ขณะที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากความสำเร็จที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างเสมอหน้าภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2545 ซึ่งไม่เพียงทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังทำให้ไทยถูกยกเป็นต้นแบบประเทศกำลังพัฒนาที่ทำเรื่องนี้จนสำเร็จและมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีจากตัวชี้วัดด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสุขภาพของไทยก็มีความแตกต่าง หลากหลาย เหลื่อมล้ำ ซ้อนทับกันอยู่ ไม่เฉพาะแต่ 3 กองทุนสุขภาพใหญ่ๆ อย่าง กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ที่หลากหลาย ไม่เท่าเทียม และนำไปสู่ข้อเสนอให้สร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้สำเร็จนั้น
ยังมีกองทุนประกันสุขภาพขนาดเล็กสำหรับกลุ่มประชากรที่อาจจะถูกเรียกได้ว่าเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศนี้ก็ได้ นั่นคือ “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53” ที่คล้ายเป็นกองทุนรักษาพยาบาลเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิอยู่ ปัจจุบันดูแลประชากรประมาณ 4.5 แสนคน และขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ ครม.ชุดใหญ่อนุมัติเพิ่มกลุ่มคนรอการพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ตกค้างอีกกว่า 2 แสนคนให้ได้รับสิทธินี้ หลังจากที่ ครม.เศรษฐกิจอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา
เป้าหมายแท้จริงของกองทุนนี้คือ ระหว่างที่ประชาชนกลุ่มนี้รอพิสูจน์สิทธิ์ เพื่อให้ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขตามที่ไทยให้การรับรองไว้กับประชาคมโลก ก็ควรให้พวกเขาได้รับสิทธิรักษาพยาบาลด้วย เมื่อผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ได้สัญชาติไทยแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปใช้สิทธิประกันสุขภาพสำหรับคนไทยตามสถานะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น สิทธิ 30 บาท
ในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 นี้ สำนักข่าว Health Focus จึงชวนสำรวจสถานการณ์การให้บริการสุขภาพสำหรับประชาชนกลุ่มนี้ว่าเป็นอย่างไร โรงพยาบาลหลายแห่งที่เคยต้องแบกรับภาระด้วยหลักมนุษยธรรม ในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และจริงหรือไม่ที่ว่า กองทุนคืนสิทธิ์นี้ แม้จะมีสิทธิรักษาพยาบาลก็จริง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างก็ทำให้สิทธิที่พวกเขาได้เป็นแค่สิทธิของพลเมืองชั้น 2 เท่านั้น รวมทั้งช่วยกันคิดเกี่ยวกับอนาคตของกองทุนนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่ควรจะเป็นของระบบสุขภาพไทย โดยจัดทำเป็น รายงานชุด : ย้อนรอย 5 ปี กองทุนคืนสิทธิคนไร้สถานะ กองทุนของพลเมืองชั้น 2 ?
ตอนที่ 1 ‘วิวัฒน์ ตามี่’ แม้มีสิทธิรักษา แต่เป็นได้แค่พลเมืองชั้น 2 ในแผ่นดินเกิด
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 2 ‘ผอ.รพ.ทองผาภูมิ’ ชี้ 5 ปีกองทุนคืนสิทธิฯ ลดภาระ รพ. แต่เบิกจ่ายยุ่งยาก สิทธิไม่เท่าเทียมบัตรทอง
ผอ.รพ.ทองผาภูมิ เผย 5 ปี “กองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะฯ” ช่วย รพ.ลดภาระขาดทุนต่อเนื่อง แต่ระบบเบิกจ่ายยังยุ่งยาก คีย์ข้อมูลมากแถมซ้ำซ้อน พร้อมชี้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลไม่เทียบเท่า “บัตรทอง” เบิกจ่ายยาแพงบางรายการไม่ได้
พญ.นวลจันทร์ เวชสุวรรณมณี
พญ.นวลจันทร์ เวชสุวรรณมณี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทองผาภูมิ กล่าวถึงกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่ากองทุนรักษาพยาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิช่วยสถานะการเงินของโรงพยาบาลได้มาก เนื่องจาก รพ.ทองผาภูมิเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มคนไทยที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิอยู่มาก ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยมากนาน รวมไปถึงกลุ่มคนที่ไร้สิทธิที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนใดๆ แต่เป็นคนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อดูประชากรพบว่าในพื้นที่เฉพาะในเขต รพ.ทองผาภูมิ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 25 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย และเป็นประชากรที่ รพ.ต้องแบกรับเพราะไม่สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาได้ แต่ยังคงต้องให้บริการ และเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ ทำให้จำนวนประชากรที่ รพ.ต้องแบกรับลดลงเหลือประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ขณะที่ประชากรผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ รพ.มีประมาณ 30,000-40,000 คน
“ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2545 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีกลุ่มผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิจำนวนหนึ่งได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ แต่ต่อมาได้มีการตีความตามกฎหมายว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย ทำให้ถูกถอดสิทธิออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เฉพาะที่ รพ.ทองผาภูมิมีประมาณกว่า 10,000 คน ยังไม่นับรวมกลุ่มคนที่ไร้สิทธิ ทำให้คนเหล่านี้นอกจากไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลรองรับแล้ว ยังทำให้ รพ.ต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลและขาดทุนทุกปี ต้องได้รับการช่วยเหลือจากจังหวัด แต่เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิทำให้ช่วยลดภาระงบประมาณของ รพ.ไปได้มาก” ผอ.รพ.ทองผาภูมิ กล่าว
