ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘โอสถ’ ประธานสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข จวก สธ. ไม่จริงใจ ทำวงประชุมแก้ปัญหาค่าตอบแทนลูกจ้างชั่วคราวฯ ล่ม เหตุส่งคนไม่มีอำนาจตัดสินใจมาร่วมถก 4 ฝ่าย เผยที่ปรึกษาสำนักนายกฯ เตรียมทำหนังสือด่วนถึงนายกฯ ให้พิจารณาอีกครั้งหลังจากที่สั่งให้ สธ.ดำเนินการไปแล้วครั้งหนึ่ง คาดใช้เวลา 1 เดือน ระหว่างนี้จะทำความเข้าใจสมาชิก รอนายกฯ สั่งการแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นายโอสถ สุวรรณเศวต ประธานสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงผลการหารือร่วม 4 ฝ่ายระหว่างผู้แทนรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ว่า การหารือร่วมในวันนั้นไม่ได้ข้อสรุปที่จะสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขส่งผู้ประสานงานที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมาร่วมประชุม ซึ่งทำได้เพียงแค่อธิบายหลักเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติต่างๆ ให้ที่ประชุมฟังเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงมากในปัจจุบัน ในขณะที่ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งฝ่ายของรัฐบาล และ ก.พ. ต่างก็เห็นใจกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวฯ แต่ติดที่กระทรวงสาธารณสุขยึดตามระเบียบ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ แต่ไม่ยอมแก้ไข

“จากข้อเรียกร้องของเราเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นปัญหา สามารถทำได้ เพียงแค่ปลัดกระทรวงก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องถึงขั้น รมว.สาธารณสุขด้วยซ้ำ เช่น สัดส่วนกรรมการ จากเดิมแค่คนเดียวก็เพิ่มเป็นเขตละคนได้ รวม กทม.ก็เป็น 13 คน ซึ่งตรงนี้ไม่มีผลกระทบกับงบประมาณอะไรเลย ส่วนเรื่องโอที และค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งหมดเป็นนโยบายของรัฐ แต่กระทรวงกลับนิ่งดูดาย ไม่เคยหารือรัฐบาลว่าจะแก้ไขเยียวยาเรื่องนี้อย่างไร พูดอย่างเดียวว่าไม่สามารถทำได้” ประธานสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราว กล่าว

นายโอสถ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นที่ปรึกษาสำนักนายกฯ จะทำหนังสือด่วนที่สุดถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหลังจากที่มีการสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นในช่วงนี้ สมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขจะยังไม่เคลื่อนไหวใดๆ แต่จะขอทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวกับสมาชิก

ทั้งนี้ สำหรับข้อเรียกร้องของสมาพันธ์ลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วย 1. ขอให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารสุขที่ยังตกค้างให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ทั้งหมด 2. ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 9,000 บาทตามนโยบายของรัฐบาล 3. ปรับเพิ่มค่าตอบแทนตามประสบการณ์  4.ปรับค่าตอบแทนล่วงเวลาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ 450 บาท 5. ให้จัดสรรค่าเสี่ยงภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอใน จ.สงขลา 6. แก้ไขสัดส่วนกรรมการบริหาร พกส. ให้มีสัดส่วนลูกจ้างเขตละ 1 คน และ 7. ขอให้ปรับเกณฑ์การใช้เงินบำรุง รพ.มาจ่ายค่าตอบแทน มาเป็นการใช้เงินงบประมาณจากส่วนกลางแทน.