ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์เดลินิวส์ : ‘นพ.สุรเชษฐ์’ เผยไทยขาดแคลนพยาบาล เหตุงานใน รพ.รัฐภาระหนัก ทั้งยังไม่เปิดให้บรรจุ ขรก.อีก ส่งผลสมองไหลไปเอกชน ส่วนครูพยาบาลก็เกิดภาวะสมองไหลเช่นกัน เพราะไม่มีความก้าวหน้าวิชาชีพ แม้จบโทจากต่างประเทศ ก็ได้เพียงซี 8 แจงทางแก้ปัญหา เร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก จะทำให้ครูพยาบาลก้าวหน้ามากขึ้นถึงระดับ ศ.-ผศ. พร้อมหามาตรการจูงใจให้พยาบาลอยู่ในระบบรัฐ ไม่ได้บรรจุ ขรก.ก็ต้องจ้างงานแบบอื่น เช่น พกส. ส่วนบรรจุ ขรก.รอบ 3 แม้เลื่อนจาก ม.ค. มาเป็น เม.ย. แต่ตอนนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องรอ คปร.ประชุมก่อน

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการแก้ปัญหาพยาบาลสมองไหลออกนอกระบบของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนพยาบาลอย่างหนัก เนื่องจากงานในโรงพยาบาลของรัฐมีภาระหนัก อีกทั้งยังไม่เปิดให้บรรจุเป็นข้าราชการได้อีก ทำให้เกิดภาวะสมองไหลไปยังภาคเอกชน ขณะเดียวกันในส่วนของครูพยาบาลที่จะทำหน้าที่สอนและผลิตพยาบาลก็เกิดภาวะสมองไหลเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ แม้จะจบการศึกษาระดับปริญญาโทมาจากต่างประเทศแต่ก็ก้าวหน้าได้เพียงระดับซี 8 เท่านั้น ตอนนี้กระทรวงฯ จึงได้หารือร่วมกับสภาการพยาบาล และสถาบันผลิตพยาบาลในสังกัด เพื่อหามาตรการในการผลิตพยาบาลเพิ่ม และคงอยู่ในระบบให้มากที่สุด และกระทรวงจะมีส่วนในการสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างไร

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ 1.ผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก ให้ประกาศใช้ให้ได้หลังจากที่ค้างเติ่งมานาน ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านแล้ว ครูและพยาบาลจะมีความก้าวหน้าในวิชาชีพมากขึ้นถึงระดับศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 2.การใช้พยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นครูผู้ฝึกสอนพยาบาลให้รู้ว่าการ ปฏิบัติหน้าที่จริงเป็นอย่างไร เช่น ลักษณะการทำงานในห้องผ่าตัด การทำงานในห้องฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการฝึกระยะสั้น 3.หามาตรการการคงอยู่ของพยาบาลเอาไว้ในระบบโรงพยาบาลของรัฐ เช่น ความมั่นคงในวิชาชีพ ถ้าไม่ให้มีการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ก็ต้องหาการจ้างงานลูกแบบใหม่ที่ไม่ใช้ลูกจ้างชั่วคราว เช่น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า อย่างน้อยตอนนี้ต้องบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการรอบที่ 3 จำนวน 7,547 คน ให้สำเร็จ จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าต้องเสร็จในวันที่ 1 ม.ค.2558 แต่ขยับมาเป็นวันที่ 1 เม.ย.2558 ก็ไม่สำเร็จ เพราะต้องรอคณะกรรมการปฏิรูประบบกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ประชุมก่อน.