หนึ่งในนโยบายสำคัญของเจ้ากระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบันอย่าง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ.ที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคปฏิรูปคือ นโยบายทีมหมอครอบครัว ที่เริ่มเดินหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แรกเริ่มเดิมทีมีความมุ่งมั่นที่จะให้ ทีมหมอครอบครัวนี้ เป็นนโยบายพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน ระบบสาธารณสุขของไทย ถึงขั้นเกือบจะระบุกันแล้วว่า นี่เป็นจังหวะก้าวที่สองของการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย หลังจากเมื่อครั้งปฏิรูปยกที่หนึ่งไปแล้วเมื่อปี 2544 กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งก็คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตัวนโยบายหมอครอบครัวแล้ว ถือเป็นนโยบายที่ดี โดยนัยยะของมันคือการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการส่งเสริมสุขภาพแบบปฐมภูมิ และไทยก็มีอังกฤษ หนึ่งในประเทศต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นแม่แบบหมอครอบครัว
อย่างไรก็ตาม จากการเดินหน้ามา 6 เดือน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ นอกจากประกาศผลสำเร็จเรื่องสร้างทีมหมอครอบครัวแล้ว ยังไม่เห็นทิศทางว่าจะพัฒนาไปอย่างไรต่อ สำหรับประชาชนในเขตเมือง ได้ประโยชน์อย่างไรจากทีมหมอครอบครัวยังมองไม่เห็น ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชนบท อาจจะงงๆ กับหมอครอบครัว และทีมเยี่ยมบ้าน และยังไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อผนวกเข้ากับความไม่มีเสถียรภาพของการบริการงานในกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้จะเด็ดหัวตัวพ่ออย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเดินสายออกพบปะเครือข่ายในบางเวลาอยู่ขณะนี้แล้ว แต่คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมไม่หยุดหย่อน
จึงเกิดเป็นคำถามด้วยความห่วงใย ว่าเมื่อการรับรู้เรื่องนโยบายยังไม่ชัด ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ยังไม่ยอมรับ บ้างถึงขั้นแข็งข้อ แม้จะมีบางพื้นที่ที่เข้มแข็งก่อนมีนโยบายนี้เป็นต้นแบบคอยขับเคลื่อน เช่น โมเดลลำสนธิ จ.ลพบุรี และโมเดลแก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าได้จนถึงขั้นปฏิรูประบบสุขภาพไทยยกที่สองได้ และแน่นอน ท่ามกลางความห่วงกังวลของนโยบายนี้ ประการสำคัญ คือ เมื่อเจ้ากระทรวงทั้ง 2 คนพ้นอำนาจไปแล้ว ทีมหมอครอบครัวจะยั่งยืนหรือไม่ หรือเงียบหายไปตามเจ้าของนโยบาย เฉกเช่นเดียวกับนโยบายสาธารณสุขอื่นๆ ที่ผ่านมา
จากข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษหรือซีรีส์ตอน ปฏิรูปสุขภาพยกสองด้วย หมอครอบครัว จะไปถึงฝัน หรือ แป้ก !
ตอนที่ 1 ‘หมอครอบครัว’ เหล้าเก่าในขวดใหม่ พิสูจน์ฝีมือ รมต.สธ. ต่อยอดระบบปฐมภูมิ
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 2 หนุนหมอครอบครัว เชื่อเป็นพลังเดินหน้าปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน
นักวิชาการจุฬาฯ ชี้นโยบายหมอครอบครัวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขับเคลื่อนสุขภาพปฐมภูมิ แต่หวั่นไม่ยั่งยืน เหตุภาคปฏิบัติที่ผ่านมาเหมือนอาหารจานด่วน ตั้งทีม 2-3 หมื่นทีม แต่ทรัพยากรในระบบมีน้อย งานไปถมที่ระดับปฏิบัติการมาก แนะละลายกรอบคิด ดึงวิชาชีพนอกระบบสาธารณสุขร่วมทีมหมอครอบครัว เชื่อดันนโยบายประสบความสำเร็จยั่งยืน
