ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อาจารย์ ม.แม่ฟ้าหลวง” เผยผลสำเร็จ “ไอโซน่ารุ่นที่ 1” นวัตกรรมใหม่เครื่องบอกเตือนสิ่งกีดขวางสำหรับผู้พิการทางสายตา หลังนำร่อง 250 เครื่องได้รับการตอบรับที่ดี ช่วยผู้พิการทั้งบอดสนิท สายตาเลือนราง ใช้ชีวิตปกติได้ แถมลดอันตรายจาการเดินชนสิ่งกีดขวาง พร้อมขอรับการสนับสนุนภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติม เตรียมพัฒนาต่อยอด “ไอโซน่ารุ่นที่ 2” บอกเตือนแม่นยำมากขึ้น แถมไม่ต้องใช้ไม้เท้าขาว

นายสุรพล วรภัทราทร

นายสุรพล วรภัทราทร อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม “ไอโซน่า : เครื่องบอกเตือนสิ่งกีดขวางสำหรับผู้พิการทางสายตา” ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการแพทย์ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา และได้นำแสดงในงานมหกรรมนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผ่านมาว่า ที่มาที่ไปของนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เริ่มตั้งแต่ในช่วงที่เรียนต่อระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้พิการอยู่แล้ว ประกอบกับได้เรียนรู้วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทำให้เรียนรู้ระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ จึงคิดว่าน่าที่จะนำมาใช้ประยุกต์เพื่อใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้พิการได้ นอกจากนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านสายตาที่เสื่อมตามสภาพร่างกาย จึงได้คิดประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาขึ้น ในการบอกเตือนสิ่งกีดขวางสำหรับผู้มีปัญหาในการมอง จนเป็น “ไอโซน่า รุ่นที่ 1” ขึ้น

นายสุรพล กล่าวว่า จากที่ได้เริ่มต้นในปี 2555 โดยใช้เวลาประดิษฐ์เครื่องต้นแบบเป็นเวลา 1 ปี และหลังจากนั้นจึงได้มีการนำไปทดลองใช้ผู้พิการทางสายตาจริง ทั้งที่ตาบอดสนิท สายตาเลือนราง ทั้งที่เกิดจากพันธุกรรมและอุบัติเหตุ พร้อมกันนี้ได้มีการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้มีการผลิตและแจกเครื่องไอโซน่ารุ่นที่ 1 ให้กับผู้พิการสายตาได้ทดลองใช้จำนวน 250 เครื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลการใช้งานจากผู้พิการและใช้ในการตีพิมพ์ผลงานเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ทั้งนี้เครื่องไอโซน่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคู่กับไม้เท้าขาว โดยไม้เท้าขาวจะใช้กวาดเพื่อดูสิ่งกีดขวางระดับเอวผู้พิการลงมา ขณะที่เครื่องไอโซน่าจะใช้ “คลื่นอัลตราโซนิก” ในการตรวจจับสิ่งกีดขวางตั้งแต่ระดับเอวขึ้นมา ช่วยให้ผู้พิการสายตาสามารถเดินได้สะดวก ทั้งยังช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม้เท้าขาวจะใช้กวาดเฉพาะสิ่งกีดขวางที่อยู่ด้านล่างเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมามีผู้พิการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาศรีษะเดินชนสิ่งกีดขวางด้านบนจนได้รับบาดเจ็บ และจะทำการสั่นเตือนกรณีที่มีวัตถุกีดขวางด้านหน้า ส่วนการทำงานของเครื่องจะใช้วิธีการชาร์ตไฟฟ้าเช่นเดียวกับแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ โดยใช้แบตเตอรี่ Li-Po (Lithium-polymer) เพื่อให้มีน้ำหนักเบาและบรรจุพลังงานได้มาก นอกจากนี้ยังมีระบบตัดการชาร์ตอัตโนมัติทันทีที่แบตเต็ม ซึ่งผู้พิการสามารถใช้งานไอโซน่าได้ 7 วันต่อการชาร์ตแบตเตอรี่ 1 รอบ ถือว่าประหยัดพลังงาน แต่ในกรณีที่เปิดระบบทิ้งจะใช้งานได้ 48 ชั่วโมง

