ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติ ครม. เห็นชอบให้ สธ.ลงนามข้อตกลงดำเนินงานกับกองทุนโลก ยุติปัญหาเอดส์และหยุดยั้งวัณโรคปี 58-59 งบประมาณ 788 ล้านบาท หลัง สธ.ได้รับงบสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 46 จนถึงปัจจุบัน ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย ผลสัมฤทธิ์ในการลดปัญหาสาธารณสุขจากทั้งสามโรค ส่งผลให้ประชาชนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นดังจะเห็นได้จากอัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่ลดลง การรักษาวัณโรคมีอัตราการหายสูงขึ้น และอัตราการเกิดโรคไข้มาลาเรียลดลงอย่างมาก

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกับกองทุนโลก (The Global Fund) สำหรับโครงการยุติปัญหาเอดส์และหยุดยั้งวัณโรค พ.ศ. 2558 -2559

2. มอบให้ สธ. โดยกรมควบคุมโรค เป็นผู้ลงนามข้อตกลงการดำเนินงานกับกองทุนโลก (The Global Fund) โครงการยุติปัญหาเอดส์และหยุดยั้งวัณโรค พ.ศ. 2558 -2559

สาระสำคัญของเรื่อง สธ. รายงานว่า

1. สธ. ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบันเป็นมูลค่ารวมกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการลดปัญหาสาธารณสุขจากทั้งสามโรค ส่งผลให้ประชาชนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นดังจะเห็นได้จากอัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่ลดลง การรักษาวัณโรคมีอัตราการหายสูงขึ้น และอัตราการเกิดโรคไข้มาลาเรียลดลงอย่างมาก

2. กองทุนโลกเห็นชอบที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินงานโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ โดยจะสนับสนุนงบประมาณให้กับกรมควบคุมโรค สธ. เพื่อดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2558 -2559 เป็นจำนวนเงิน 24,354,843 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 788,693,100 บาท โดยประมาณที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 30 บาท โดยกำหนดให้หน่วยงานรับทุนลงนามในสัญญาสนับสนุนทุน (Stand-alone Grant Agreement DDC) โดยการดำเนินกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคเอดส์และวัณโรค ในระยะที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้มีการลงนามข้อตกลงในการดำเนินการกับกองทุนโลก แต่ในครั้งนี้เนื่องจากมีประเด็นสำคัญเพิ่มเติมมาจากข้อตกลงเดิม โดยในเอกสาร Grant Regulations (2014) ที่ใช้กำกับข้อตกลงในการขอรับทุนนั้นมีสาระสำคัญในเรื่องการขอให้ประเทศผู้รับทุนพิจารณาให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน (Privileges and lmmunities) และการขอให้ยกเว้นทั้งในส่วนภาษีการนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการใช้จ่ายเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก

3. การปฏิบัติตามข้อตกลงการดำเนินงาน (Stand Alone Agreement) และบังคับใช้ Grant Regulation (2014) เป็นเรื่องที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ การยอมรับในเงื่อนไขกรณีที่ไม่สามารถยกเว้นภาษีให้แก่การใช้เงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลกอาจจะถูกพิจารณาปรับลดเงินทุนที่จะให้การสนับสนุนหรืองดส่งเงินทุนงวดถัดไปจนกว่าจะได้รับเงินจากการจ่ายภาษีนั้นคืนเข้าบัญชีเงินทุนของกองทุนโลก เป็นดุลยพินิจของประเทศเจ้าภาพที่จะต้องตัดสินใจว่าจะยอมรับเงื่อนไขตามที่ระบุในข้อตกลงการดำเนินงานหรือไม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง