ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในนโยบายสำคัญของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันอย่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.ที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูปคือ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ทีมหมอครอบครัวนี้ เป็นนโยบายพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ระบบสาธารณสุขของไทย ถึงขั้นเกือบจะระบุกันแล้วว่า นี่เป็นจังหวะก้าวที่สองของการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย หลังจากเมื่อครั้งปฏิรูปยกที่หนึ่งไปแล้วเมื่อปี 2544 กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวนโยบายหมอครอบครัวแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดี โดยนัยยะของมันคือการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ และไทยก็มีอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแม่แบบหมอครอบครัว

อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ามา 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ นอกจากประกาศผลสำเร็จเรื่องสร้างทีมหมอครอบครัวแล้ว ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะพัฒนาไปอย่างไรต่อ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ได้ประโยชน์อย่างไรจากทีมหมอครอบครัวยังมองไม่เห็น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจจะงงๆ กับหมอครอบครัว และทีมเยี่ยมบ้าน และยังไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับความไม่มีเสถียรภาพของการบริการงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะเด็ดหัวตัวพ่ออย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเดินสายออกพบปะเครือข่ายในบางเวลาอยู่ขณะนี้แล้ว แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมไม่หยุดหย่อน

จึงเกิดเป็นคำถามด้วยความห่วงใย ว่าเมื่อการรับรู้เรื่องนโยบายยังไม่ชัด ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ยังไม่ยอมรับ บ้างถึงขั้นแข็งข้อ แม้จะมีบางพื้นที่ที่เข้มแข็งก่อนมีนโยบายนี้เป็นต้นแบบคอยขับเคลื่อน เช่น โมเดลลำสนธิ จ.ลพบุรี และโมเดลแก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าได้จนถึงขั้นปฏิรูประบบสุขภาพไทยยกที่สองได้ และแน่นอน ท่ามกลางความห่วงกังวลของนโยบายนี้ ประการสำคัญ คือ เมื่อเจ้ากระทรวงทั้ง 2 คนพ้นอำนาจไปแล้ว ทีมหมอครอบครัวจะยั่งยืนหรือไม่ หรือเงียบหายไปตามเจ้าของนโยบาย เฉกเช่นเดียวกับนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ ที่ผ่านมา

จากข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษหรือซีรีส์ตอน ปฏิรูปสุขภาพยกสองด้วย หมอครอบครัว จะไปถึงฝัน หรือ แป้ก !

ตอนที่ 1 ‘หมอครอบครัว’ เหล้าเก่าในขวดใหม่ พิสูจน์ฝีมือ รมต.สธ. ต่อยอดระบบปฐมภูมิ

ตอนที่ 2 หนุนหมอครอบครัว เชื่อเป็นพลังเดินหน้าปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน

ตอนที่ 3 นโยบายหมอครอบครัว อืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด

ตอนที่ 4 หมออนามัยย้ำ อย่าเพิ่งหวังผล หลายพื้นที่ไม่พร้อมเหมือนต้นแบบ แนะเพิ่มคน-งบ

ตอนที่ 5 โมเดล ‘ลำสนธิ’ 10 ปี พลิกงานเยี่ยมบ้าน สู่การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 6 แนะทำหมอครอบครัวตามความพร้อมรายพื้นที่ จี้เดินหน้าเขตสุขภาพตอบโจทย์กว่า

นพ.สสจ.เชียงใหม่ชี้หมอครอบครัวเป็นนโยบายที่ดี แต่จะให้มีหมอครอบครัวครอบคลุมทั้งประเทศคงยาก เหตุบุคลากรไม่พอ บางแห่งมี 3 คน แต่ต้องดูแลคนนับพัน แนะดูเป็นรายพื้นที่ตามความพร้อมของทรัพยากรดีกว่า ด้านประธานชมรม รพศ./รพท. ชี้หมอครอบครัวไม่น่าใช่นโยบาย แต่เป็นรูปแบบที่เชื่อมโยงงาน ระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ ปฐมภูมิลงไปถึงระดับชุมชน แจงเป็นสิ่งที่ทำกันอยู่แล้ว 2-3 ปี ที่ผ่านมาก็มี DHS ระบุการจะส่งเสริมปฐมภูมิเพื่อลดแออัดต้องบูรณาการทั้งระบบ  จี้เดินหน้าเขตสุขภาพตอบโจทย์กว่า

นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล

นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงนโยบายหมอครอบครัวจากมุมมอง สสจ.ว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็พอมีพื้นฐานการจัดบริการในระดับชุมชน ในหลายพื้นที่ก็มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำอยู่ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ จุดไหนที่มีศักยภาพก็ทำงานระดับชุมชนเป็นรายพื้นที่ไป

นพ.ไพศาล กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีนโยบายกำหนดว่าแต่ละครัวเรือนต้องมีหมอประจำครอบครัว ปัญหาคือเรื่องของความครอบคลุมเพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ cover ทุกครอบครัว ทั้งในส่วนของแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุขอื่นๆ ที่ยังมีไม่พอ

“พอหมอไม่พอก็เอาพยาบาลบ้าง นักวิชาการบ้าง ฯลฯ มาแบ่งความรับผิดชอบในระดับหมู่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางแห่งมีคนอยู่ 3 คน แต่ต้องดูแลคนนับพัน ความทั่วถึงมันก็ไม่เกิด ก็ต้องดึงภาคประชาชน ผู้นำชุมชน จิตอาสา และ อาสาสมัครสาธารณสุขมาช่วย ซึ่งโดยหลักการแล้วคนกลุ่มนี้ควรทำงานในการเป็นช่องทางการสื่อสารกับประชาชนมากกว่าจะเอามาเป็นผู้จัดบริการเสียเอง” นพ.ไพศาล กล่าว

นพ.ไพศาล ยังกล่าวถึงประเด็นความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายหมอครอบครัว โดยยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ที่หลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ทุรกันดารไปจนถึงพื้นที่ในเมือง ซึ่งเท่าที่พบคือพื้นที่ที่การดำเนินงานเป็นไปด้วยดี จะเป็นพื้นที่ชนบท แต่มีโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมที่ดีเดินทางได้รวดเร็ว แต่หากเป็นพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เดินทางลำบาก ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงกว่าจะไปถึง ก็จะเป็นอุปสรรคในการทำงาน หรืออย่างพื้นที่เขตเทศบาล ก็มีปัญหาเรื่องความทั่วถึงด้วย เพราะยังมีหน่วยบริการจำนวนมากในพื้นที่ ที่ไม่ได้สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เช่น สังกัดเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ หรือสังกัดทหาร ซึ่งยังเป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้หน่วยบริการเหล่านี้ทำตามนโยบายหมอครอบครัว

“หมอครอบครัวเป็นนโยบายที่ดี แต่จะหวังให้ได้ทั้งประเทศคงยากเพราะความพร้อมของทรัพยากรเรายังมีไม่พอ ถ้าจะให้ครอบคลุมก็ต้องเพิ่มทรัพยากรเข้ามาอีก ดังนั้นควรต้องมองเป็นรายพื้นที่ดีกว่า ไม่ใช่ One size fit all ทั้งหมด” นพ.ไพศาล กล่าว

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล

ด้าน นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้ความเห็นว่า หมอครอบครัวไม่น่าจะเรียกว่านโยบาย แต่เป็นรูปแบบมากกว่า เพราะการเชื่อมโยงงานระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ ปฐมภูมิลงไปถึงระดับชุมชน เป็นสิ่งที่ทำกันอยู่แล้ว ในช่วง 2-3 ปี ก็มีนโยบายใหญ่อย่าง District Health System (DHS) ซึ่งผู้ปฏิบัติก็ทำงานในกรอบของนโยบาย DHS อยู่แล้ว ไม่ว่าจะทีมจัดการสุขภาพ นักจัดการสุขภาพ หรือหมอครอบครัว แต่เนื้อหางานก็เหมือนกัน วิธีคิดเหมือนเดิมคือมีทีมลงไปดูผู้ป่วย

นพ.ธานินทร์ กล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องการส่งเสริมระบบปฐมภูมิเพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปนั้น ต้องมีการบูรณาการทั้งระบบ ดูแลร่วมกันตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เช่น ในพื้นที่ที่มีการจัดการดี ก็จะมีระบบนัดตั้งแต่ในระดับชุมชนเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล หรือหากเป็นผู้ป่วยในก็กระจายไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง หรือส่งกลับไปพักฟื้นที่บ้านในลักษณะแบบโฮมวอร์ด ซึ่งส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ต้องทำในเชิงยุทธศาสตร์คือเรื่องเขตสุขภาพมากกว่า โดยการแบ่งบทบาทว่าใครจะทำอะไรในส่วนไหน จะแบ่งแบ่งทรัพยากรอย่างไร แต่ละโรงพยาบาลทำ service plan ว่าจะดูแลเรื่องใด แล้วเคลื่อนกันไปทั้งระบบ

“แต่ทุกวันนี้ยังไม่มองเรื่องการบูรณาการทั้งกระบวน เขตสุขภาพยังขาลอย เป็น function แต่ไม่มี body รองรับ ผมอยากให้ผู้บริหารมองไปที่ภาพใหญ่ เดินหน้าเขตสุขภาพมากกว่า มันต้องสร้างระบบ ไม่ใช่รูปแบบ”นพ.ธานินทร์ กล่าว

ตอนต่อไป ติดตามตอนที่ 7 หมอครอบครัวจะสำเร็จ ต้องปรับระบบให้ชัดเจน จัดโครงสร้างรองรับ