หนึ่งในนโยบายสำคัญของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันอย่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.ที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูปคือ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ทีมหมอครอบครัวนี้ เป็นนโยบายพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ระบบสาธารณสุขของไทย ถึงขั้นเกือบจะระบุกันแล้วว่า นี่เป็นจังหวะก้าวที่สองของการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย หลังจากเมื่อครั้งปฏิรูปยกที่หนึ่งไปแล้วเมื่อปี 2544 กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวนโยบายหมอครอบครัวแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดี โดยนัยยะของมันคือการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ และไทยก็มีอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแม่แบบหมอครอบครัว
อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ามา 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ นอกจากประกาศผลสำเร็จเรื่องสร้างทีมหมอครอบครัวแล้ว ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะพัฒนาไปอย่างไรต่อ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ได้ประโยชน์อย่างไรจากทีมหมอครอบครัวยังมองไม่เห็น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจจะงงๆ กับหมอครอบครัว และทีมเยี่ยมบ้าน และยังไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับความไม่มีเสถียรภาพของการบริการงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะเด็ดหัวตัวพ่ออย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเดินสายออกพบปะเครือข่ายในบางเวลาอยู่ขณะนี้แล้ว แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมไม่หยุดหย่อน
จึงเกิดเป็นคำถามด้วยความห่วงใย ว่าเมื่อการรับรู้เรื่องนโยบายยังไม่ชัด ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ยังไม่ยอมรับ บ้างถึงขั้นแข็งข้อ แม้จะมีบางพื้นที่ที่เข้มแข็งก่อนมีนโยบายนี้เป็นต้นแบบคอยขับเคลื่อน เช่น โมเดลลำสนธิ จ.ลพบุรี และโมเดลแก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าได้จนถึงขั้นปฏิรูประบบสุขภาพไทยยกที่สองได้ และแน่นอน ท่ามกลางความห่วงกังวลของนโยบายนี้ ประการสำคัญ คือ เมื่อเจ้ากระทรวงทั้ง 2 คนพ้นอำนาจไปแล้ว ทีมหมอครอบครัวจะยั่งยืนหรือไม่ หรือเงียบหายไปตามเจ้าของนโยบาย เฉกเช่นเดียวกับนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ ที่ผ่านมา
จากข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษหรือซีรีส์ตอน ปฏิรูปสุขภาพยกสองด้วย หมอครอบครัว จะไปถึงฝัน หรือ แป้ก !
ตอนที่ 1 ‘หมอครอบครัว’ เหล้าเก่าในขวดใหม่ พิสูจน์ฝีมือ รมต.สธ. ต่อยอดระบบปฐมภูมิ
ตอนที่ 2 หนุนหมอครอบครัว เชื่อเป็นพลังเดินหน้าปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน
ตอนที่ 3 นโยบายหมอครอบครัว อืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด
ตอนที่ 4 หมออนามัยย้ำ อย่าเพิ่งหวังผล หลายพื้นที่ไม่พร้อมเหมือนต้นแบบ แนะเพิ่มคน-งบ
ตอนที่ 5 โมเดล ‘ลำสนธิ’ 10 ปี พลิกงานเยี่ยมบ้าน สู่การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง
ตอนที่ 6 แนะทำหมอครอบครัวตามความพร้อมรายพื้นที่ จี้เดินหน้าเขตสุขภาพตอบโจทย์กว่า
ตอนที่ 7 หมอครอบครัวจะสำเร็จ ต้องปรับระบบให้ชัดเจน จัดโครงสร้างรองรับ
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 8 แนะดึงคลินิกเอกชนหนุนหมอครอบครัว อุดช่องว่างพื้นที่ กทม.
