ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : อัตราการคลอดที่บ้านได้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้วตลอดช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา และแม้ตัวเลขการคลอดที่บ้านในกลุ่มประเทศพัฒนาดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำแต่แนวโน้มนั้นกลับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การคลอดที่บ้านในสหรัฐซึ่งสูงขึ้นร่วมร้อยละ 30 ระหว่างปี 2547 และ 2552 เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักรซึ่งสูงขึ้นเกือบ 4 เท่าในช่วงปี 2533 และ 2549 ขณะที่อัตราการคลอดนอกโรงพยาบาลในแคนาดาสูงขึ้นกว่า 4 เท่าระหว่างปี 2534 และ 2552

บริการและความช่วยเหลือทางการแพทย์ คือหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เด็กคลอดปลอดภัย, ภาพเด็กทารกจาก Shutterstock

ท่ามกลางแนวโน้มดังกล่าว ยังคงมีความขัดแย้งกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญและสื่อในประเด็นความเสี่ยงจากการคลอดที่บ้าน จึงเป็นที่มาของศึกษาผลกระทบจากการคลอดที่บ้านต่อสุขภาพระยะสั้นของทารกแรกเกิด ซึ่งจากการศึกษาพบหลักฐานว่า การคลอดที่โรงพยาบาลมีความปลอดภัยในแง่อัตราตายของทารกที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีรายได้น้อย ขณะที่มีความปลอดภัยระดับเดียวกับการคลอดที่โรงพยาบาลสำหรับหญิงตั้งครรภ์รายได้สูง

การศึกษานี้อาศัยข้อมูลจากหญิงตั้งครรภ์ชาวดัตช์ 356,412 รายซึ่งมีความเสี่ยงการตั้งครรภ์ในระดับต่ำและคลอดระหว่างปี 2543 และ 2551 ซึ่งการที่เลือกศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เนื่องจากเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวซึ่งมีการคลอดที่บ้านแพร่หลายด้วยตัวเลขที่สูงถึงราวร้อยละ 25 ระหว่างปี 2543 และ 2551    

อัตราการคลอดที่บ้านสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด, ภาพการทำคลอดจาก Shutterstock

นอกจากนี้ระบบของเนเธอร์แลนด์ยังเอื้อต่อการศึกษาผลของสถานที่คลอด (ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล) โดยไม่เป็นผลจากผู้ให้บริการ (สูติแพทย์หรือผดุงครรภ์) ทั้งนี้ก็เนื่องจากการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ของเนเธอร์แลนด์อาศัยการประเมินตามระดับชั้นความเสี่ยง ทำให้หญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำสามารถเลือกคลอดที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของผดุงครรภ์โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยแพทย์ ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจำเป็นต้องคลอดที่โรงพยาบาลภายใต้การดูแลของสูติแพทย์เท่านั้น อนึ่ง เนเธอร์แลนด์กำหนดให้ระบบการคลอดบุตรเป็นนโยบายสำคัญตามที่มีอัตราตายในช่วงเจ็ดวันแรกของชีวิต (อัตราตายที่ 7 วัน) ติดอันดับสูงสุดแห่งหนึ่งของยุโรป ขณะที่ผลกระทบจากการคลอดที่บ้านต่ออัตราตายดังกล่าวก็เป็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรง

ปัญหาในข้อมูลดิบ

ข้อมูลดิบชี้ให้เห็นความเกี่ยวโยงระหว่างสถานที่คลอดและผลลัพธ์ด้านสุขภาพของทารก โดยชี้ว่า อัตราตาย 7 วันลดลงจาก 4.25 รายต่อการคลอด 1,000 รายในปี 2523-2528 มาที่ 2.42 รายในปี 2548-2552 อันเป็นช่วงที่การคลอดที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.25% เป็น 72.06%

นอกจากนี้อัตราตายส่วนใหญ่ที่ลดลงระหว่างปี 2543-2551 ก็มาจากทารกที่น้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2,500 กรัมซึ่งมีแนวโน้มที่จะจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำและสอดคล้องกับกับเกณฑ์การคลอดที่บ้าน

อย่างไรก็ดีความเกี่ยวโยงกันของข้อมูลดิบนี้ก็อาจนำไปสู่ความคลาดเคลื่อน เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์กลุ่มความเสี่ยงต่ำซึ่งคลอดที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลก็อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน อีกทั้งการคลอดซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าก็มักเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล ดังนั้นทารกคลอดที่โรงพยาบาลจึงมักมีปัญหาสุขภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับทารกคลอดที่บ้าน และทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันโดยตรงด้วยวิธีพื้นฐาน    

ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงได้หลีกเลี่ยงปัญหาความเข้าใจผิดนี้ ด้วยการประเมินจากปัจจัยอื่นตามที่พบจากการสังเกตว่า การคลอดที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นอาศัยอยู่ไกลจากแผนกสูติกรรมที่ใกล้ที่สุดมากน้อยเพียงใด   

