ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เครือข่ายหมออนามัย” เตรียมเปิด “วารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชน” ฉบับปฐมฤกษ์ มิ.ย. นี้ เผยเป็นวารสารวิชาการเพื่อหมออนามัยเล่มแรกของประเทศ เน้นนำเสนอผลงานวิชาการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและนวัตกรรมสุขภาพระดับปฐมภูมิโดยเฉพาะ ช่วยสร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สนับสนุนการพัฒนางานปฐมภูมิ พร้อมตั้งเป้า 3 ปี พัฒนาสู่ระบบ TCI มาตรฐานงานวิชาการของประเทศ  

นายธาดา วรรธนปิยกุล

นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย (มคม.) เปิดเผยว่า ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ขณะนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างยอมรับว่าการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ไม่เพียงแต่เป็นคำตอบสำคัญช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง แต่ยังลดความแออัดการบริการในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิลงได้ ทั้งในแง่การกระจายผู้ป่วยเพื่อรับบริการในระดับปฐมภูมิและการลดอัตราการป่วยด้วยงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยผู้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ “เจ้าหน้าที่สาธารณสุข”  หรือ “หมออนามัย” นอกจากนี้ยังมีบทบาทอย่างยิ่งต่อ “การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน” ไม่ว่าจะเป็นการให้วัคซีนป้องกันโรคอย่างทั่วถึง การให้บริการอนามัยแม่และเด็ก การเยี่ยมบ้าน การรุกพัฒนาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สุขศึกษา โภชนาการ การสาธารณสุขมูลฐานและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น ฯลฯ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาหมออนามัยจะเก่งในด้านปฏิบัติการ จึงจำเป็นต้องมีการเสริมศักยภาพด้านวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพดูแลประชาชนเพิ่มขึ้น ดังนั้นมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัย (สมอ.) ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (ชสท.) เครือข่ายหมออนามัยในสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จึงได้ร่วมกันจัดทำ “วารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชน” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นช่องทางนำเสนอผลงานวิชาการบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพราะที่ผ่านมางานวิชาการด้านนี้มีน้อยมาก และมักไม่ได้รับความสนใจ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการนำเสนองานวิชาการด้านการรักษาพยาบาล โดยมีอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเป็นคณะทำงานหลักเพื่อดำเนินงานเรื่องนี้

“วารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนนี้ นอกจากเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานปฐมภูมิระหว่างหมออนามัยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นและสร้างขวัญกำลังใจให้กับหมออนามัยที่ตั้งใจและมีผลงานดีๆ ได้นำเสนอผลงานของตนเอง โดยจะตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ในเดือนมิถุนายนนี้” ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย (มคม.) และว่า การจัดทำวารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนนี้ ได้มีการจัดเตรียมดำเนินงานเป็นปี เบื้องต้นภายในวารสารจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบทความวิชาการ โดยเน้นผู้ที่เข้าใจในระบบปฐมภูมิ และการทำงานของหมออนามัย และส่วนการนำเสนองานวิจัยและผลงานวิชาการ

นายธาดา กล่าวต่อว่า นอกจากการจัดทำวารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนแล้ว ยังมีโครงการจัดทำตำราคู่มือที่เกี่ยวกับงานผู้ปฏิบัติงานระดับปฐมภูมิโดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมามักจะมีแต่คู่มือที่เน้นเฉพาะสายวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานในระดับปฐมภูมิให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.วรพจน์ พรหมสัตยพรต รองคณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า แนวคิดการจัดทำวารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนนี้ เริ่มจากกลุ่มหมออนามัยที่ไปเป็นอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มองเห็นปัญหาการรวบรวมผลงานวิชาการที่ทำโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หมออนามัย จึงมีความเห็นร่วมกันว่า อยากให้บุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ที่มีผลงานด้านสุขภาพได้มีช่องทางการตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ จึงได้เชิญเครือข่ายหมออนามัยมาร่วมกันทำงาน พร้อมกันได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. ซึ่งวารสารฉบับนี้เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการล้วนๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีการคิดค้นใหม่ๆ ซึ่งในอดีตมีการรวบรวมที่น้อยมาก เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่จะติดขัดในเรื่องระเบียบวิจัยไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถเสนอผลงานได้ แต่การมีวารสารวิชาการเฉพาะจะทำให้เป็นการเปิดโอกาสมากขึ้น

ทั้งนี้เพื่อให้วารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนเป็นที่ยอมรับในมาตรฐาน จึงได้วางแผนในการนำวารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลวิชาการมาตรฐานที่เรียกว่า “ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Centre : TCI)” โดยใช้ระยะเวลาใน 3 ปี ซึ่งจะทำให้ผลงานวิชาการระดับปฐมภูมิต่างๆ ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและสากลเทียบเท่ากับวารสารวิชาการอื่นๆ และสามารถนำไปใช้ในการอ้างอิงได้ นอกจากนี้วารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนนี้จะถือเป็นวารสารวิชาการระดับปฐมภูมิฉบับแรกของประเทศไทย 

“ในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการสาธารณสุขชุมชนนั้น จะมีคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการคัดเลือกผลงานต่างๆ ที่นำเสนอเข้ามา เบื้องต้นจะวารสารวิชาการสาธารณสุขชุมชนจะตีพิมพ์ปีละ 2 ครั้ง คือฉบับเดือนมกราคมและมิถุนายน ซึ่งฉบับแรกกำหนดออกในเดือนมิถุนายนนี้ และจะตีพิมพ์ทั้งหมด 3,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายไปยังหน่วยบริการที่เป็นแม่ข่ายระบบบริการปฐมภูมิแต่ละพื้นที่” ดร.วรพจน์ กล่าว