“คลินิกชุมชนอบอุ่น” พร้อมหนุนนโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” อุดช่องว่างพื้นที่ กทม. พร้อมเผยปัญหางานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเขต กทม. เหตุเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขไม่เพียงพอ แต่ไม่ยอมกระจายงานให้คลินิกเอกชน เพราะจะทำได้รับงบรายหัวลด แนะต้องปรับวิธีบริหารงบประมาณ หนุนงบบุคลากรเพิ่มเติม ยันต้องดึงภาคเอกชนเข้าร่วม ชี้งานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ กทม.ทำได้ไม่ถึงครึ่งของประชากร
นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ ผู้ประสานงานคลินิกชุมชนอบอุ่น เขตกรุงเทพมหานคร และในฐานะคลินิกที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กล่าวถึงนโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” ซึ่งอยู่ระหว่างการผลักดันของกระทรวงสาธารณสุข ว่า เป็นนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพียงแต่ในส่วนของพื้นที่ กทม. มีโครงสร้างการดำเนินงานที่อาจซับซ้อน เพราะเป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีศูนย์บริการสาธารณสุขทำหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนในพื้นที่ กทม. พร้อมกับดำเนินงานใน 3 กิจกรรมหลัก คือ 1.การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ซึ่งต้องออกสำรวจตามบ้านในทุกพื้นที่เพื่อค้นหาคนที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรค 2.การให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการให้วัคซีนในเด็ก หรือการให้คำแนะนำในการฝากครรภ์แก่หญิงตั้งครรภ์ และ 3.การเยี่ยมและดูแลผู้ป่วยติดเตียง ในการช่วยเหลือทั้งเข้าไปมีส่วนดูแลและให้คำแนะนำ การสอนวิธีทำแผล ล้างแผล การลดภาวะแผลกดทับ เป็นต้น
แต่ภายหลังปี 2545 ซึ่งมีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีการกระจายงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไปตามประชากร ซึ่งในส่วน กทม.นี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ตัดงบประมาณในส่วนนี้ทั้งหมดให้กับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครในบริหารจัดการ ซึ่งในการปฏิบัติจริง ควรให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะคลินิกต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยในบริการด้วย เพราะด้วยจำนวนเจ้าหน้าศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ไม่เพียงพอที่จะรองรับได้ และจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ในส่วนของคลินิกเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมยอมรับว่ามีปัญหา เพราะด้วยการจ่ายงบประมาณตามหัวประชากร ส่งผลให้ศูนย์บริการสาธารณสุขไม่อยากตัดสัดส่วนประชากรออกเนื่องจากจะทำให้งบที่ได้รับนั้นลดลง หรือหากให้คลินิกเอกชนดำเนินการก็จะเป็นกลุ่มประชากรที่เข้าถึงยาก อย่างเช่น กลุ่มที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านจัดสรร ที่มักไม่เปิดรับ เป็นต้น
“จากปัญหาข้างต้นนี้ได้ส่งผลต่อการเข้าถึงงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ กทม. จนมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเมื่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข มีนโยบายทีมหมอครอบครัวและเป็นนโยบายรัฐที่ชัดเจนก็ควรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ คน กทม.สามารถเข้าถึงการดูแลได้ ซึ่งไม่อยากให้มีการจัดงบแบบเดิม แต่ต้องจัดเป็นงบแบบเหมาจ่ายในการออกหน่วยแต่ละครั้งให้กับคลินิกเอกชน (ยกเว้นพื้นที่ของศูนย์บริการสาธารณสุข) และอยากให้มีการสนับสนุนที่แยกเป็นงบบุคลากรเพิ่มเติม” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวและว่า ด้วยความเป็นนโยบายภาครัฐเชื่อว่าจะผลักดันได้ง่าย แม้กระทั่งในพื้นที่ กทม. เพียงแต่ต้องไม่เอาเปรียบกัน
นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายทีมหมอครอบครัว โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.นั้น ต้องเปิดให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่เช่นนั้นนโยบายนี้ก็คงไม่สำเร็จ เพราะขณะนี้งานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในพื้นที่ กทม.ยังดำเนินการครอบคลุมไม่ถึงครึ่งของประชากรที่อาศัยอยู่ จึงต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้น
นอกจากนี้ นพ.พงษ์ศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ สปสช.ว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และงบค่าเสื่อม ที่ไม่สะท้อนคุณภาพในการบริหาร จากการจำกัดไม่ให้มีการโยกงบประมาณไปใช้ในส่วนอื่น อย่างเช่น การห้ามนำงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไปใช้ในการรักษา ทั้งที่งบดังกล่าวในหน่วยบริการไม่เพียงพอ ทำให้แต่ละปีงบก้อนนี้จึงเหลือคืนให้กับสำนักงบประมาณ ขณะที่งบค่าเสื่อมราคาควรเปิดให้สามารถนำไปใช้ในการจ่ายค่าเช่าอาคารสถานที่ได้ เพราะการดำเนินกิจการคลินิกคงเป็นเรื่องยากที่จะซื้ออสังหาริมทรัพทย์เอง ส่วนใหญ่เป็นการเช่าประกอบการ ทั้งนี้งบเหมาจ่ายรายหัวที่หน่วยบริการได้รับนั้นเพียงพอ เพียงแต่ต้องเปิดช่องในข้อจำกัดเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้
ตอนต่อไป ติดตามตอนที่ 9 ตอนจบ 6 เดือน ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้า กทม. เชื่อเป็นนโยบายยั่งยืน
- 104 views