ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นิมิตร์ จวก สปช. เสนอดัน “ร่วมจ่าย” หวั่นทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษา ขัดหลักการตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แถมทำคนจนแบกภาระค่ารักษาเพิ่มถึงแสนครัวเรือน ระบุหาก สปช.คิดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เท่านี้ ไม่แตะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน ควรออกจาก สปช. ด้าน “เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ขอประชาชนช่วยจับตา ข้อเสนอ สปช.ให้จัดสรรงบรักษาพยาบาลไปที่เขตบริการสุขภาพ สธ. ทำระบบถอยหลังเข้าคลอง ขณะที่ “หมอจเด็จ” ระบุ ต้องดูหลักการ กองทุนบัตรทอง หากมุ่งลดภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล รัฐต้องเพิ่มงบประมาณเป็นร้อยละ 15 จีดีพี เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการ 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวในการเสวนา “พลเมือง ขับเคลื่อน นโยบายหลักประกันสุขภาพ” ในงานมหกรรม “ร่วมพลังพลเมือง ขับเคลื่อนสุขภาพ : ACTIVE CITIZEN” โดยได้แสดงความเป็นห่วงกรณีที่คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยมีข้อเสนอให้มีการร่วมจ่ายในการเข้ารับการรักษา ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นเพื่อทำให้ทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพ ใครป่วยต้องได้รับการรักษา นับเป็นหัวใจสำคัญของระบบนี้ ที่ผ่านมาต้องบอกว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ เพราะทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยใน 100 คน เข้าถึงการรักษาถึง 90 คน แต่ที่ผ่านมาระบบนี้กลับถูกสั่นคลอนด้วยคำถาม โดยเฉพาะเรื่องภาระงบประมาณที่รัฐต้องแบกรับ และจะรับไม่ไหวในอนาคต ทำให้เกิดข้อเสนอการร่วมจ่าย ประกอบกับเหตุผลต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้น ไม่ว่า จะทำให้ประชาชนไม่ดูแลสุขภาพตนเอง ทำให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน เป็นต้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ประชาชนผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องมาร่วมกันคิดว่า จะช่วยกันรักษาหัวใจสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพนี้ไว้อย่างไร

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ที่น่ากังวลอย่างมาก คือแนวคิดผู้บริหารระดับนโยบาย หากรัฐบาลไม่คิดว่าการสนับสนุนงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหน้าที่ของรัฐ เป็นการลงทุนสุขภาพให้กับประชาชน แต่เห็นว่า เรื่องนี้เป็นภาระงบประมาณที่รัฐต้องแบกรับจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่บรรลุเป้าหมาย และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ โดยเฉพาะกรณี สปช.ที่มองการปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างผิดทิศทาง ที่เน้นการหาเงินมาอุดหนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยข้อเสนอการร่วมจ่าย ยิ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงการรักษาของประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะมีรายงานการศึกษาที่ชี้ว่า หากมีการเก็บเงิน 100 บาททุกครั้งที่ไปหาหมอ จะทำให้มีคนจนเกิดขึ้นอีก 100,000 ครัวเรือน

“วันนี้เราต้องช่วยกันกระทุ้งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ โดยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องกำหนดการลงทุนด้านสุขภาพให้กับประชาชนเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้เมื่อดูงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องบอกว่าเป็นการลงทุนที่ยังต่ำมาก จากแรกเริ่มกว่า 1 พันบาทต่อคนต่อปี จนวันนี้อยู่ที่ 2,700 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งรัฐบาลบอกว่ามากไป แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับระบบสวัสดิการข้าราชการ งบที่ใช้ในการรักษาพยาบาลอยู่ที่ 15,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งรัฐบาลกลับไม่เคยบอกว่ามากไป ทั้งนี้ที่เป็นห่วงคือแนวคิดของ สปช.ต่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่สะท้อนจากข้อเสนอการร่วมจ่าย ซึ่งหากเป็น สปช.คิดได้แค่นี้ก็ออกมาเถอะ วันนี้เราคงพึ่ง สปช.ไม่ได้” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สปช.กลับไม่พูดถึงสิทธิประโยชน์กองทุนรักษาพยาบาลที่ไม่เท่ากันซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และที่ผ่านมามีความพยายามทำให้สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นแค่ของคนจน ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยกันลบวาทะกรรมนี้ออก เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของทุกคน ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขเองต้องพัฒนาระบบบริการ ทั้งปัญหาการรอคิว เวลาพบแพทย์ และคุณภาพบริการ เพื่อไม่ให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าเป็นแค่ระบบสำหรับคนจนที่ไม่มีทางเลือกเท่านั้น โดยร่วมกับ สปสช. ในการพัฒนา อย่างไรก็ตามขอติ สปสช.ในการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ยังคงให้สิทธิเทียบเท่าข้าราชการ ทั้งที่เป็นหน่วยงานซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินการเพื่อให้สิทธิการรักษาพยาบาลแต่ละกองทุนเท่าเทียมกัน ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ   

