ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์” กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  คือหนึ่งใน “ผู้คร่ำหวอด” ด้านกฎหมายสุขภาพของประเทศ หากพลิกแฟ้มประสบการณ์ทำงาน จะเห็นผลงานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น การศึกษาระบบคุ้มครองผู้บริโภคตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ, การศึกษาสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550, การปฏิรูปแพทยสภาในต่างประเทศ, การศึกษาแนวทางป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรยายาสูบตามอนุสัญญา WHO FCTC, การควบคุมการส่งเสริมการขายยาเป็นต้น รวมทั้งมีส่วนร่วมพัฒนากฎหมายสุขภาพบางฉบับ และผลงานล่าสุดที่เกี่ยวกับกฎหมายวิจัยสุขภาพที่สำคัญของประเทศ คือ การมีส่วนร่วมพัฒนา (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ... ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข   

“กฎหมายสุขภาพ” ในไทย เป็นที่รู้จักมากน้อยแค่ไหน ?

งานด้านกฎหมายสุขภาพในไทย เริ่มมีนักวิชาการที่ศึกษาอย่างจริงจังเมื่อราว 30 กว่าปีมานี้เอง โดยท่านแรก ๆ คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ท่านเป็นปรมาจารย์ทางด้านนิติเวชศาสตร์และกฎหมายการแพทย์ กฎหมายสุขภาพ อีกท่านหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส ทั้งสองท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสุขภาพที่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างลึกซึ้ง ในส่วนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ยังไม่มีการหลักสูตรการสอนกฎหมายสุขภาพที่เป็นระบบ มักจะเน้นไปเรื่องกฎหมายการแพทย์หรือกฎหมายนิติเวช นักกฎหมายที่มีความรู้ ความเข้าใจกฎหมายสุขภาพจึงมีอยู่น้อยแทบจะนับตัวคนได้ ในระยะหลังมีแพทย์หลายท่านที่สนใจเรียนกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่ก็มีแพทย์บางกลุ่มที่เรียนกฎหมายเพื่อจะเป็นหมอความ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแพทย์หรือกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ บางรายถึงกับมีพฤติกรรมอยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้ป่วย คอยคัดค้านกฎหมายสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....  ทั้ง ๆ ที่ร่างกฎหมายนี้จะมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งหรือการฟ้องร้องระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขกับผู้ป่วย  ในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้ ก็ไม่เห็นจะมีกลุ่มแพทย์ไหนออกมาคัดค้านอย่างเมืองไทย

ปัจจุบัน คนในสังคมสนใจกฎหมายสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อแทบทุกคน แต่อุปสรรคของผู้ศึกษาก็คือ นักกฎหมายมักจะไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพหรือการแพทย์ เพราะต้องอาศัยพื้นความรู้ด้านอื่นประกอบ ตัวอย่างเรื่องรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ซึ่งการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยน่าจะเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน แต่ร่างกฎหมายยาที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลในเรื่องการแบ่งประเภทยา เปิดช่องให้มีการส่งเสริมการขายยาที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้บริโภค เนื้อหาหลายมาตราที่อาจทำให้การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทำให้กลุ่มวิชาชีพเภสัชกร คณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ กลุ่มองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพต้องออกมาคัดค้าน และเสนอให้แก้ไขร่างกฎหมายยา โดยอ้างอิงร่าง พ.ร.บ.ยา (ฉบับประชาชน) ที่มีเนื้อหาที่สมบูรณ์กว่าร่างกฎหมายของกฤษฎีกา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า กฎหมายสุขภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยากแก่การทำความเข้าใจของนักกฎหมายทั่วไป ตำราหรือเอกสารวิชาการด้านกฎหมายสุขภาพที่มีคุณภาพที่มีผู้เขียนก็มีเผยแพร่ไม่มากนัก

