นอกจากยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว กรมควบคุมโรค ยังมีหน้าที่จัดซื้อวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งความจริงก็มิใช่บทบาทหน้าที่โดยตรงของกรมควบคุมโรคที่แต่ก่อนชื่อว่ากรมควบคุมโรคติดต่อ เพราะโดยสถานะตั้งแต่แรกก่อตั้ง กรมนี้มีสถานะเป็นกรมวิชาการ มิใช่กรมที่สนับสนุนการจัดบริการ หน้าที่ในการจัดซื้อวัคซีน ควรเป็นหน้าที่ของอีกกรมหนึ่งคือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธาณสุข แต่เพราะเป็นธรรมชาติของหน่วยงานที่ชอบทำเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง กรมหรือกองวิชาการทั้งหลายจึงมีความพยายามดึงงานจัดซื้อจัดจ้างไปไว้ในมือ บางหน่วยงานที่มีสถานะเป็นหน่วยวิชาการ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน ก็พยายามทำหน้าที่ในการจัดทำตำรา คู่มือ และสื่อรณรงค์ต่างๆ
สมัยหนึ่ง กองแผนงานสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันยกฐานะเป็นสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยนักวิชาการหนุ่มคนหนึ่ง ได้พยายามผลักดันให้เรื่องการจัดซื้อวัคซีนกลับไปอยู่ถูกที่ถูกทาง คือ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.) แต่ด้วยความเกรงใจอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นไม่ปฏิเสธว่าการจัดซื้อวัคซีนควรอยู่ที่ สป. แต่ก็ขอร้องให้คงอยู่ที่กรมควบคุมโรคติดต่อต่อไป นักวิชาการหนุ่มไฟแรงผู้นั้น คือ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
การที่ สปสช. ดำเนินการจัดซื้อยาเอดส์โดยตรงจากองค์การเภสัชกรรม และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณลงได้ทันทีกว่าพันล้านบาท กรมควบคุมโรคซึ่งทำหน้าที่จัดซื้อวัคซีน ควรปรับปรุงแก้ไขระบบการจัดซื้อวัคซีนและระบบสต็อคเสียใหม่โดยเร็ว แต่หาได้มีการดำเนินไม่ ในฐานะกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมจึงแนะนำให้ สปสช. เป็นผู้จัดซื้อวัคซีนด้วยตนเอง เหมือนการจัดซื้อยาเอดส์ เพราะเป็นการจัดซื้อรวมโดยส่วนกลางเหมือนกัน มิได้กระจายให้โรงพยาบาลต่างๆ จัดซื้อเนื่องจากการจัดซื้อโดยส่วนกลางจะได้ผลดีกว่า ทั้งคุณภาพและราคา การเสนอให้ สปสช. จัดซื้อวัคซีนเอง นอกจากเพื่อประหยัดงบประมาณแล้ว ยังต้องการให้กรมควบคุมโรคกลับไปทำหน้าที่ของ “กรมวิชาการ” ให้ถูกฝาถูกตัวด้วย
กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วประเทศมายาวนาน ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่ “หนักอก” กันมานาน คือ เรื่องคุณภาพของวัคซีน เพราะในอดีตเมื่อมีรายงานผู้ป้วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โปลิโอ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เมื่อมีการออกไป “สอบสวนโรค” บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กที่ป่วยด้วยโรคเหล่านั้นได้รับวัคซีนครบถ้วน แต่ก็ยังป่วยเป็นโรค
เหตุการณ์เช่นนั้น เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักคือ (1) วัคซีนทุกชนิดป้องกันโรคไม่ได้ 100% การป่วยอาจเกิดจากเด็กคนนั้นอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่วัคซีนป้องกันไม่ได้ (2) เกิดจากวัคซีนที่ฉีดให้เสื่อมคุณภาพ ซึ่งสาเหตุหลัก คือ ระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain) ไม่ดี เช่น ตู้เย็นไม่สามารถรักษาอุณหภูมิได้ตามที่กำหนด การขนส่งวัคซีนโดยกระติกน้ำแข็ง อุณหภูมิไม่เย็นพอ เป็นต้น
น่าเชื่อว่า สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากกรณีที่สอง
การที่มีปัญหาเช่นนั้น เพราะกรมควบคุมโรค ซึ่งควรมีหน้าที่ทาง “วิชาการ” คือ การควบคุมระบบห่วงโซ่ความเย็นให้ดี แต่กลับทำหน้าที่หลัก คือ การจัดซื้อจัดหาวัคซีน ทำให้กำลังคนที่มีอยู่จำกัดมาให้ความเอาใจใส่เรื่องคุณภาพน้อยไป การที่เสนอให้ สปสช. จัดซือวัคซีนเอง จึงเป็นเรื่องที่กรมควบคุมโรคควรยินดี เพราะจะสามารถไปให้ความสนใจเรื่องคุณภาพวัคซีน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงได้เต็มที่ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกรมควบคุมโรคมีหนังสือ “คัดค้าน” เรื่องนี้ ทันที แต่เรื่องนี้ก็ดำเนินการจนสำเร็จ โดยอาศัยจังหวะดำเนินการตอนเดือนกันยายน ซึ่งผู้บริหารของกรมควบคุมโรคกำลังจะเกษียณอายุ
