หากจำกันได้ช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีดราม่าเล็กๆ ในวงนักวิชาการด้านสาธารณสุข ในประเด็นการตีความงานวิจัยเรื่องผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาหลายประเด็น แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการอยู่รอดของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง 5 โรค ระหว่างระบบสวัสดิการข้าราชการกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งถูก ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปอ้างอิงในบทความโดยระบุว่าผู้ใช้บัตรทองตายถึง 71% มากกว่าผู้ใช้สิทธิข้าราชการซึ่งอยู่ที่ 43% ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะผู้ใช้สิทธิบัตรทองมีจำนวนนับล้านคน จำนวนผู้ตาย 28% ที่มากกว่าข้าราชการนี้ เป็นจำนวนคนตายผิดปกติมหาศาล และควรหาสาเหตุอย่างเร่งด่วน
เหตุการณ์หลังจากนั้นก็เกิดวิวาทะตอบโต้กันไปมา ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าผลวิจัยฉบับเต็มของทีดีอาร์ไอพบว่าผู้ป่วยสิทธิบัตรทองอัตราการตายสูงกว่าข้าราชการมาก แต่ สปสช.ซึ่งเป็นผู้จ้างให้ทำวิจัยไม่อยากให้สังคมรับรู้ จึงเลือกเผยแพร่แต่ผลวิจัยที่ให้เป็นผลดีออกมา ส่วนอีกฝ่ายก็ติงว่าข้อมูลที่ปรากฎในงานวิจัยไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าบัตรทองมีการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ควรนำผลการวิจัยไปตีความอย่างไม่รอบด้าน เพราะจะทำให้สังคมสับสน
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะหน่วยงานที่ถูกพาดพิงโดยตรง ก็ไม่สามารถนิ่งเฉยได้และเตรียมจัดประชุมอภิปรายการตีความงานวิจัยในวันที่ 23 มิ.ย. แต่เริ่มงานเพียง 1 วัน ทาง สปสช.ก็ตัดสินใจเลื่อนกำหนดการออกไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. และเปลี่ยนรูปแบบโดยไปอภิปรายกันผ่านรายการตอบโจทย์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแทน เนื่องจากมีการขอเพิ่มรายชื่อบุคคลอื่นๆ มาอีกกว่า 20 คน จึงเลื่อนไปเพราะไม่อยากให้เป็นเวทีมาโต้เถียงกัน
หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็ค่อยๆ สงบลง จนกระทั่งเวลาผ่านมาแล้วกว่า 2 เดือน
อย่างไรก็ดี วันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ทางทีดีอาร์ไอก็จัดกิจกรรมเสวนาสื่อมวลชนขึ้น โดยให้เหตุผลว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการหยิบยกบางประเด็นของผลงานวิจัยโครงการผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ และสังคมเกิดการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางกรณีบัตรทอง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน คณะวิจัยได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและพบข้อมูลสำคัญหลายประการที่ควรให้สังคมได้รับรู้ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ได้รับการแก้ไขต่อไป
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ ชี้ประเด็นในงานวิจัยนี้ว่าจากการศึกษาอัตราส่วนการตายของมารดาต่ออัตราการเกิดมีชีพแสนคน (Maternal Mortality Ratio : MMR) ที่ทีดีอาร์ไอทำการศึกษา สูงกว่าตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานหลายเท่า โดยปี 2550 MRR ของ สธ.อยู่ที่ 12.2 ขณะที่ทีดีอาร์ไอได้ตัวเลขที่ 62.51 สูงกว่า สธ.ถึง 6 เท่า ปี 2551 MRR ของ สธ.คือ 11.3 แต่ทีดีอาร์ไออยู่ที่ 58.25 ปี 2552 MRR ของ สธ.คือ 10.8 แต่ทีดีอาร์ไออยู่ที่ 46.69 ปี 2553 MRR ของ สธ.คือ 10.2 แต่ทีดีอาร์ไอคือ 45.06 และปี 2554 MRR ของ สธ.คือ 8.9 แต่ของทีดีอาร์ไออยู่ที่ 36.69
นอกจากนี้ หากจำแนกตัวเลข MRR แบ่งตามเขตสุขภาพ พบว่าในเขตบริการสุขภาพที่ 12 มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาสูงถึง 69.29 คนต่อแสนคน เช่นเดียวกับเขตบริการสุขภาพที่ 2 และ 3 ก็มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาในระดับที่สูง
