ่งเค้ก” ในระบบประกันสุขภาพทุกระบบเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มทุนที่โยงใยกับผู้มีอำนาจได้เข้าไปลงทุนในโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น ระบบประกันสุขภาพต่างๆ ในประเทศไทยขณะนี้ ในส่วนของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและระบบอื่นๆ ที่ใช้ระบบการจ่ายตามการให้บริการ (Fee-For-Service) สามารถ “ทำกำไร” ได้เป็นกอบเป็นกำอยู่แล้ว จึงไม่มีเสียงเรียกร้องการร่วมจ่ายในส่วนนี้มากนัก ส่วนประกันสังคมภาคเอกชนก็เข้าไปแบ่งเค้กกว่าครึ่ง และ “ควบคุม” กลไกต่างๆ ได้มากแล้ว ยังแต่ระบบบัตรทองซึ่งครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศถึง 47-48 ล้านคน ที่ยังเป็น “เนื้อติดกระดูก” จึงจำเป็นต้องหาทางเพิ่มเนื้อในส่วนนี้
ความพยายามที่จะเก็บเงิน 30 บาทในระบบบัตรทอง อาจมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเอาชื่อ “30 บาท รักษาทุกโรค” กลับคืนมา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการ “นำร่อง” เรื่องการร่วมจ่าย แต่ความพยายามดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนัก เพราะไม่มีเหตุผลเพียงพอ ที่สำคัญคือการเพิ่มความไม่เป็นธรรม เพราะระบบบัตรทองใช้เงินน้อยที่สุดอยู่แล้ว น้อยกว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการถึง 5-6 เท่า แต่กลับถูกเรียกเก็บเงินอีก ข้อสำคัญเป็นการเพิ่มขั้นตอนการรับบริการซึ่งแออัดมากอยู่แล้ว ในที่สุดก็ลงเอยให้จ่ายโดยสมัครใจ และจ่ายเมื่อไปรับยาแทนที่จะเรียกเก็บทันทีที่ไปใช้บริการ
อันที่จริง หากศึกษาเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว หากจะใช้ระบบร่วมจ่าย จะต้องใช้กับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเป็นอันดับแรก รวมทั้งระบบสวัสดิการของหน่วยงานต่างๆ ที่ใช้ระบบการเรียกเก็บแบบเดียวกับญี่ปุ่น คือ การเรียกเก็บตามการให้บริการ (Fee-For-Service) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด นั่นคือใช้เงินมากที่สุดหรือแพงที่สุด สูงกว่าระบบบัตรทองถึง 5-6 เท่าตัว
น่าแปลกที่ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายจำนวนมากไม่เข้าใจเรื่องนี้ พยายามจะใช้ระบบร่วมจ่ายกับบัตรทอง ด้วยเหตุผลเพื่อการ “ควบคุมค่าใช้จ่าย” ทั้งๆ ที่ระบบบัตรทอง (และระบบประกันสังคม) ใช้ระบบการจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างดีมากอยู่แล้ว ข้อสำคัญระบบดังกล่าวมีการ “จำกัดสิทธิ” การใช้บริการให้ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้าน โดยแม้จะเปิดให้มีการเลือกสถานบริการได้ แต่ก็มีขอบเขตแคบมากในการเลือก ยกเว้นกรณีอุบัติเหตุและฉุกเฉินเท่านั้น ดังนั้นการใช้ระบบร่วมจ่ายกับระบบนี้จึงเป็นการเพิ่ม “กำแพง” (Barrier) กับผู้รับบริการโดยไม่สมควรและผิดหลักการอย่างยิ่ง
ญี่ปุ่นกำหนดให้มีระบบร่วมจ่ายทุกครั้งที่ไปรับบริการ ก็เพราะญี่ปุ่นเปิดให้ประชาชนไปใช้บริการได้โดยเสรี (Free access) จะไปรับบริการที่ไหนก็ได้ จึงต้องมี “ขีดคั่น” หรือ “ข้อยับยั้งชั่งใจ” โดยให้มีภาระร่วมจ่ายมาเป็นเครื่องมือ
การร่วมจ่ายนี้ จะต้องมีการพิจารณากำหนดอย่างรอบคอบ เพื่อมิให้เป็นภาระที่มากเกินไป หรือเกินกำลังของประชาชน ญี่ปุ่นจึงกำหนดอัตราร่วมจ่ายเป็น 3 ระดับ คือร้อยละ 10, 20 และ 30 และมีเพดานสูงสุดกำกับไว้ด้วย เพื่อมิให้ประชาชนต้องประสบภาวะ “ยากลำบาก” หรือถึงขั้น “สิ้นเนื้อประดาตัว”
การปรับอัตราดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานข้อมูลที่มากเพียงพอ ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการทั้งฝ่ายผู้เชี่ยวชาญ และฝ่ายบริหาร โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างทั่วถึง และสุดท้ายต้องเป็นการตัดสินใจทางการเมืองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้าย และแม้มีการตัดสินใจและประกาศต่อสาธารณะแล้ว เมื่อถึงขั้นลงมือปฏิบัติก็อาจมีการชะลอออกไปเมื่อพิจารณาว่าจะกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน
ดังปรากฏว่ามีการกำหนดให้ผู้มีอายุ 70-74 ปี ต้องเพิ่มการร่วมจ่ายจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20 ปัจจุบันก็ยังคงเก็บเพียงร้อยละ 10 เพราะผู้สูงอายุขนาดนั้นส่วนมากมีรายได้ลดลง หากต้องร่วมจ่ายมากขึ้นย่อมทำให้เดือดร้อน แม้จะมีเพดานกำกับไว้ก็ตาม
ความคิดว่าถ้ามีการให้ร่วมจ่ายแล้ว จะทำให้ประชาชนไปใช้บริการลดลงนั้น เป็นเพียงทฤษฎี (ที่เลื่อนลอย) การที่ประชาชนจะไปใช้บริการมากหรือน้อยย่อมขึ้นกับเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น บริการที่มีอยู่มีความแออัดคับคั่งมากน้อยเพียงใด คุณภาพบริการเป็นอย่างไร ผู้ให้บริการมีท่าทีให้การต้อนรับอย่างไร ระยะทาง สภาพถนน การจราจร และยานพาหนะในการเดินทางไปรับบริการสะดวกแค่ไหน ต้องมีคนช่วยเหลือพาไปหรือไม่ และต้องร่วมจ่ายมากน้อยเพียงใด ดังปรากฏว่าญี่ปุ่นมีระบบร่วมจ่ายที่เป็นภาระไม่น้อย แต่คนญี่ปุ่นไปรับบริการเฉลี่ยปีละ 12 ครั้ง ในขณะที่ระบบบัตรทองของเราประชาชนไม่ต้องร่วมจ่าย แต่ไปใช้บริการเพียงปีละ 3.7 ครั้งเท่านั้น ไต้หวันก็กำหนดให้มีระบบร่วมจ่ายเช่นกัน แต่ประชาชนไปใช้บริการถึงปีละ 13 ครั้ง
เมื่อเริ่มต้นระบบบัตรทองในประเทศไทย มีการถกเถียงเรื่องนี้ในหมู่ผู้ร่วมตัดสินใจอย่างเคร่งเครียด นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ยืนยันว่าการร่วมจ่ายเป็นข้อที่ต้องระวังอย่างยิ่ง ในสังคมไทยที่มีช่องว่างระหว่างรายได้สูงมากในหมู่ประชาชน การร่วมจ่ายถ้าจะมีต้องไม่ทำให้เกิดบริการ “สองมาตรฐาน” และต้องไม่ทำให้คนยากจนกลับไปเป็น “คนไข้อนาถา” โดยเด็ดขาด สุดท้ายยอมให้เก็บได้เฉพาะส่วนที่ไม่กระทบต่อมาตรฐานการรักษาพยาบาลคือ ค่าห้องพิเศษเท่านั้น และค่าธรรมเนียมการไปใช้บริการครั้งละ 30 บาท ต่อมาเมื่อพบว่าการเก็บ 30 บาท ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และเพิ่มขั้นตอนการให้บริการโดยไม่สมควร ก็เลิกเก็บไปในสมัยที่นายแพทย์สงวน ยังมีชีวิตอยู่ เพิ่งกลับมาเก็บใหม่หลังจากนายแพทย์สงวน เสียชีวิตไปแล้ว
สุดท้าย หากประเทศไทยสามารถปฏิรูปการเมืองให้สามารถควบคุมรัฐบาลมิให้คอรัปชัน และมีความสามารถเพียงพอ ก็จะมีเงินมากมายนำมาสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบบัตรทองได้สบายๆ เพราะระบบบัตรทองใช้เงินไม่มาก ไม่ถึงร้อยละ 2 ของจีดีพี นับว่ามีประสิทธิภาพสูงยิ่ง ความสูญเสียจากการทุจริตรับจำนำข้าวทุกเมล็ดราว 7 แสนล้าน สามารถนำมาใช้ในระบบบัตรทองได้ถึง 5 ปี ความสูญเสียจากน้ำท่วมเมือ่ปี 2554 กว่า 1.4 ล้านล้าน สามารถนำมาใช้กับระบบบัตรทองได้ถึง 10 ปี
- 87 views