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า งบประมาณด้านสุขภาพของประเทศไทย หากเปรียบเทียบกับอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ 8,362 เหรียญสหรัฐต่อคน ถือว่าเราใช้เงินน้อยมาก หรือเพียงแค่ 100 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ซึ่งในฐานะประชาชนต้องสื่อสารประเด็นนี้ให้รับทราบ ทั้งนี้ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ 1.การรักษาพยาบาล 2.การศึกษา และ 3.สวัสดิการประชาชน เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ โดยในส่วนของการรักษาพยาบาล เราต้องช่วยกันจับตากรณีที่ สปช.เสนอแนวทางปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่ให้ สปสช.จัดสรรงบประมาณไประดับเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าเป็นรูปแบบที่เคยมีมาแล้ว โดยให้ สธ.เป็นผู้จัดสรรงบส่งไปยังโรงพยาบาล ขณะที่ สปสช.จัดสรรงบไปตามหัวประชากร ซึ่งหากใช้แนวทางนี้เท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบสุขภาพประเทศไทย เราตัดสินใจให้รัฐบาลเป็นคนจ่ายมากกว่าประชาชน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 80 โดยเมื่อเราพูดว่างบประมาณที่ได้รับเพียงพอหรือไม่ ต้องดูว่าเราเริ่มต้นจากหลักการอะไร หากมองว่าการดูแลรักษาพยาบาลเป็นภาระงบประมาณประเทศ ก็จะมุ่งประหยัดงบประมาณ แต่หากเป็นการทำเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากภาวะเจ็บป่วยก็ควรที่จะเพิ่มงบประมาณให้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลจ่ายงบประมาณด้านสุขภาพเพียงร้อยละ 4 ของจีดีพี ซึ่งเป็นไปได้ควรขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพี โดยปีนี้ สปสช.ได้ของบเพิ่มเติมอีก 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า เมื่องบประมาณจำกัด ทำให้การจัดสรรงบประมาณลงหน่วยบริการเป็นไปอย่างจำกัดเช่นกัน จึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งกรณีของตัวเลข รพ.ขาดทุน 137 แห่ง แต่ละปี สปสช.และ สธ.ได้กำหนดให้เป็นหน่วยบริการที่ต้องเข้าไปดูแลพิเศษอยู่แล้ว แต่อยู่ภายใต้งบประมาณที่จำกัด

ขณะที่ ดร.ยุพดี ศิริสินสุข อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้พยายามบริหารภายใต้งบประมาณที่จำกัด โดยทุกสิทธิประโยชน์ที่ดำเนินการจะต้องมีการสำรวจและวิจัยมาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกองทุนต่างๆ ที่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และในการจัดสรรงบประมาณขาดลง ที่ผ่านมาอนุกรรรการพัฒนาระบบการเงินการคลังไม่ได้ละเลย สธ. โดยเน้นความร่วมมือระหว่าง สธ. และ สปสช. ซึ่งในกรณีของโรงพยาบาลขาดทุนอยากให้ สธ.ในฐานะผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ นำข้อมูล รพ.ขาดทุนออกมาดู เพราะการขาดทุนของ รพ.มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเจ้าของระบบรับทราบปัญหา เพราะหากเกิดจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอจริงๆ เชื่อว่าประชาชนคงไม่ยอมปล่อยให้ รพ.ขาดทุนแน่นอน