ผลเป็นไปตามที่คาดไว้ คือ (1) สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ทันทีราวร้อยละ 30 จากการตัดสต็อคที่กรม สำนักงานควบคุมโรคติดต่อเขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (2) กรมควบคุมโรคหันไปทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพวัคซีนอย่างจริงจัง มีการพัฒนาการควบคุมกำกับดูแล เรื่องห่วงโซ่ความเย็นอย่างเข้มงวดขึ้น มีการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feed back) แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคือองค์การเภสัชกรรมผู้ทำหน้าที่จัดหา และจัดส่งวัคซีน และหน่วยงานปลายทาง คือ โรงพยาบาล และสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีการเคร่งครัดในการบันทึกอุณหภูมิตู้เย็นเข้มงวดขึ้นมาก เชื่อว่า โดยระบบดังกล่าว จะทำให้คุณภาพวัคซีนดีขึ้นอย่างแน่นอน
ที่สำคัญ การตัดสต็อคที่กรม เขต และ จังหวัด ทำให้วัคซีนไม่ต้อง “เดินทางยอกย้อน” และไป “แวะพัก” ระหว่างทาง รวมทั้งการขนเข้าขนออกจากตู้เย็นหนึ่งไปยังอีกตู้เย็นหนึ่ง ย่อมทำให้วัคซีนอยู่ในระบบห่วงโซ่ความเย็นได้ดีกว่า
ก่อนหน้าจะดำเนินการเรื่องยาเอดส์และวัคซีน สปสช. ได้เข้าไป “บริหารจัดการ” งานอื่นๆ มาแล้ว ที่สำคัญคือ การจัดการเรื่องเลนส์ตา รักษาต้อกระจก และขดลวด (Stent) รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
ปัญหาต้อกระจก เป็น ปัญหาเรื้อรังมายาวนาน นั่นคือ คนไข้ที่เป็นต้อกระจกจนตาบอดมองไม่เห็น ต้องรอคิวผ่าตัด (Back log) กว่าแสนคน นอกจากเพราะหมอตามีจำกัด ยังเพราะมีการ “ทำมาหากิน” กับความทุกข์ยากของประชาชน ในช่วง 26 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2518-2544 นับตั้งแต่นโยบายรักษาฟรี ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้นมา งานนี้อยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุขมายาวนาน แต่ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เมื่อ สปสช. รับไม้มาทำหน้าที่ ก็เริ่มวิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหาอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งพบว่า ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้อยู่ที่ 2 จุด คือ (1) หมอตาที่มีอยู่ยังมิได้มีการบริหารจัดการให้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ (2) เลนส์เทียมในท้องตลาดราคาแพงมาก ซึ่งการแก้ปัญหา คือ (1) จะต้องจัดระบบจูงใจให้หมอตามาระดมกันเร่งผ่าตัดลดคิวยาวเหยียดลงให้ได้ โดยมีระบบการจูงใจ (Motivation) อย่างถูกต้องและเหมาะสม และ (2) จะต้องหาทางจัดซื้อเลนส์ตาที่มีคุณภาพดี ราคาถูก เพื่อให้สามารถเร่งรัดการผ่าตัดตามข้อ (1) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลของการร่วมมือกับจักษุแพทย์ส่วนหนึ่งที่สมัครใจ โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่ง ลงทุนพัฒนาหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ขึ้น ออกให้บริการทั่วประเทศ ซึ่งต่อมามีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาร่วมโครงการอย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพสูง คือ โรงพยาบาลศุภมิตร จังหวัดสุพรรณบุรี ขณะเดียวกัน สปสช. โดยการสนับสนุนของจักษุแพทย์ที่ร่วมโครงการได้ดำเนินการกำหนดสเปค หาแหล่งผลิตและจำหน่ายเลนส์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่ราคาย่อมเยา เพราะจัดซื้อในปริมาณมาก
เข้าตำราการค้าของจีนที่ว่า “ขายน้อยๆ กำไรมากๆ กำไรไม่มาก ขายมากๆ กำไรน้อยๆ กำไรไม่น้อย” ดังกล่าวแล้ว
จากราคาเลนส์ชนิดแข็งราว 6 พันบาท สปสช. ซื้อได้ในราคาเพียง 800 บาท ทำให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง หน่วยผ่าตัดตาเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และโรงพยาบาลศุภมิตร ยินดีออกไปให้บริการตามราคาที่ สปสช. กำหนด ซึ่งถูกกว่าราคาที่ผ่าตัดกับโรงพยาบาลเอกชนราว 20-50 เท่า ขณะเดียวกันแพทย์ที่ให้บริการก็ได้ค่าตอบแทนมากพอสมควรเพราะสามารถให้บริการได้คราวหนึ่งๆ จำนวนมาก ปัจจุบันมีการให้ใช้เลนส์ชนิดพับได้ทำให้ต่อรองราคาได้จาก 2-3 หมื่นบาทเหลือเพียง 2,800 บาท ซึ่งก็ถูกกว่าราคา “ท้องตลาด” มาก โดยมาตรฐานเลนส์เป็นชนิดเดียวกันกับที่ผ่าให้ข้าราชการ
เรื่องขดลวดหัวใจ (Stent) ก็เช่นเดียวกัน จากราคาที่กรมบัญชีกลางกำหนดให้โรงพยาบาลต่างๆ เบิกให้แก่คนไข้สวัสดิการข้าราชการได้ชิ้นละ 85,000 บาท มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจมาช่วยกำหนดสเปค และหาแหล่งจำหน่าย ได้ราคาเพียงชิ้นละ 35,000 บาท สปสช. จึงสามารถให้บริการรักษาโรคหัวใจให้แก่ประชาชนได้อย่างกว้างขวาง โดยมีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนเข้าร่วมหลายแห่ง ทั้งโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคหัวใจอยู่เดิม และโรงพยาบาลบางแห่งในส่วนภูมิภาคที่ สปสช. ไปลงทุนพัฒนาให้สามารถรักษาได้ เรียกว่าไปช่วยพัฒนา “ศูนย์ความเป็นเลิศ” (Excellent Center) ขึ้นในส่วนภูมิภาค เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ และเพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการเดินทางเข้ามารับบริการในกรุงเทพฯ ด้วย
แต่หนทางก็ “มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” เมื่อปี 2552 มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เข้าร่วมโครงการรักษาโรคหัวใจ แต่เบิกเงินกับ สปสช. โดยคิดค่าขดลวดหัวใจ ที่ราคา 85,000 บาท แทนที่จะเบิกเพียง 35,000 บาท รวมเบิกเกินไปถึง 27.7 ล้านบาท สปสช. ตรวจพบ ทำให้เกิดเป็นกรณีพิพาท และเรียกเงินคืน สามารถรักษาเงินภาษีของประชาชนไว้ได้ จากการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงของ สปสช. แทนที่อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เหล่านี้ ราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่แล้วๆ มา กลับซื้อได้ในราคาถูกลงมาก กล่าวคือ ปัจจุบัน สปสช. สามารถซื้อขดลวดชนิดอาบน้ำยา (Drug eluting stent) ได้ในราคาเพียงชิ้นละ 12,000 บาท แต่กรมบัญชีกลางซึ่งดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ยังยอมให้เบิกได้ในราคาถึง 35,000 บาท ขดลวดไม่อาบน้ำยา (Bared metal stent) สปสช. จัดซื้อได้ในราคาชิ้นละ 5,000 บาท แต่กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ในราคาชิ้นละ 12,000 บาท
ผลจากการลดราคาในการจัดซื้อเช่นนี้ ประชาชนได้ประโยชน์ชัดเจน แต่ย่อมมีผู้เสียผลประโยชน์นอกจากจะไม่ได้รับคำชมเชยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยตรวจสอบอย่าง สตง. สปสช. กลับมีศัตรูเพิ่มขึ้น เพราะเป็นตัวการทำให้ “เสียราคา” ลดกำไรเป็นกอบเป็นกำที่เคยได้รับสบายๆ แต่ก่อนลงไปเป็นอันมาก
ยุทธวิธีหนึ่งของ “ศัตรู” เหล่านี้คือการตั้งประเด็นกล่าวหาว่า สปสช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อจัดหาหยูกยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ วิธีการคือการเปิดกฎหมาย คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เมื่อไม่พบว่ามีการเขียนไว้ชัดๆ ในเรื่องนี้ ก็ “หาเรื่อง” กล่าวหาโดยเริ่มต้นจากการเข้าหาผู้มีอำนาจในระบบการเมืองสามานย์ ตั้งประเด็น ซึ่งก็มีการ “รับลูก” ต่อมา
น่าสังเกตว่า คนเหล่านี้ไม่เคยตั้งประเด็นกับกรมควบคุมโรค ที่จัดซื้อยาเอดส์และวัคซีนเลย ทั้งๆ ที่กรมควบคุมโรค ก็มิได้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐาน ขอให้ดูภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมโรคตาม “กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552” ดังนี้
“ข้อ 2 ให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการเพื่อการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพ โดยมีการศึกษา วิจัย พัฒนา รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม วินิจฉัย และรักษาโรค และภัยที่คุกคามสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีจากการป้องกันและการควบคุมโรค และภัยที่คุกคามสุขภาพโดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สุบบุหรี่ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อนุสัญญาหรือกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(2) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการเฝ้าระวัง ป้องกันและการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพของประชาชน
(3) เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานทางด้านวิชาการ เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม วินิจฉัย และรักษาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ
(4) กำหนดและพัฒนานโยบาย กฎหมาย มาตรการและคุณภาพมาตฐานการดำเนินงานในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพของประชาชน
(5) ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน
(6) จัด ประสาน และพัฒนาระบบ กลไกและเครือข่ายในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน และการควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพ รวมทั้งสื่อสัญญาณเตือนภัยการระบาดของโรค แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
(7) จัดให้มีบริการเพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยโรคติดต่อเฉพาะ โรคติดต่อสำคัญ และโรคติดต่อร้ายแรงในระดับตติยภูมิ และกักกันผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
(8) จัดให้มีบริการป้องกัน ควบคุม รักษา และฟื้นฟูสภาพโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพ ตลอดจนแหล่งแพร่โรค เพื่อให้ได้องค์ความรู้ในการพัฒนาวิชาการตามภารกิจของกรม
(9) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรืองอค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และการควบคุมโรค และภัยที่คุกคามสุขภาพกรณีที่เป็นปัญหาวงกว้าง เกิดโรคระบาดรุนแรง หรือมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเป็นปัญหารุนแรง
(10) ดำเนินการร่วมกับนานาประเทศหรืององค์การระหว่างประเทศในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคและปัญหาสุขภาพระหว่างประเทศ
(11) พัฒนาระบบและกลไก เพื่อให้มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ
(12) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
จะเห็นว่า กฎกระทรวง มิได้กำหนดภารกิจให้กรมควบคุมโรค มีหน้าที่ในการจัดซื้อเวชภัณฑ์เลย และในอำนาจหน้าที่ ก็มีกำหนดไว้ในข้อ (3) เพียงให้ “เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานทางด้านวิชาการ เวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม วินิจฉัยและรักษาโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ” เท่านั้น ไม่มีคำใดระบุให้เป็นผู้ “จัดซื้อ หรือ จัดหา” เลย เพียงให้เป็นศูนย์กลางในการ “ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน” เท่านั้น และจำกัดเฉพาะ “โรคอุบัติใหม่ และ โรคอุบัติซ้ำ” เท่านั้นด้วย แต่กรมควบคุมโรคก็ทำหน้าที่ในการจัดซื้อเวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาโดยตลอด
ขณะที่ สปสช. มีกำหนดไว้ในกฎหมายมาตรา 38 ใช้คำว่า “สนับสนุน” เหมือนกัน คือให้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ” โดยในมาตรา 3 ได้กำหนดคำจำกัดความ “ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข” ให้หมายความครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ รวม 12 รายการ ซึ่งในข้อ (5) คือ “ค่ายา เวชภัณฑ์ ค่าอวัยวะเทียม และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์”
การดำเนินการของ สปสช. จึงเป็นสิ่งที่ควรชื่นชมยินดี และสนับสนุนให้ “เดินหน้า” ต่อไป เพราะเดินมาถูกทางแล้ว สามารถใช้เงินภาษีอากรของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง และแก้ปัญหาทุกข์ยากของประชาชน เพื่อ “ประโยชน์สุข” ของประชาชนอย่างแท้จริง
ติดตามต่อ ตอนที่ 8
- 36 views