ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทัศนา” นายกสภาการพยาบาล ห่วงคำสั่งให้ สปสช.ชะลอจ่ายเงินเยียวยาผู้ให้บริการทางการแพทย์กระทบพยาบาล หลังผลสอบ คตร.พบใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ชี้มีผลกระทบต่อพยาบาลในฐานะด่านหน้าของระบบรักษาพยาบาล ที่ต้องมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และเสี่ยงติดเชื้อโรคจากผู้ป่วย พร้อมชี้หาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ไม่เปิดช่องหรือไม่ชัดเจน ควรแก้ไข เพื่อให้เป็นระบบธรรมาภิบาลดูแลทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

นางสาวทัศนา บุญทอง

นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายกสภาการพยาบาล กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจพบว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ให้บริการในกรณีได้รับความเสียหายจากการให้บริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผิดวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ส่งผลกระทบต่อพยาบาล เพราะพยาบาลถือเป็นด่านหน้าของระบบรักษาพยาบาล และยังเป็นวิชาชีพกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบสุขภาพ การทำงานผลัดเวรตลอด 24 ชั่วโมง มีความเสี่ยงอันตรายอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคจากผู้ป่วย และหากไปดูสถิติย้อนหลังจะพบว่า พยาบาลเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการมากที่สุดในทุกระดับ 

นางสาวทัศนา กล่าวว่า คำสั่ง คตร.เป็นการพิจารณาตามกฎหมาย โดยดูจากข้อกฎหมายเป็นหลัก หาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ไม่ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการ หรือไม่ชัดเจนเพียงพอก็ต้องมีการแก้ไข เพราะเป้าหมายสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือต้องทำให้คนไทยทุกคนได้รับการดูแลด้านการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ดังนั้นจึงต้องดูแลทั้งในส่วนผู้รับบริการและผู้ให้บริการ นับเป็นหลักการโดยทั่วไป เพราะหากการดูแลไม่ครอบคลุมถึงผู้ให้บริการเท่ากับระบบไม่มีธรรมาภิบาล

“การพิจารณาของ คตร.ต้องดูจากข้อกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งเราต้องดูว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ต้องดูที่ตัวกฎหมายสำคัญ และหากไม่สามารถนำเงินส่วนนี้ไปเยียวยาผู้ให้บริการได้ก็ต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีระบบเข้ามาดูแล” นางสาวทัศนา กล่าวและว่า ส่วนในระหว่างการชะลอการเยียวยาผู้ให้บริการเพื่อรอการตีความตามกฎหมายให้ชัดเจนนี้ คงต้องมานั่งคิดว่าจะหามาตรการรองรับอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ให้บริการ     

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้ให้บริการในปี 2557 ของ สปสช.ว่า มีจำนวน 420 ราย เสียชีวิต 3 ราย พิการ 2 ราย บาดเจ็บ 415 ราย จำนวนเงินที่จ่ายทั้งหมด 5,199,100 บาท ประเภทความเสียหายสูงสุด 5 อันดับ คือ ติดเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยกระทำ เข็มตำ อุบัติเหตุรถส่งต่อ และสัมผัสสารคัดหลั่ง ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายสูงสุด คือ พยาบาลวิชาชีพ รองลงมาคือ ผู้ช่วยเหลือคนไข้ และแพทย์ และยังพบใน เภสัชกร ลูกจ้าง เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พนักงานขับรถ พนักงานเปล วิสัญญีแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ ด้วย