ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ข่าวสด : คำสั่ง ม.44 เด้งเลขาธิการสปสช. ดูเผินๆ เหมือน "เสมอกัน" Win-Win Lose-Lose ระหว่าง "คนดี" 2 ข้างในกระทรวงสาธารณสุข อ้าว ปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ก็โดน หมอวินัย สวัสดิวร ก็โดน "โดนทั้งคู่" ฟังเหมือนยุติธรรม แต่ระวังนะครับ มันอาจไม่ใช่การหย่าศึก ยิ่งกว่านั้นยังอาจบานปลายไปกระทบนโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" และกระทบรัฐบาล

โดยเฉพาะเมื่อท่านนายกฯ ลั่นเปรี้ยง "30 บาทเป็นประชานิยม" งบประมาณไม่พอ โรงพยาบาลจะเจ๊ง ประเทศไทยพร้อมหรือยัง ฯลฯ แม้ท่านบอกว่ายกเลิกไม่ได้ แต่การที่ผู้มีอำนาจสูงสุดพูดอย่างนี้ พวกโจมตี 30 บาทก็ได้ใจสิ ขณะที่พวกเครือข่ายตระกูล ส. หมอชนบท ภาคประชาสังคม ก็เต้น ฟุตเวิร์กกันใหญ่

คราวนี้ไม่ใช่น่าห่วงแค่ 30 บาท แต่น่าห่วงลุงตู่ด้วย เล่นกับใครไม่เล่น เล่นกับเครือข่ายล้มรัฐบาลมาทุกยุค ฮิฮิ

30 บาททำให้ร.พ.เจ๊งจริงไหม ก่อนอื่นต้องบอกว่า ร.พ.หลายแห่งกำลังจะเจ๊งจริง แต่มีหลายสาเหตุ ไม่ใช่โทษ สปสช.แต่ผู้เดียว ฟังความกลางๆ การบริหารของ สปสช. ก็มีปัญหา (แต่ไม่ใช่ทุจริต) กระนั้นต่อให้ สธ.บริหารเอง ก็มีปัญหาอยู่ดี

เรื่องที่ว่าเจ๊งๆ นี่ อ.อัมมาร สยามวาลา ก็ตรวจบัญชีแล้ว พบว่าตัวเลขผิด 2 พันกว่าล้าน ร.พ. 100 กว่าแห่งที่ว่าวิกฤต จริงๆ มีปัญหาราว 50 แห่ง แต่เอาละ มีปัญหาจริง

30 บาททำให้รัฐบาลใช้เงินมากขึ้นจริงไหม จริงครับ แต่ 30 บาทไม่ใช่ "ประชานิยม" ฟุ่มเฟือย เพราะมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกด้านก็เป็นการกระจายงบประมาณอย่างเท่าเทียม

ก่อนมี 30 บาท รัฐก็ให้งบบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว อ้าวก็ ร.พ.รัฐ ตรวจฟรี ตึกฟรี มีแค่ค่ายา แต่การให้งบในอดีตให้ตามขนาด ร.พ.ใหญ่เล็ก ไม่สมดุลกับประชากร เช่น ร.พ.อำเภอ 2 แห่งมีประชากร 3 หมื่นเท่ากัน แต่ ร.พ.A ใกล้เมืองกว่า มี 60 เตียง มีหมอ 6 คน ร.พ.B มี 30 เตียง มีหมอ 3 คน ก็ได้งบต่างกัน 2 เท่า

