ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตผู้บริหารหนุนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเข้ามาดูแลรับผิดชอบนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินครบวงจรแทน สปสช. ชี้มีกฎหมายรองรับชัดเจน แต่ยังต้องใช้เวลาปรับตัวอีกระยะ เพราะยังมีจุดอ่อนขาดองค์ความรู้ด้านการเงิน-การเจรจาต่อรอง

แหล่งข่าวอดีตผู้บริหารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงประเด็นการมอบหมายให้ สพฉ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่การดูแลนโยบาย กำกับ ต่อรองราคา ไปจนถึงเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งและเป็นเรื่องที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เนื่องจากกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนต่างก็มีกลุ่มประชาชนในความรับผิดชอบต่างกันออกไป ซึ่งในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เองก็ต้องดูทุกโรค จึงควรมีหน่วยงานมาดูแลเรื่องกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะให้ชัดเจน

แหล่งข่าวกล่าวว่า สพฉ. น่าจะเป็นหน่วยงานที่ช่วยบูรณาการเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินได้ เพราะมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 รองรับ เช่น มาตรา 28 วรรค 1 ระบุเรื่องการตรวจคัดแยกระดับความฉุกเฉินและจัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินตามลำดับความเร่งด่วนทางการแพทย์ฉุกเฉิน หรือมาตรา 28 วรรค 3 ระบุว่าการปฏิบัติการฉุกเฉินต่อผู้ป่วยฉุกเฉินต้องเป็นไปตามความจำเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมิให้นำสิทธิการประกัน การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาล หรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใดๆ มาเป็นเหตุปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการเงินสำหรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน กฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินก็เปิดช่องให้เรียกเก็บเงินจาก 3 กองทุนสุขภาพได้ด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้ใช้อำนาจดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนด ใช้เพียงเงินอุดหนุนจากรัฐเท่านั้น

“ถ้ารัฐบาลเอาด้วย สั่ง 3 กองทุนให้สนับสนุนเงิน สพฉ. และสั่งให้ สพฉ.ทำเรื่องนี้ มันจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมาก เพราะเรื่องของการแพทย์ฉุกเฉินไม่ใช่แค่รถชนกัน ไม่ใช่มีแค่งานนอกโรงพยาบาล แต่ต้องทำไปถึงในห้องฉุกเฉิน ระบบส่งต่อ ฯลฯ คือต้องเอาจนกว่าจะพ้นภาวะฉุกเฉินเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ สพฉ.ไปเป็นเจ้าของส่วนงานนะ เพียงแต่ให้เข้าไปเป็นตัวหล่อลื่นให้นโยบายเดินหน้าได้ราบรื่น รวมไปถึงการใช้เงินกองทุนช่วยพัฒนาบุคคลากรในส่วนของห้องฉุกเฉินด้วย” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของศักยภาพ สพฉ.ในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับภาระงานที่เพิ่มขึ้น เพราะ สพฉ. ถนัดในส่วนของงานเกี่ยวกับรถฉุกเฉินต่างๆ แต่ไม่ถนัดงานในโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้สามารถปรับปรุงได้ แต่ไม่ใช่แค่เพิ่มจำนวนคนอย่างเดียว แต่ต้องดูคุณภาพบุคคลากรที่คัดเข้ามาด้วย

“เรื่องที่ สพฉ.ยังไม่ถนัดในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะทำไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ก็ดีแล้วที่ได้เริ่มต้น” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนประเด็นการแก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น แหล่งข่าวมองว่า สิ่งสำคัญที่จะได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้อยู่ที่ว่าหน่วยงานไหนมาเป็นผู้ดูแลนโยบายและการเบิกจ่าย แต่อยู่ที่การยอมรับในเรื่องราคาในการรักษา ซึ่งส่วนตัวคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนพร้อมช่วยอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเป็นราคาที่พออยู่ได้ ไม่เจ็บตัวจนเกินไป

“ก็อยากให้ความเป็นธรรมโรงพยาบาลเอกชนด้วย เพราะมีหลายกลุ่ม กลุ่มที่ลงทุนสูง มีการเทรนด์บุคลากร มีแพทย์เฉพาะทาง จะให้ราคาเท่ากับโรงพยาบาลที่ไม่ได้ทำอะไรเลยมันก็ไม่เป็นธรรม ส่วนตัวคิดว่าอยากให้มีราคากลาง แล้วมีตัวคูณตามระดับความยากในการรักษา แต่ก็คงต้องคุยในรายละเอียดกันอีกเยอะ” แหล่งข่าว กล่าว

ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค อดีตรองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า โดยหลักการเห็นด้วยว่า สพฉ.ควรมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมา สพฉ.รับโอนงานมาจากศูนย์นเรนทร เลยเชี่ยวชาญเรื่องงานนอกโรงพยาบาลเป็นหลัก แต่หากมีกลไกด้านการเงินเข้ามาสนับสนุน ก็จะยกระดับงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินไปอีกขั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สพฉ.ไม่ได้ชำนาญด้านการเงิน การรับบุคลากรในช่วงก่อตั้งก็ไม่ได้เน้นคนที่มีความรู้เข้ามา กองทุนที่ดูแลอยู่ก็เป็นกองทุนขนาดเล็ก 600-700 ล้านบาท และการเบิกจ่ายไม่ยุ่งยาก แต่เมื่อต้องดูไปถึงระบบการรักษา ต้องเจรจาต่อรอง ซึ่งยุ่งยากกว่า ก็ต้องใช้เวลาพัฒนาองค์ความรู้ในจุดนี้พอสมควร ที่สำคัญไม่ใช่แค่เพิ่มคนอย่างเดียว แต่ต้อง active และมองงานให้ทะลุด้วย

“ระหว่างนี้ก็กังวลว่า สพฉ.จะปรับตัวทันไหม จะหวังว่ามันจะดีขึ้นเลยคงไม่ใช่ ช่วงแรก 1-2 ปี คงมีกระท่อนกระแท่นบ้าง ก็ต้องช่วยๆ กันไป”นพ.ประจักษวิช กล่าว

ส่วนประเด็นโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น นพ.ประจักษวิช มองว่า ปัญหาเกิดจากโรงพยาบาลเอกชนไม่มั่นใจว่าจะมีคนมาจ่ายเงินให้จริง ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการตัดสินใจว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งหาก สพฉ. ยืนยัน ก็ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมั่นใจว่ามีคนจ่ายเงินแน่นอน ส่วนอัตราค่ารักษานั้น ก็ต้องดูว่าเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ โดยขณะนี้กำลังมีการพัฒนารายการค่ารักษาที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน คล้ายๆ เมนูอาหาร ซึ่งหากโรงพยาบาลรักษาตามรายการในเมนู ก็มั่นใจได้ว่าจะมีคนจ่ายเงินในอัตราที่กำหนดแน่นอน