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงนโยบายหมอครอบครัวว่า ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่าเป็นปรัชญาตั้งต้นที่ดีในการเป็นพลังขับเคลื่อนระบบ primary care หรือบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งจะช่วยลดภาระของระบบสุขภาพในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในภาคปฏิบัติ 6 เดือนที่ผ่านมา ดูจะเป็นอาหารจานด่วนไปหน่อย มีการตั้งทีมขึ้นมา 2-3 หมื่นทีม แต่เนื่องจากทรัพยากรในระบบสาธารณสุขไทยยังมีน้อย มีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ดังนั้นในระยะยาว โอกาสที่นโยบายนี้จะมีความยั่งยืนจึงเป็นไปได้น้อย เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา มีนโยบายใหม่ๆ ออกมาอีก งานก็จะถมไปที่ระดับปฎิบัติจนทำงานกันหนัก
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า โมเดลที่น่าจะประสบความสำเร็จ น่าจะต้องละลายกรอบความคิดการทำงานที่ต้องอยู่ในระบบสาธารณสุขอย่างเดียว โดยดึงวิชาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเข้ามามีส่วนร่วมส่งเสริมสุขภาพชุมชนด้วย ทั้งเรื่องคน เงิน และวิธีการทำงาน
ผศ.นพ.ธีระ ยกตัวอย่างโครงการ "คลินิคสถาปัตย์บำบัด" ของโรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งดึงวิชาชีพอื่นมาทำงานด้วย อาทิ ปัญหาคนแก่หกล้มในบ้าน ปกติพยาบาลก็จะแนะนำญาติๆ ว่าให้ระวังการหกล้มของผู้สูงอายุ แต่จะป้องกันได้อย่างไร ญาติบางคนอาจใช้วิธีทุบพื้นทำพื้นใหม่ แต่จริงๆ วิธีการป้องกันอื่นๆ ก็สามารถทำได้หลายทาง เช่น ติดแถบกาวกันลื่น หรือการติดตั้งราวจับที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ซึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์จากสถาปนิกจิตอาสามาให้คำแนะนำการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ได้ หรือหากหมอบอกว่าควรอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ แต่จะสว่างแค่ไหน ติดหลอดไฟแบบไหน หมอก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็ต้องใช้ประโยชน์จากนักออกแบบภายในมาช่วยดีไซน์เป็นต้น
ผศ.นพ.ธีระ ยังยกตัวอย่างเรื่องอาหาร ที่ผ่านมานักโภชนาการมักแนะนำว่าควรกินอะไร ปริมาณเท่าไหร่ แต่การสื่อสารมักจะออกมาในลักษณะว่าต้องกินผักกี่กรัม กินอาหารอื่นๆ กี่กรัม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ practical ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ก็ทำโครงการร้านจำหน่ายอาหารภายใต้แบรนด์ “กินดีอยู่ดี” ซึ่งมีนักโภชนาการออกแบบและคำนวนคุณค่าอาหาร โดยทางสวนดุสิตทำในเรื่องการประกอบอาหาร ช่วยให้อาหารเพื่อสุขภาพเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายขึ้น หรือแม้แต่การแทคทีมกับนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อศึกษาและสร้างเงื่อนไขในการจูงใจด้านพฤติกรรม ก็สามารถทำได้ เช่น ที่อเมริกามีปัญหาเรื่องโรคอ้วน ทางฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องสุขภาพก็ขอความร่วมมือร้านอาหาร Subway ทำเมนูสุขภาพและจัดวางไว้ในลำดับแรกๆ ส่วนเมนูที่มีแคลลอรี่สูงก็เอาไว้ท้ายๆ ปรากฎว่าลูกค้าก็ให้การตอบรับเมนูเพื่อสุขภาพเป็นอย่างดี
“6 เดือนที่ผ่านมามันก็สำเร็จขั้นหนึ่ง แต่ยังมีหลุมพรางความยั่งยืน อยากให้เอาความยั่งยืนของนโยบายเป็นตัวตั้งต้น ถ้าเราเอาแต่ทรัพยากรในระบบสาธารณสุข ถึงมันจะสหวิชาชีพก็จริงแต่มันไม่พอ แต่ถ้าเราละลายกรอบความคิด ดึงเครือข่ายวิชาชีพที่แตะเข้ากับวิถีชีวิตคน ทั้งเรื่องกิน จับจ่ายใช้สอย ที่อยู่อาศัย การสื่อสาร การพักผ่อน การทำงานและการเรียนรู้ มาร่วมทำงานร่วมด้วยช่วยกัน นโยบายหมอครอบครัวจะพัฒนาไปได้อีกขั้น” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขนำแนวคิดลักษณะนี้ไปทดลองทำดูในบางพื้นที่ดูก่อน และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่แต่ละพื้นที่ เชื่อว่าน่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ติดตามต่อ ตอนที่ 3 นโยบายหมอครอบครัว อืดเหมือนมวยไม่ยอมออกหมัด
- 9 views