ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานศูนย์ตะวันฉายฯ เพื่อเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ชี้ สปสช. ต้องปรับประสิทธิภาพ เลิกการใส่เพดานเทียมในผู้ป่วยปากแหว่งด้านเดียว เหตุผลวิจัยนานาชาติชี้ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีความจำเป็น แต่ให้เพิ่มการรักษา ฟื้นฟูตามช่วงวัย ชี้ service plan สธ. เป็นตัวถ่วงปิดกั้นคนไข้ไหลจาก สธ. ไปโรงพยาบาลสังกัดอื่นที่มีความพร้อม 

ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น

ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยกลุ่มที่มีความพิการของใบหน้าและกะโหลกศีรษะแต่กำเนิดรายใหม่ ในไทยประมาณ  2,000 คน และจากการทำวิจัยของศูนย์ตะวันฉายฯ คาดว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 700 รายต่อปี ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความพิการ และต้องได้รับการฟื้นฟู ด้วยการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการให้การดูแลแบบครบวงจร เช่น โรงเรียนต้องเข้ามาดูแลเรื่องฟันผุ    

ศ.นพ.บวรศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยบางรายได้รับการผ่าตัดแก้ไขรูปหน้า จัดฟันแล้วจนสมบูรณ์ แต่ปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อเนื่องคือ การพูด การออกเสียงให้ถูกต้อง แต่ประเทศไทยมีปัญหานักฝึกพูดและนักแก้ไขการพูด มีไม่เพียงพอ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ จะต้องพิจารณาเพิ่มการบรรจุตำแหน่งนักฝึกพูด และนักแก้ไขการพูดในกลุ่มสหวิชาชีพของ สธ.  เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการฟื้นฟูการพูด 

สำหรับสิทธิประโยชน์ในสิทธิหลักประกันสุขภาพเพื่อเด็กกลุ่มนี้นั้น ศ.นพ.บวรศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่ามีมากขึ้น ตั้งแต่การได้รับการผ่าตัดใบหน้า ได้รับการใส่เพดานเทียม การฟื้นฟูสมรรถภาพ การฝึกพูด แต่ยังมีเครื่องมือและอุปกรณ์บางอย่าง เช่น เครื่องมือยืดถ่างขยายกระดูกชนิดในช่องปากที่ใช้กับเด็กทารกนั้นจำเป็นมาก ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรเพิ่มเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์ เพราะหากทารกได้ใช้เครื่องมือนี้ตั้งแต่ขวบปีแรก จะทำให้มีรูปหน้าที่สมบูรณ์มากขึ้น  

“ในส่วนของการผ่าตัดแก้ไขรูปหน้านั้น ขณะนี้น่าจะครอบคลุมไปถึงเด็กทุกคนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามควรมีระบบติดตามและดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 19 ปี เพราะปัจจุบันระบบสาธารณสุขยังไม่ได้ลงไปถึงบ้านผู้ป่วย ดังนั้นจึงต้องทำเชิงรุกให้มากขึ้น เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องดูแลถึง 19 ปี ดูแลให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการรักษา สุขภาพ และ การเรียน การทำงาน จึงต้องสร้างระบบที่ให้คนไข้และครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษา เพื่อดูแลซึ่งกันและกันไม่ใช่ให้ผู้ให้บริการจัดให้เพียงอย่างเดียว” ศ.นพ.บวรศิลป์ กล่าว

ศ.นพ.บวรศิลป์ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในต่างประเทศได้พัฒนาจากระบบการกระจายให้หลายหน่วยงานทำมาเป็นระบบรวมศูนย์ เพื่อให้เกิดคุณภาพการบริการ เช่น ในอังกฤษ ได้ยุบหน่วยงานที่ดูแลงานด้านนี้จากเดิม 57 แห่ง เหลือ เพียง 8 แห่ง และมีการกำหนดแผนการรักษาตามช่วงวัย ด้วยการวัดผลลัพท์การรักษา ในช่วง 5 ปี ซึ่งเป็นเด็ก ช่วง 10  ปี รอยต่อสู่การเป็นวัยรุ่น และช่วงอายุ 19 ปี เมื่อเริ่มต้นเป็นผู้ใหญ่ ในแต่ละช่วงวัยจะมีการกำหนดแนวทางการรักษา การผ่าตัด และการฟื้นฟูเอาไว้ ซึ่ง สปสช. ควรนำแนวทางการรักษาที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ มาใช้ในการพัฒนางานด้านนี้

“สำหรับการผ่าตัดนั้น ผมเชื่อว่าเราผ่าตัดได้ครอบคลุมผู้ป่วยทุกคนแล้ว แต่เรื่องของคุณภาพ และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ยังเป็นปัญหาในการเข้าถึง และคุณภาพการผ่าตัดของแต่ละ รพ.ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรทำ 3 เรื่อง คือ 1.ควรมีการตรวจสอบคุณภาพการผ่าตัด ซึ่งการรวมศูนย์การผ่าตัดจะควบคุมคุณภาพการรักษาให้ดี ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ป่วยไปรับการผ่าตัดได้ทุกที่โดยไม่มีการควบคุมคุณภาพ  2.ต้องดูแลคนไข้ด้วยทีมสหวิชาชีพ ดูแลแบบองค์รวม และ 3.ควบคุมคุณภาพมาตรฐานของโรงพยาบาลที่ให้การรักษา”

