ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : “ยงยุทธ” ขอตรวจสอบข้อมูล ป.ป.ช. สอบ “หมอรัชตะ-หมอสมศักดิ์” ด้าน “หมอวิชัย” แนะนายกฯ ทบทวนคำสั่งย้าย หมอวินัย เชื่อคนใกล้นายกฯ เป่าหูช่วยเพื่อน ขณะที่ “หมอประชุมพร” ยันข้อมูลผลวิจัยบัตรทองตายสูงกว่าจริง

นสพ.มติชน : ภายหลังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 19/2558 เรื่อง แต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น เนื่องจากเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงานอันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปราชการแผ่นดิน ซึ่งมีข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นรวม 71 คน ถูกระงับการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะกรณี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากคำสั่งให้หยุดปฏิบัติงานเลขาธิการเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมแพทย์ชนบท ออกมาปกป้องและจี้ให้หัวหน้า คสช.ทบทวนคำสั่ง ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขส่อวุ่นวายไม่หยุด เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการ กล่าวหา นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. จงใจตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ส่อมีผลประโยชน์ทับซ้อน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสาธารณสุขว่า ทั้งการย้าย นพ.วินัย และคำสั่ง ป.ป.ช. เป็นปัญหาการเมืองภายหลัง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ถูกสั่งย้ายหรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากที่ นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตผู้อำนวยการ สวรส. ที่ถูกคณะกรรมการ สวรส. ให้ออกจากตำแหน่งไปแล้ว และไปร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ส่วนจะให้ทั้ง 2 รัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้นต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป แล้วแต่ว่าเป็นเรื่องอะไร เบื้องต้นคงต้องตรวจสอบข้อมูลก่อน อาจจะเป็นเพียงเรื่องเก่า

นพ.รัชตะกล่าวว่า เรื่องนี้ให้เป็นไปตามกระบวนการของ ป.ป.ช. ส่วนตัวยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ว่าการถูกตั้งอนุกรรมการสอบครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อการปรับ ครม.หรือไม่ นพ.รัชตะกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ก็ยังทำงานกันต่อไป

ย้ำแขวน 'หมอวินัย' ต้องทบทวน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ขอย้ำว่าคำสั่ง คสช.ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งย้าย นพ.วินัยถือเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะปกติการย้ายโดยใช้มาตรา 44 ควรจำเพาะบุคคลมีปัญหาทุจริต ประพฤติมิชอบ ทำงานล่าช้า ซึ่งหากปล่อยไปจะเกิดความเสียหาย แต่ นพ.วินัย ไม่ได้เข้าเกณฑ์ เพราะหากพิจารณาการบริหารเห็นได้ว่าประชาชนเข้าถึงบริการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปัจจุบันพบว่ามีคนใช้บริการถึง 3.6 ล้านครั้งต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2546 มีคนใช้บริการเพียง 1.7 ล้านครั้งต่อปีเท่านั้น ขณะที่ข้าราชการท้องถิ่น อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เทศบาลต่างๆ ยังเห็นถึงการบริหารจัดการที่ดีของ สปสช. ขอให้ สปสช.มาช่วยดำเนินการเรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาล จากเดิมบริหารงบสุขภาพกันเองใช้เงินถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี ล่าสุด สปสช.บริหารเหลือเพียง 4,000 ล้านบาทต่อปี จึงไม่เข้าใจว่า นพ.วินัย บกพร่องอย่างไร และหากพูดถึงการทุจริตหรือการบริหารกองทุนที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนเหมือนที่ นพ.ณรงค์ พูดเสมอ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะข้อมูลชัดเจนว่าโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องมาจากหลายส่วน และส่วนสำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินที่ สปสช.จัดสรรเลย ดังนั้น การใช้อำนาจเช่นนี้ถือเป็นการใช้อำนาจที่เสื่อม สมควรต้องทบทวน

เชื่อคนใกล้นายกฯเป่าหูช่วยเพื่อน

"ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ท่านหวังดีและอยากให้ประสิทธิภาพการทำงานแต่ละส่วนดีขึ้น แต่ผมคิดว่ากรณีย้าย นพ.วินัย น่าจะมาจากคนรอบตัวนายกฯ ที่ถือโอกาสช่วยเพื่อน ช่วย นพ.ณรงค์หรือไม่ เรียกว่าเกลือเป็นหนอน โดยเอาคืนด้วยการให้ นพ.วินัยถูกย้าย แบบนี้หัวหน้า คสช. ต้องเร่งทบทวน และพิจารณาว่าแท้จริงเป็นอย่างไร เพราะหากเทียบกับกรณี นพ.ณรงค์ ที่ถูกย้าย คงไม่ได้ กรณี นพ.ณรงค์สร้างความเสียหาย สร้างความแตกแยกหรือไม่ ไม่ให้ รพ.ร่วมมือทำงานกับ สปสช. แบบนี้งานไม่เดิน รัฐมนตรีว่าการ สธ.ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. สั่งอย่างหนึ่ง ปลัด สธ.ไปสั่งอีกอย่าง งานจะเดินอย่างไร" นพ.วิชัยกล่าว