พญ.นวลจันทร์ กล่าวว่า ส่วนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณของกองทุนรักษาพยาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ ซึ่งบริหารโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้น ในช่วง 2 ปีแรก เป็นการจัดสรรเงินโดยส่งงบประมาณรายหัวทั้งก้อนให้กับ รพ.เพื่อนำไปบริหารจัดการเอง แต่ภายหลังมีปัญหาทั้งในกรณีผู้ป่วยข้ามเขตรักษาและค่าใช้จ่ายผู้ป่วยใน จึงมีการตัดงบประมาณไว้ที่จังหวัดเพื่อปรับเกลี่ยและส่งให้กับ รพ.ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งถ้าถามว่ารูปแบบใดดีกว่า สำหรับ รพ.ทองผาภูมิที่มีคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิอยู่เป็นจำนวนมาก รูปแบบแรกจึงน่าจะดีกว่า แต่เข้าใจได้ว่าในการบริหารจำเป็นต้องดูในภาพรวม รพ.อื่นๆ ด้วยจึงต้องมีการปรับรูปแบบการบริหารงบประมาณ
ทั้งนี้ที่ผ่านมากองทุนรักษาพยาบาลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ ได้มีการปรับการบริหารงบจนมีรูปแบบคล้ายกับการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เนื่องจากมีจำนวนผู้มีสิทธิไม่มาก ทำให้เป็นข้อจำกัดในการบริหารสิทธิประโยชน์ที่ไม่เทียบเท่ากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างเช่น ค่ายาบางรายการไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เช่น ค่ายารักษาอาการถุงลมโป่งพองที่นอกจากมีราคาแพงแล้ว ผู้ป่วยต้องได้รับยาต่อเนื่อง ซึ่ง รพ.ต้องเป็นผู้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากองทุนรักษาพยาบาลกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม อาทิ กองทุนเอดส์ กองทุนไต และกองทุนวัณโรค เพียงแต่การเบิกจ่ายยังมีความยุ่งยากและมีการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และหากเป็นไปได้อยากให้เป็นรูปแบบเดียวกัน
“ในฐานะผู้ปฏิบัติงานอยากได้โปรแกรมเดียวในการเบิกจ่ายทุกกองทุน เพราะหากมาดูหน้างานจะรู้สึกได้ว่าการเบิกจ่ายกองทุนรักษาพยาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธินั้นยากมาก เพราะไม่ได้คีย์หนเดียว แต่ต้องคีย์ซ้ำซ้อนตั้งแต่การลงทะเบียน การตรวจ การเบิกจ่ายยา ต้องบอกว่าระบบยังไม่ค่อยดี ที่ รพ.อื่นอาจไม่มีปัญหาเยอะเพราะคนไข้น้อย แต่ที่ รพ.ทองผาภูมิมีปัญหานี้ เพราะผู้มีสิทธิกองทุนนี้เรามีจำนวนมากหลักหมื่นคน” ผอ.รพ.ทองผาภูมิ กล่าว
ต่อข้อซักถามว่า ในการบริหารเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกองทุนหลกประกันสุขภาพแห่งชาติกับกองทุนรักษาพยาบาลผู้รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิแตกต่างกันอย่างไร พญ.นวลจันทร์ กล่าวว่า กองทุนรักษาพยาบาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ใช้รูปแบบการบริหารแบบปีงบประมาณ โดย รพ.ต้องใช้งบประมาณให้หมดภายในเดือนกันยายนของแต่ละปี ซึ่งหากมีเงินเหลือจะต้องโอนคืนให้กับกระทรวงสาธารณสุข ต่างจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อสิ้นปีงบประมาณและมีเงินเหลือ รพ.จะโอนเงินเข้าเงินบำรุงของ รพ.ได้ ไม่ต้องโอนคืนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นอกจากนี้ความครอบคลุมสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไม่เทียบเท่ากัน โดยในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค งบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ งบการเบิกจ่ายกายอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งหากมีผู้ป่วยรอพิสูจน์สถานะที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ทาง รพ.ก็จะดูแลให้โดยใช้งบของ รพ.เอง
นอกจากนี้ พญ.นวลจันทร์ ยังได้กล่าวถึงกรณีปัญหาการตรวจสอบผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อปี 2556 ของ สปสช. ทำให้มีการตัดสิทธิผู้มีสิทธิกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ รพ.ไปกว่า 10,000 คน เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มผู้ที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิอยู่เป็นจำนวนมาก และคนเหล่านี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในกองทุนรักษาพยาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ เนื่องจากเขาเหล่านี้ยังไม่ทราบว่าตนเองถูกตัดสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไป ซึ่งจะทราบต่อเมื่อมารักษาพยาบาล จากสถานการณ์นี้ส่งผลให้งบประมาณของ รพ.ลดลงไปเกือบร้อยละ 30 ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของ รพ.
“ที่ผ่านมามีผู้ป่วยซึ่งเคยใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษา แต่เมื่อถูกตัดสิทธิ์และยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนกองทุนรักษาพยาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ได้ แต่ยังคงต้องรับการรักษาต่อ จึงเป็นหน้าที่ของ รพ.ต้องดูแล รวมถึงการจัดหายาเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมา รพ.ก็ติดปัญหาในการจัดหายา เพราะอย่างกรณียาต้านไวรัสเอดส์ ที่ต้องสั่งซื้อกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แต่เนื่องจากไม่ได้อยู่ในแผนงานการผลิต จึงไม่พอที่จะจัดสรรให้ได้ ทำให้ รพ.ต้องหายากจากบริษัทอื่นทดแทน” พญ.นวลจันทร์ กล่าว
ตอนต่อไป ติดตาม ผอ.รพ.ปายชี้กองทุนคืนสิทธิฯ อุดช่องโหว่งบรายหัวไม่พอรายจ่าย
- 39 views