30 บาทปฏิรูประบบโดยตั้ง สปสช.มา "ซื้อประกันเหมาจ่ายรายหัว" สมมติหัวละ 2 พัน 2 ร.พ.ก็ได้ 60 ล้านเท่ากัน รับเงินก้อนไปบริหารจัดการเอง ตั้งแต่ค่าหมอ ค่ายา ถึงค่าน้ำ ค่าไฟ นี่คือหัวใจของ 30 บาท "ถ้วนหน้าและเท่าเทียม" ซึ่งแน่ละมันทำให้เกิดปัญหาตามมา แต่จะเอาปัญหาไปล้มความ "ถ้วนหน้าและเท่าเทียม" หรือ ปัญหาที่เกิดก็มีตั้งแต่บุคลากร เช่น ร.พ.A อยู่ไม่ได้ จะบีบหมอย้ายก็ลาออก สปสช.จึงต้องแยกงบเงินเดือนต่างหาก ปัญหาส่งต่อผู้ป่วย ถ้าเจอโรคยาก ร.พ.อำเภอรักษาไม่ได้ต้องส่งจังหวัด ส่งศิริราช แพงมากจะทำไง (ชักยึกยักไม่อยากส่ง) สปสช.ก็ต้องตั้งกองทุนโรคเฉพาะ พร้อมกับตั้งมาตรฐานราคา ระบบ DRG คิดค่ารักษาผู้ป่วยใน

ตรงนี้ที่เป็นประเด็นทะเลาะกันใหญ่ เช่นที่ ร.พ.อ้างว่า สปสช.ค้างจ่าย เก็บตังค์ไม่ได้บานเบอะ เรื่องจริงก็คือคิดราคาต่างกัน ร.พ.คิดเกิน DRG สปสช.ต้องจ่ายตามมาตรฐาน แต่ฝ่ายโจมตีพูดราวกับสปสช. "อมตังค์" ทั้งที่จ่ายไปหมดเกลี้ยง

ถามว่า สปสช. "กั๊ก" จริงไหม ฟังคนกลางๆ ก็บอกว่า สปสช.ตั้งกองทุนมากไป บางเรื่องส่งให้ร.พ.หรือให้สธ.จัดการดีกว่า แต่กองทุนโรคยากราคาสูงยังจำเป็น ฝ่ายโจมตีก็เล่นงานเกินไป เช่นที่ว่า stent โรคหัวใจไม่มีคุณภาพ ซื้อเหมาโหล ตายมากกว่าราชการ อ้างงานวิจัย TDRI ฯลฯ ความจริงคือ สปสช.ซื้อ stent "เหมาโหล" จริงครับ ซื้อได้ถูกลงจาก 35,000 บาทเหลือ 6,400 บาท ได้มาตรฐานยุโรป อเมริกา อ้าวซื้อทีละเยอะๆ ย่อมถูกกว่า ซื้อแพงเดี๋ยวก็ว่าเจ๊งอีก

ที่ว่าตายมากกว่าราชการยิ่งตลก งานวิจัยไม่ได้พิสูจน์ทางการแพทย์ แค่เปรียบเทียบคนรักษา 2 ระบบ แล้วบอกว่าชาวบ้านจนๆ มีอัตราตายมากกว่าข้าราชการเมื่อผ่านไป 6 ปี ยิ่งโจมตีกันยิ่งไร้สาระ แค่ต้องการยึดอำนาจจากขั้วหนึ่งกลับไปอีกขั้วหนึ่ง ทั้งที่ 2 ขั้วควรนั่งคุยกัน

น่าสังเกตว่ากระแสโจมตี 30 บาทรอบนี้มาพร้อมความรังเกียจ "ประชานิยม" คนชั้นกลางระดับบน คนมั่งมี เชื่อว่าตัวเองคือผู้แบกภาระภาษี หาเงินเพื่อชาติตัวเป็นเกลียว กลับถูกคนจนเอาเปรียบ ดังมีแพทย์เอกชนรายหนึ่งกล่าวไว้ว่า

"ป่วยก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะมีคนรับผิดชอบให้ ไปรักษาแล้วไม่พอใจไม่สุขใจก็ร้องเรียน ก็ได้เงินกลับมาใช้อีก เหมือนเราไปสร้างพฤติกรรมว่าตายในม็อบได้เงินชดเชย 7.5 ล้านบาท  มันกลายเป็นการไม่ส่งเสริมให้คนทำในสิ่งที่ถูกต้อง"

ที่มา : นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 4 ก.ค. 2558 คอลัมน์ใบตองแห้ง