ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.เดลินิวส์ : สวปก.เผยผลวิจัยชี้ ระบบสุขภาพไทยต้องการเงินเข้าไปพัฒนาระบบอีกมาก แต่เงินภาษีประเทศตึงตัว การให้ปชช.ร่วมจ่ายจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่อัตราที่จะได้เงินพอต้องร่วมจ่ายถึง 100 บ. ซึ่งจะทำให้ 1 แสนครัวเรือนยากจนลง จึงเสนออีกแนวทาง คือการเก็บภาษีเพิ่ม เช่น ภาษีสุขภาพหรือภาษีท้องถิ่นบางอย่างโดยตรง หรืออีกทางเลือก คล้ายประกันสังคม คือเก็บอัตราจ่ายตามฐานรายได้

นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผอ.สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า สวปก.ได้ทำการศึกษาเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพบว่า ขณะนี้ระบบสุขภาพของประเทศ ต้องการเงินเข้าไปเพื่อพัฒนาระบบคุณภาพการให้บริการอีกมาก แต่เงินภาษีของประเทศที่จะเอามาสนับสนุนตอนนี้ตึงตัวมาก ดังนั้นการให้ประชาชนร่วมจ่ายจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยหากหวังว่าจะได้เงินในอัตราที่พอจะพัฒนาระบบได้ ประชาชนต้องร่วมจ่ายอย่างน้อย 100 บาท แต่ด้วยโครงสร้างรายได้ครัวเรือนไทยตอนนี้ที่มีคนจนเยอะกว่าคนรวย ถ้าต้องจ่ายถึง 100 บาท จะทำให้มี 1 แสนครอบครัวต้องจนลง ดังนั้นการร่วมจ่าย ของประชาชนจึงต้องเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้บริการสุขภาพเท่านั้น เช่น เก็บ 30 บาท ณ ที่จ่าย หรือมากกว่านี้ได้เล็กน้อยซึ่ง ข้อเสนอดังกล่าว ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่วม 3 กองทุน ที่มีนายอัมมาร สยามวาลา เป็นประธานไปแล้ว

"ระยะสั้น รพ. ยังอยู่ได้ แต่ก็เริ่มเห็นปัญหาตอนนี้ว่า รพ. เริ่มแออัด ประชาชนก็เริ่มรู้สึกไม่พอใจในบริการ อยากได้คุณภาพที่ดีขึ้นแต่ถ้าอยากได้บริการที่ดีขึ้นแต่ไม่ยอมแชร์ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้เราต้องการเงินเข้ามาพัฒนาระบบแต่เงินคลังของประเทศตอนนี้กำลังตึงมือมาก ดังนั้นทุกคนต้องร่วมจ่าย ร่วมกันลงขัน" ผอ.สวปก. กล่าว

ส่วนอีกแนวทางหนึ่งที่ สวปก. อยู่ระหว่างการศึกษาคือการเก็บภาษีอย่างอื่นเพิ่ม เช่น ภาษีสุขภาพหรือภาษีท้องถิ่นบางอย่าง ที่เก็บคนรวยมากกว่าคนจนเล็กน้อย ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะใช้โครงสร้างคล้ายกับประกันสังคมคือกำหนดอัตราจ่ายตามฐานรายได้ หากทำได้น่าจะมีงบประมาณมาจัดระบบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แม้หาวิธีการเก็บภาษีได้แต่ก็ต้องมาลุ้นว่าจะผ่านด่านกระทรวงการคลังหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้ว กระทรวงการคลังมักจะให้เก็บภาษีเข้ากองกลางแล้วกระจายงบประมาณยังส่วนต่าง ๆ หากเป็นเช่นนี้ประชาชนคงไม่อุ่นใจเพราะต้องการให้งบประมาณนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการเก็บภาษีสุขภาพตรงนี้จะคล้ายกับการซื้อบัตรสุขภาพครัวเรือน ในช่วงก่อนเกิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือไม่ นพ.ถาวร กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่มีงานวิจัยรองรับแต่ส่วนตัวเห็นว่าจะออกมาคล้ายกับสมัยนั้นแต่ตอนนั้นไม่ได้บังคับ ใครไม่อยากซื้อก็ได้ ถ้าตอนนี้จะทำจริงและให้คิดว่านี่คือ ภาษีท้องถิ่นชนิดหนึ่งที่ทุกคนต้องจ่าย.

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 เมษายน 2558