เมื่อถาม ป.ป.ช.ตรวจสอบ นพ.รัชตะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี เหมือน นพ.ณรงค์หรือไม่ นพ.วิชัยกล่าวว่า คนละเรื่อง เพราะการถูกร้องเรียนนั้น เป็นเรื่องปกติ โดยหาก ป.ป.ช.รับเรื่องและตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็จะพิจารณาก่อนจะชี้มูลว่าผิดจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ใช้เวลาอีกนาน ที่สำคัญยังไม่ได้บอกว่ารัฐมนตรีผิด ดังนั้น ยังทำงานต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างจาก นพ.ณรงค์ มีข้อมูลชัดเจนว่า ขัดนโยบายรัฐมนตรีและรัฐบาล เพราะสร้างความแตกแยก และปลุกปั่นไม่ให้ รพ.ในสังกัดส่งข้อมูลเบิกจ่ายให้ สปสช. ที่สำคัญไม่ให้ความร่วมมือ แม้รัฐมนตรีจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบตามข้อร้องเรียนว่า โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องเพราะการบริหาร สปสช. แต่สุดท้าย นพ.ณรงค์ ก็ไม่เข้าร่วม ไม่ให้ข้อมูลใดๆ จึงทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสั่งย้าย ซึ่งถูกต้องแล้ว

สปสช.เข้าชื่อขอความเป็นธรรม

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวใน สธ.ขอให้ นพ.ณรงค์ กลับมาทำงาน นพ.วิชัยกล่าวว่า หากมีบุคคลใดให้ นพ.ณรงค์กลับมา สธ. ถือว่าทำบาปและผิดมหันต์ เพราะจะทำลายระบบสุขภาพ เนื่องจาก นพ.รัชตะ จะเดินหน้างาน สธ. แต่ นพ.ณรงค์ ทำคนละอย่าง มีคำสั่งคนละแบบ ผู้ปฏิบัติก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มองว่ากรณี ป.ป.ช.ตั้งสอบสวน นพ.รัชตะ กับกรณี นพ.ณรงค์ คนละส่วน ไม่ควรนำมาเกี่ยวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ สปสช. ในนามชมรมรักษ์ สปสช. อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ นพ.วินัย โดยมีการส่งต่อเมล์ และเชิญชวนกัน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ สปสช.ทั้งส่วนกลางและสาขาเขตมีทั้งหมด 800-900 คน จะรวบรวมรายชื่อเบื้องต้นในวันที่ 29 มิถุนายน ก่อนจะกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวต่อไป

ยันผลวิจัย 'บัตรทอง' ตายสูง

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ แพทย์ด้านพยาธิวิทยาโรงพยาบาลสุรินทร์ และประชาคมสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีการย้าย นพ.วินัย ชัดเจนในเรื่องการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตรงที่ทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง จากการจัดสรรเงินด้วยวิธีจำเพาะของ สปสช. ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะเดียวกันแม้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น ซึ่งถือว่าดี แต่ในเรื่องของผลการวิจัยของสถาบันวิจัยพัฒนาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตายสูงกว่าสิทธิข้าราชการมากถึงร้อยละ 70 นั้น เรื่องนี้ สปสช.ต้องยอมรับ และออกมาเปิดเผยผลงานวิจัยชัดๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหากผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงแล้ว ต้องมาดูถึงสาเหตุ ซึ่งหากพูดถึงแพทย์ คิดว่าไม่เกี่ยว เพราะแพทย์คนเดียวกันก็รักษาทุกสิทธิเหมือนกัน แต่น่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องของยา ผู้ป่วยบัตรทองจะถูกบังคับให้ใช้ยาบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้เกินจากนี้ไม่ได้ และแพทย์ก็ไม่กล้าสั่งจ่ายให้คนไข้ด้วย แม้ยานั้นจะจำเป็นต่อการรักษาก็ตาม เพราะแพทย์จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนั้นเอง เนื่องจากนโยบายของ สปสช.กำหนดว่าคนไข้ห้ามจ่าย แม้คนไข้จะยินยอมจ่ายเพื่อได้รับยาที่ดีขึ้นก็ทำไม่ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้น โดย สปสช.ติดต่อกลับมายังผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้คืนเงินผู้ป่วย แพทย์ก็ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ ทำให้ไม่มีแพทย์คนไหนกล้าสั่งยานอกเหนือบัญชี

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 29 มิถุนายน 2558 จากข่าว ส.อบจ.ขอความเป็นธรรม บอร์ดสปสช.โวยถูกเอาคืนล่าชื่อต้านย้าย'หมอวินัย'