ดร.วรวรรณชี้ว่า ประเด็นเหล่านี้ต่างหากที่ควรได้รับความสนใจ
"ถ้าเทียบกับเขต 13 คือกรุงเทพฯ เขต 13 มีตัวเลขการเสียชีวิตต่ำที่สุด (25.33) ฉะนั้นเป็นผู้หญิงที่เกิดในกรุงเทพฯกับเป็นผู้หญิงที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสการเสียชีวิตจากการคลอดบุตรมันต่างกันมากเกินครึ่ง อันนี้คือความไม่เป็นธรรม ถ้าตัวเลขมันไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยมากนักมันก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามันต่างกันมาก เราก็ควรจะหาสาเหตุได้แล้วว่าเป็นเพราะอะไร นี่คือสิ่งที่พบจากการวิจัยแต่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญมาก" ดร.วรวรรณ กล่าว
ส่วนประเด็นที่ทำให้เกิดวิวาทะกันอย่างเรื่องอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุระหว่างบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการ ดร.วรวรรณ ยืนยันว่าการศึกษานี้ไม่ได้เปรียบเทียบ 2 สิทธินี้ว่าอะไรตายมากกว่ากัน แต่เปรียบเทียบบัตรทองกับสวัสดิการข้าราชการว่าแตกต่างกันมากหรือไม่ แต่มีคนเอาตัวเลขที่อยู่ในรายงานบางตัวไปบวกลบคูณหารแล้วมาบอกว่าบัตรทองตายมากกว่า
"สิ่งที่ควรทราบคือถ้าเราต้องการทราบอัตราการตายของทั้ง 2 สิทธินี้ เราต้องมีข้อมูลจำนวนคนป่วยและจำนวนคนตาย แต่เราไม่ทราบจำนวนคนป่วยภายใต้สวัสดิการต่างๆ ส่วนตัวเลขผู้ป่วยในว่าใช้สิทธิอะไร เรามี แต่ต้องนับผู้ป่วยนอกด้วย ซึ่งข้อมูลผู้ป่วยนอกเรามีอย่างจำกัด ดังนั้นเมื่อข้อมูลคนป่วยไม่สมบูรณ์ เราจะมาคำนวณอัตราการตายแล้วเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 สิทธินี้ ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นในรายงานฉบับนี้จะไม่ได้กล่าวถึงเลยว่าอัตราการตายของสิทธิหนึ่งมากกว่าอีกสิทธิหนึ่ง ก็เป็นการรับผิดชอบต่อการใช้ข้อมูลที่เรามีอยู่ และการจะเปรียบเทียบเรื่องการตายเนี่ย ถ้าไม่แน่ใจก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะการตายเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก" ดร.วรวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเดียวกันนี้ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า จากการศึกษางานวิจัยเรื่องดังกล่าวฉบับเต็มของทีดีอาร์ไอแล้ว พบว่า การคำนวณอัตราการเสียชีวิตมารดาจากการคลอดนั้น กระทำโดยขาดความรู้ทางการแพทย์และระบาดวิทยา เนื่องจากนิยามอัตราตายจากการคลอดที่องค์การอนามัยโลกนิยามไว้จะต้องเป็นการตายที่เกี่ยวกับการคลอดเท่านั้น แต่งานวิจัยดังกล่าวกลับรวบรวมการเสียชีวิตของมารดาทั้งจากการตายจากรถชน เป็นเอดส์ ฆ่าตัวตาย ถูกยิงตายเข้ามารวมกันไว้ทั้งหมด อย่างพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งเป็น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความไม่สงบ ตัวเลขจึงสูงมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงทำให้ตัวเลขอัตราการตายของมารดาจากการคลอดของทีดีอาร์ไอสูงกว่าของ สธ. หลายเท่า
เช่นเดียวกัน ศ.นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นงานวิจัยดังกล่าว จึงไม่แน่ใจว่าทีดีอาร์ไอมีการคำนวณอัตราการตายของมารดาที่เกิดจากการคลอดอย่างไร แต่โดยหลักการทางการแพทย์นั้น จะพิจารณาว่าช่วงระหว่างตั้งครรภ์มีภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตหรือไม่ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ตำแหน่งของรกไม่ดี หรือเกิดบางโรคขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น ตับหยุดทำงานหรือทำงานไม่ดี จนส่งผลให้เสียชีวิต เป็นต้น ส่วนช่วงระหว่างคลอด ก็จะมีเรื่องของการตกเลือด น้ำคร่ำอุดตัน การติดเชื้อระหว่างคลอด ขณะที่ช่วงหลังคลอดนั้นความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิด ขึ้นได้มักอยู่ในช่วง 7 วันเช่นเดียวกับเด็กทารก เช่น การติดเชื้อหลังคลอด เป็นต้น แต่หากเกิน 1 เดือนไปแล้วคงไม่น่านำมาพิจารณาคำนวณ
- 11 views