ก.พ.มีมติยกเลิก คัดเลือกบรรจุ ‘นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ’ และ ‘เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน’ เป็นข้าราชการ แต่ให้ไปใช้วิธีการสอบแข่งขัน ระบุไม่ใช่ตำแหน่งขาดแคลน ในส่วนนักวิชาการสาธารณสุขนั้น ให้รวมถึงทั้งจากสถาบันในสมทบและนอกสมทบด้วย ด้านชาว วสส.โวย สธ.ลอยแพ ชี้ไม่เป็นธรรมกับนักศึกษาที่กำลังเรียนและลูกจ้างที่รอบรรจุ เพราะมีความหวังว่าจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ ระดมความเห็นในเพจ ร้อยรวมใจชาว วสส. เตรียมหาทางออกเสนอ สธ.ต่อไป พร้อมให้ข้อมูลเพิ่ม ตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบ คือ นวก.สส., จพ.สส., เวชกิจฉุกเฉิน และแพทย์แผนไทย โดยภาค ก. กระทรวงจะเป็นผู้ออกข้อสอบเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 58 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ลงนามในหนังสือเลขที่ สธ.0201.033/ว 450 ถึงส่วนราชการต่างในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เรื่อง ก.พ.ยกเลิกมติการคัดเลือกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการและเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน โดยระบุว่า ด้วย ก.พ.ได้มีมติยกเลิกการคัดเลือกลูกจ้างชั่วคราว หรือพนักงานราชการ หรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ทั้งจากสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่ร่วมผลิตและที่ไม่ได้ร่วมผลิตกับวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ โดยให้ สป.สธ. ดำเนินการสรรหาและเลือกสรรโดยวิธีสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ

และยกเลิกการคัดเลือกบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันพระบรมราชชนก ในคุณวุฒิที่ ก.พ.กำหนดให้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน และให้บรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน จากผู้สอบแข่งขันในตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวจาก สป.สธ.นั้น สืบเนื่องมาจากหนังสือ 2 ฉบับจากทาง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 58 ลงนามโดย นายวิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ. เรียน ปลัด สธ. ดังนี้

1.หนังสือที่ นร 1004.2/30 ให้ยกเลิกมติ ก.พ.ที่เคยอนุมัติให้ สป.สธ.คัดเลือกบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการเป็นกรณีพิเศษ โดยระบุว่า “เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของการสรรหาและเลือกสรรเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเอน พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติว่า การสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าว”

ขณะเดียวกันหนังสือฉบับดังกล่าว ยังได้ระบุว่า หาก สป.สธ.อยู่ระหว่างการดำเนินการตามมติ ก.พ.ก่อนหน้าที่ ก.พ.จะมีมติยกเลิกนี้ ก็ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

2.หนังสือที่ นร 1004.2/31 สืบเนื่องมาจาก สป.สธ.ได้ทำหนังสือขอให้ ก.พ.อนุมัติคุณวุฒิอนุปริญญาสาธารณสุขศาสตร์(สาธารณสุขชุมชน) เป็นวุฒิที่ ก.พ.กำหนดให้คัดเลือกเพื่อบรรจุเข้ารับราชการได้ ก.พ.ได้พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

-ไม่อนุมัติให้คุณวุฒิอนุปริญญาสาธารณสุขศาสตร์(สาธารณสุขชุมชน) เป็นวุฒิที่ ก.พ.กำหนดให้คัดเลือกเพื่อบรรจุเข้ารับราชการได้

-ยกเลิกการคัดเลือกบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันพระบรมราชชนกในคุณวุฒิที่ ก.พ.กำหนดให้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ ก.พ.อนุมัติให้ส่วนราชการจัดให้มีการศึกษาขึ้นเพื่อเข้ารับราชการในส่วนราชการนั้นโดยเฉพาะ

-ให้บรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงานจากผู้สอบแข่งขังได้ในตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลจากมติดังกล่าวของ ก.พ.ได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมาก โดยใน Facebook เพจชื่อ “ร้อยรวมใจชาว วสส.” ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการลอยแพลูกหม้อของกระทรวงสาธารณสุขที่จบจากสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งเป็นวิทยาลัยในสังกัดที่ สธ.ตั้งขึ้นเองเพื่อผลิตบุคลากรสาธารณสุขเข้าสู่หน่วยงานสังกัด สธ. ทั้งยังระบุว่า มตินี้ไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษา วสส.ที่ตัดสินใจเข้าเรียนโดยเชื่อว่าเป็นนักเรียนทุน และมีความหวังว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ

ทั้งยังมีการให้ข้อมูลภายในเพจเพิ่มเติมว่า “ตำแหน่งที่ได้รับผลกระทบ คือ นักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สส.), เจ้าพนักงานสาธารณสุข(จพ.สส.) เวชกิจฉุกเฉิน และแพทย์แผนไทย โดยภาค ก. กระทรวงจะเป็นผู้ออกข้อสอบเอง”

นอกจากนั้น ยังได้มีการระดมความคิดเห็น โดยระบุว่า “คุณรู้สึกอย่างไรกับ ว450_ยกเลิกมติคัดเลือกบรรจุ นวก.สธ. และ จพสธ. จะแก้ไขได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ ?”

รวมถึง “เพื่อหาทางออกร่วมกันของชาว วสส. สบช. ที่ยังค้างอยู่ในระบบอีกนับพัน เมื่อข้ออ้างคือไม่ใช่วิชาชีพขาดแคลน ทั้งๆ คนที่ทำงานในพื้นที่ทำงานตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน๊อต พวกเราจะมีวิธีสะท้อนปัญหานี้แบบชัดเจน อย่างไร ให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบว่า เรายังจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขประเทศไทย และประชาชนไทย แล้วนำวิธีการเหล่านี้ หรือข้อมูลเหล่านี้เสนอกับผู้ใหญ่ต่อไปขอเชิญพี่น้องชาว วสส. ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อค้นหาแนวทางร่วมกันครับ”