ศ.นพ.บวรศิลป์ กล่าวว่า การใส่เพดานเทียม ที่ สปสช. ระบุให้แพทย์ใส่ให้คนไข้ทุกรายก่อนการผ่าตัดนั้น จากรายงานการวิจัยล่าสุดที่นำเสนอในการประชุมวิชาการของกลุ่มประเทศยุโรป ในช่วงวันที่ 24-27 มิถุนายน 2558 ที่ประเทศสวีเดน ระบุว่าการใส่เพดานเทียมในกลุ่มผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียว ก่อนการผ่าตัดนั้นไม่ได้ผล ไม่มีความจำเป็น เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ แต่ สปสช. ยังคงให้โรงพยาบาลทำอยู่ ดังนั้นจึงควรทบทวนนโยบายนี้ ไม่เช่นนั้นมาตรฐานการรักษาของไทยจะสวนทางกับนานาชาติ

ศ.นพ.บวรศิลป์ กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้เกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็กไทยนั้น บางส่วนอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างระบบการให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์ และ ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเด็กปากแหว่ง เช่น การให้มารดารับประทานโฟลิกในระยะเวลาที่เหมาะสมตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์เดือนแรก และต้องให้โฟลิกเฉพาะในมารดากลุ่มเสี่ยง ไม่ใช่การให้กระจายไปหมดทุกคน เพราะจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้มารดาจะต้อง ลด เลิกดื่มสุรา เหล้าดองยา สูบบุหรี่ และพฤติกรรมทำลายสุขภาพอื่นในช่วงตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น จัดทำระบบฐานข้อมูลในการติดตามคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะระบุว่าผู้ป่วยคนนี้เกิดเมื่อไหร่ ที่ไหน ได้รับการรักษาอะไรไปบ้าง ซึ่งหากมีการใช้แผนการรักษาตามช่วงวัยกับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทำให้ทราบว่าเด็กได้รับการผ่าตัดหรือไม่ หากยังไม่ได้รับการผ่าตัดก็จะได้ติดตาม เพื่อให้เกิดคุณภาพในการรักษา ซึ่งโปรแกรมฐานข้อมูลดังกล่าวได้ส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ร่วมกันแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการใช้เท่าใดนัก เห็นจากในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 7 ขอนแก่น ซึ่งมี 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด มีผู้ลงทะเบียนในฐานข้อมูลนี้เพียง 137 ราย ได้รับการผ่าตัด 121 ราย ทั้งที่ในช่วงที่ผ่านมา 2 ปีต้องมีผู้ป่วยอย่างน้อยตามหลักสถิติ  300 คน ทำให้ไม่สามารถติดตามคนไข้ได้    

“ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจน ทำให้คนไข้หลายคนไม่ยอมมารับการรักษาพยาบาล แม้สิทธิบัตรทองจะให้สิทธิผู้ป่วยในการรักษา ผ่าตัดฟรี แต่เด็กกลุ่มนี้ก็มารับการรักษาไม่ได้ เพราะไม่มีเงินมารับการรักษา ดังนั้นหากเป็นไปได้ต้องทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้ามารับการรักษาให้ ได้ และควรมีการสร้างกลุ่มที่จะเข้ามาดูแลกันเองให้ครอบคลุมทุกด้าน

ศ.นพ.บวรศิลป์ สะท้อนว่า หลังจากมีการแบ่งเขตการรักษาพยาบาล ตามเขตตรวจราชการของ สธ. ทำให้ผู้ป่วยเดิมที่เคยเข้ามารับการรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ ลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องติดตามดูแลกันตามช่วงอายุนั้น หายไปทางโรงพยาบาลไม่สามารถติดตามได้ บางรายก็ไม่สามารถเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้เช่นเดิม เนื่องจากติดปัญหาการส่งต่อ

“อยากให้โรงพยาบาลเอาผู้ป่วยเป็นหลักไม่ใช่เอางบประมาณเป็นหลักในการดำเนินงาน นโยบายเขตสุขภาพ (Service Plan) เป็นนโยบายที่ดีที่จะเพิ่มศักยภาพในการรักษาของโรงพยาบาลสังกัด สธ. แต่มีปัญหามากกับการส่งต่อคนไข้มารับการรักษา เพราะกลายเป็นว่าทางโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ส่งต่อคนไข้ให้เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกสังกัด ทำให้คนไข้ได้รับการรักษาล่าช้า เมื่อคนไข้ไม่ได้รับการรักษาในช่วงอายุที่ถูกต้องตามแผนการรักษา การรักษาก็จะยากลำบากขึ้น และคนไข้จะเสียประโยชน์” ศ.นพ.บวรศิลป์ กล่าว