ยกตัวอย่างเช่น หญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวก 2-4 กิโลเมตรจากโรงพยาบาลมีแนวโน้มสูงกว่าเกือบร้อยละ 10 ต่อการคลอดที่โรงพยาบาลเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ห่างจากโรงพยาบาลอย่างน้อย 11 กิโลเมตร โดยการศึกษาได้เปรียบเทียบหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ 2 กลุ่มซึ่งมีความเทียบเคียงกัน ยกเว้นว่ากลุ่มหนึ่งมีความน่าจะเป็นของการคลอดที่โรงพยาบาลสูงกว่า เนื่องจากอาศัยอยู่ใกล้โรงพยาบาลมากกว่า

โรงพยาบาลลดอัตราตายทารกเฉพาะในบางคน

การศึกษาพบว่า การคลอดที่โรงพยาบาลนำไปสู่การลดลงอย่างชัดเจนด้านอัตราตายของทารก โดยผลลัพธ์จากการคำนวณชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราการคลอดที่โรงพยาบาลสัมพันธ์กับอัตราตายของทารกที่ต่ำลงราวร้อยละ 46-49 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี 2523 และ2552   

อย่างไรก็ดีข้อมูลนี้ไม่ครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์กลุ่มความเสี่ยงต่ำทั้งหมด การลดลงของอัตราตายดังกล่าวมาจากการคลอดในกลุ่มประชากรรายได้น้อย แต่ในกลุ่มประชากรรายได้สูงพบว่า การคลอดที่บ้านมีความปลอดภัยต่อเด็กเทียบเท่ากับการคลอดที่โรงพยาบาล และแม้ยังไม่อาจระบุสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็อาจเป็นได้ว่าการแบ่งชั้นความเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่าทำได้ยากกว่าและมีความแม่นยำน้อยกว่า เช่น อาจเกิดจากปัญหาการสื่อสารกับผดุงครรภ์   

การคลอดจะปลอดภัยก็ต่อเมื่อหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่ำ, ภาพการคลอดในน้ำ จาก Shutterstock

อัตราตายของทารกที่ต่ำกว่าจากการคลอดที่โรงพยาบาลอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความพร้อมของสถานที่และอุปกรณ์ที่ดีกว่า สุขอนามัยที่อาจดีกว่า (ปลอดเชื้อ) หรือความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อื่น    แม้จากข้อมูลนี้จะยังไม่อาจระบุสาเหตุได้ชัดเจนแต่ก็พบว่า การคลอดที่โรงพยาบาลซึ่งมีหน่วยทารกแรกเกิดภาวะวิกฤติสัมพันธ์กับอัตราตายของทารกที่ต่ำกว่า  

ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ของการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่ออัตราตายของทารกที่ต่ำกว่าจากการคลอดที่โรงพยาบาล พร้อมกันนี้ข้อมูลจากการศึกษายังเสนอแนะว่า นโยบายส่งเสริมการเข้าถึงการคลอดที่โรงพยาบาลอาจช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพของทารกแรกเกิดแม้ในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำและอาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของนโยบายที่ส่งเสริมการคลอดที่บ้านสำหรับหญิงตั้งครรภ์ความเสี่ยงต่ำทั้งหมดด้วย

ระบบการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ของเนเธอร์แลนด์ดำเนินไปตามกระบวนการแบ่งชั้นความเสี่ยงอันเคร่งครัดซึ่งประเมินจากประวัติการรักษาที่ผ่านมาและสุขภาพปัจจุบัน รวมถึงพัฒนาการของแม่และตัวอ่อนในครรภ์ และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ของเนเธอร์แลนด์นั้นมุ่งไปทางส่งเสริมการคลอดที่บ้าน กระนั้นก็ดีจากการประเมินตามตัวแบบแบ่งชั้นความเสี่ยงที่รัดกุมก็พบว่า การคลอดที่โรงพยาบาลยังคงเป็นประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังส่งผลดีต่อความปลอดภัยของทารกด้วย   

การคลอดที่โรงพยาบาลจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์รายได้น้อย ซึ่งในทางหนึ่งก็อาจเชื่อมโยงไปถึงการประเมินความเสี่ยงด้วย ดังนั้นการร่างนโยบายว่าด้วยการคลอดที่บ้านจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง และแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการคลอดที่บ้านมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถเหมาให้หญิงตั้งครรภ์ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำสามารถคลอดที่บ้านได้ทั้งหมด ตามที่ข้อมูลจากการศึกษาได้ชี้ให้เห็นผลลัพธ์ด้านอัตราตายของทารกที่ต่ำลงจากการบริการที่ดีของโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้หญิงตั้งครรภ์ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยควรได้รับคำชี้แจงถึงความเสี่ยงจากการคลอดที่บ้านด้วย

เกี่ยวกับผู้เขียน

เอ็น. เมลเทม เดย์แซลรองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก

เมอร์เซีย ทรานดาเฟอร์ รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเดนมาร์ก

แรน แวน เอแวค ศาสตราจารย์ทางด้านสถิติและเศรษฐมิติ จาก Johannes Gutenberg University of Mainz

ที่มา : www.theconversation.com