“หลักการทำงาน อุปกรณ์จะส่งคลื่นเสียงชนิดอัลตราโซนิก ความถี่ 40 KHz ออกไปและตรวจจับเวลาที่เสียงกระทบกับวัตถุกลับเข้ามา จะใช้เวลานี้ในการคำนวนระยะทางของวัตถุที่อยู่ข้างหน้า เมื่อได้ระยะทางของวัตถุที่ขวางอยู่ข้างหน้าแล้วระบบจะทำการนำค่านั้นไปเทียบกับค่าระยะการเตือนที่ตั้งไว้คือระยะ 130 เซนติเมตร เนื่องจากผู้พิการใช้เวลาในการเดินประมาณ 100 เซนติเมตรต่อวินาที และใช้เวลาในการหยุดประมาณ 1 วินาที เมื่อวัตถุอยู่ใกล้กว่าระยะดังกล่าว มอเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถสั่นได้ จะทำการสั่นเบา ๆ ในระดับความแรงต่างๆ เพื่อเป็นการบอกเตือนแก่ผู้พิการทางสายตาว่ามีวัตถุขวางอยู่ข้างหน้าให้ระวัง”

นายสุรพล กล่าวต่อว่า แม้ว่าเครื่องไอโซน่ารุ่นแรกจะได้รับการตอบรับที่ดี แต่ยังต้องมีส่วนที่ปรับปรุงและพัฒนา ทั้งรูปแบบและดีไซน์ โดยไอโซน่ารุ่นที่ 1 เป็นแบบคล้องไว้ที่คอ ทำให้มีปัญหาการแกว่งและหมุน มีโอกาสตกหรือโดนน้ำได้ง่าย ขณะที่ประสิทธิภาพการเตือนสิ่งกีดขวางแม้ว่าจะใช้งานได้จริง แต่มิติการเตือนยังไม่รอบด้าน ยังไม่รู้ว่าวัตถุด้านหน้าอยู่ทางซ้ายหรือขวา และจากที่ได้ทดสอบกับผู้พิการทำให้ทราบในรายละเอียดความต้องการด้วยว่า ผู้พิการบางคนไม่ชอบถืออุปกรณ์ที่ทำให้แปลกแยกหรือบ่งชี้ว่าเป็นผู้พิการ ด้วยเหตุนี้จึงได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพรยาบาล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนปี 2558 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาไอโซน่ารุ่นที่ 2 ขึ้น เพื่อรัศมีในการตรวจจับวัตถุที่กว้างขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ผู้พิการโดยให้มีความเป็นธรรมชาติ และน่าใช้ยิ่งขึ้น

“ไอโซน่ารุ่นที่ 2 ซึ่งจะพัฒนาขึ้นนี้ จะมีรัศมีตรวจจับวัตถุที่กว้างขึ้น ทำให้ผู้พิการไม่ต้องใช้ไม้เท้าขาว เพียงแต่ต้องสะพายเป้ที่ดูเหมือนกับนักท่องเที่ยว ไม่เหมือนผู้พิการ โดยด้านหลังเป้นี้จะมีตัวเครื่องที่แนบกับแผ่นหลัง และจะมีระบบสั่นเตือน 6 จุด ซึ่งจะทำให้เกิดมิติในการบอกตำแหน่งของวัตถุได้แม่นยำมากขึ้น โดยเป็นการต่อยอดจากไอโซน่ารุ่นที่ 1” นายสุรพล กล่าวและว่า ในต่างประเทศมีการผลิตเครื่องบอกเตือนสิ่งกีดขวางสำหรับผู้พิการทางสายตาเช่นกัน ซึ่งนอกจากราคาที่แพงมากอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเครื่องแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ไม่เหมาะกับสรีระคนไทย บางเครื่องมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ดังนั้นจึงได้ผลิตเครื่องบอกเตือนสิ่งกีดขวางที่เหมาะสำหรับผู้พิการไทย นอกจากนี้ยังมีราคาที่ถูกมาก โดยเครื่องไอโซน่ารุ่นที่ 1 ราคาเพียงแค่ 1,350 บาทต่อเครื่อง รวมเครื่องชาร์ตและแบตเตอรี่แล้ว

นายสุรพล กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้ผลิตเครื่องไอโซน่ารุ่นที่ 1 และได้นำร่องทดลองใช้ไปแล้ว 250 เครื่อง ปรากฎว่านอกจากการตอบรับที่ดีแล้ว ยังได้มีผู้พิการที่ติดต่อขออนุเคราะห์เข้ามาเพิ่มเติมประมาณ 400 ราย แต่เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีทุนสนับสนุนที่จำกัด ดังนั้นจึงอยากระดมทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจเข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องนี้ให้กับผู้พิการทางสายตาเพิ่มเติม ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากยังมีจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมก่อน รวมถึงการหาแหล่งทุนหรือบริษัทร่วมผลิตต่อไป 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง