ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อเขียนจาก ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ระบุว่า หลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นมากสำหรับคนไทย ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่ประชานิยม ถ้าหากนักการเมืองเลวๆ กับกลุ่มคนเลวๆ ร่วมมือกับข้าราชการเลวๆ บางส่วน ร่วมมือกันทำให้มันเป็นประชานิยมเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง “คนทุกคนควรได้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพพอสมควรอย่างมีเหตุผล สิ่งที่ควรทำคือปฏิรูประบบนี้ให้ดีให้เหมาะสมกับประเทศของเรา สร้างระบบที่ไม่ให้นักการเมืองเลวและข้าราชการเลวๆ รวบอำนาจกุมอำนาจในมือมากเกินไป จนเกิดความฉ้อฉล”

ไม่ได้ล้มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่โปรดขจัดเหลือบไรปรสิตออกไป และปฏิรูปให้ประชาชนคนยากจนได้รับการดูแลที่ดียิ่งกว่าเดิม

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นมากสำหรับคนไทย โดยเฉพาะคนที่ยากจน เราไม่อยากเห็นคนตายข้างถนน ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่ประชานิยม ถ้าหากนักการเมืองเลวๆ กับกลุ่มคนเลวๆ ร่วมมือกับข้าราชการเลวๆ บางส่วน ร่วมมือกันทำให้มันเป็นประชานิยมเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง

โดยเนื้อแท้ระบบประกันสุขภาพเป็นสวัสดิการสังคมที่จำเป็นและต้องมีอยู่ในสังคมไทย คนทุกคนควรได้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพพอสมควรอย่างมีเหตุผล สิ่งที่ควรทำคือปฏิรูประบบนี้ให้ดีให้เหมาะสมกับประเทศของเรา สร้างระบบที่ไม่ให้นักการเมืองเลวและข้าราชการเลวๆ รวบอำนาจกุมอำนาจในมือมากเกินไป จนเกิดความฉ้อฉล

ปัญหาในเรื่องการใช้งบประมาณอย่างไม่ถูกต้องของ สปสช. นั้น ทาง คตร. ปปง. สตง. และ ป.ป.ท. ได้ดำเนินการตรวจสอบและพบข้อพิรุธที่น่าจะสงสัยได้ว่าจะมีการทุจริต และยังกระทำผิดกฎหมายไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปจ่ายให้ NGOs เพื่อสร้างฐานเสียงทางการเมืองและมวลชนจำนวนมากอันอาจจะเป็นภัยความมั่นคงของชาติได้ การนำเงินไปจัดซื้อจัดยาต่างๆ โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพราะยาที่จัดซื้อโดยองค์การเภสัชกรรมไม่ต้องขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยา ทำให้ขาดการตรวจสอบคุณภาพ ทั้งยังมีการให้เงินคืน (Rebate) เข้ามาใน สปสช แทนที่จะนำไปให้โรงพยาบาลซึ่งเป็นหน่วยบริการอย่างเต็มที่ ผลของการทุจริตดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลไม่ได้เงินที่สมควรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขาดทุน และประชาชนได้รับการบริการที่แย่ลง นอกจากนี้การบังคับให้รักษาตาม guideline ที่สปสช กำหนด ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากกว่าสิทธิอื่นดังที่ ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์แห่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ออกมาแถลงผลการศึกษาว่า “หลังจากผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปีเข้ารับการรักษา 40 วัน พบว่า 57% ผู้ป่วยระบบข้าราชการ ยังคงมีชีวิตอยู่ และ 29% ผู้ป่วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ยังคงมีชีวิตอยู่”

เราไม่เคยต้องการล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเลย แต่ไม่ต้องการเห็นระบบที่ไม่สมดุลย์จนต้องประหยัดค่ารักษาจนตัดหรือลดสิทธิผู้ป่วยในการรักษาโรคที่เสี่ยงต่อความตายหรือพิการ ไม่ต้องการเห็นโรงพยาบาลขาดทุนต่อเนื่องจนล้มทั่วประเทศ ไม่ต้องการเห็นภาระงบประมาณที่สูงจนรัฐบาลรับไม่ไหว และไม่ต้องการเห็นแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักจนหมดสภาพ

การเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นคือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการใช้เหตุผล มีความพอเพียงและมีภูมิคุ้มกันในระบบสาธารณสุขในทุกมิติ อยากให้สังคมไทยอยู่กันด้วยจิตสำนึกสาธารณะ อยากให้คนที่มีฐานะร่วมจ่ายเป็นผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน คนจนต้องได้สิทธิมากกว่าคนมีสตางค์ และคนมีสตางค์ควรต้องจ่ายเพื่อให้เกิดความเกื้อกูลกับระบบและส่วนรวม ไม่ใช่ไปใช้ของฟรี คนมีเงินเป็นสิบๆ ล้าน ร้อยล้าน ไม่ควรไปใช้บริการบัตรทองฟรี และรัฐบาลควรสร้างระบบที่ทำให้คนมีเงินเต็มใจควักเงินออกมาจ่ายเพื่อให้ได้รับบริการที่ดีกว่า รวดเร็วกว่า สะดวกกว่า เพื่อนำผลกำไรไปช่วยเหลือเจือจานคนยากจน ซึ่งควรได้รับสิทธิที่ดียิ่งกว่าคนมีฐานะทางการเงินดี สุดท้ายเราอยากเห็นการรักษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาแพทย์ในทุกๆ สิทธิไม่ว่าจะจนหรือรวย

ด้วยจิตคารวะ

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ (ขอบคุณภาพจากรายการคมชัดลึก)

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร (ขอบคุณภาพจากรายการคมชัดลึก)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

งานวิจัยของทีดีอาร์ไอที่อาจจะ.. ทำให้คนไทยรอดตาย !

ความโปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อน และจริยธรรมทางวิชาการ