“กฎหมายสุขภาพ” สำคัญอย่างไร

กฎหมายถือมีความสำคัญต่อสุขภาพของประเทศ เพราะถือเป็นมาตรการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎ กติกาทางสังคม  ช่วยสร้างเสริมสุขภาพหรือการลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ซึ่งห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ทำให้จำนวนคนที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะลดลงไปจากในอดีตเป็นอย่างมาก  ภาพของคนที่สูบบุหรี่ก็ถูกมองว่าเป็นคนที่น่ารังเกียจ ซึ่งเป็นเรื่องของทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิม หรือกรณี พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ที่ห้ามโฆษณาบุหรี่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบที่แสดงเครื่องหมายการค้าผ่านสื่อต่าง ๆ ก็เป็นมาตรการที่ได้ผลอย่างมาก ช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่  แต่สถานการณ์ปัจจุบัน มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ให้ทันสมัยเช่นกัน  แต่กว่าจะได้กฎหมายเหล่านี้มา  ก็ต้องต่อสู่กับกลุ่มบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่มีเงินทุนมหาศาล มีการล็อบบี้นักการเมืองในสภา หรือผู้ที่มีบทบาทในการพิจารณากฎหมาย                  

ควรมีแนวทางการพัฒนา “กฎหมายสุขภาพ” ต่อไปอย่างไร ?

เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพของบ้านเรา จำเป็นต้องสร้างบุคลากรหรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ต้องเน้นเรื่องจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพราะแม้ว่าเราจะได้คนเรียนเก่งมากมาย แต่ถ้าไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรมแล้ว ก็จะทำให้สังคมเกิดปัญหาในอนาคต กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือที่จะคอยกำกับความประพฤติของคนเท่านั้น   

สิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อพัฒนากฎหมายสุขภาพคือ มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ตำรา บทความวิชาการด้านกฎหมายสุขภาพ  ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ พนักงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการบังคับใช้กฎหมายสุขภาพ ก็ควรได้รับการฝึกอบรมพัฒนาในเรื่องกฎหมายสุขภาพที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะในหลายๆ กรณี นิติกรหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานมักจะตีความกฎหมายไม่ถูกต้อง ทำให้มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ก็ควรเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ครอบคลุมไปถึงการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือเรื่องการโฆษณาและจำหน่ายบุหรี่ทางอินเทอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์ (ส่วนใหญ่เป็นบุหรี่นำเข้าที่หนีภาษี) ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างชัดเจน แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีอย่างจริงจัง  

มองเรื่อง (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ... อย่างไร ?

เนื่องด้วยรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน) มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยสุขภาพนำไปสู่กระบวนการวิจัยอย่างครบวงจร ยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเริมและสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ... เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งผมมีโอกาสได้เข้าไปร่วมยกร่างดังกล่าวด้วย  แนวคิดหลักของร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ คือ มองไปถึงแนวโน้มในอนาคตว่า เรื่องวิจัยระบบสาธารณสุขมีขอบเขตที่จำกัด ในขณะที่งานวิจัยสุขภาพมีขอบเขตที่กว้างกว่ามาก ครอบคลุมไปถึงสภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม ซึ่งเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล เรายังต้องการการศึกษาวิจัยในเชิงสุขภาวะอีกมากมาย เช่น การวิจัยทางคลินิก การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ วิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม หากมีหน่วยงานใหม่คือ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ ที่จะจัดตั้งขึ้นแทนสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่จะถูกยกเลิกไปตามกฎหมาย ก็จะเข้ามาดูแลส่งเสริมหรือสนับสนุนการวิจัยสุขภาพในภาพรวมของประเทศทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก

หมายเหตุ : ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 โดยการสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมาย ประเด็นจริยธรรมที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุขและสุขภาพในมิติต่างๆ ต่อมา ศูนย์กฎหมายฯ ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ นักกฎหมาย และบุคคลทั่วไปในเรื่องกฎหมายสุขภาพ รวมทั้งยังมีการจัดอบรมความรู้ด้านกฎหมายการแพทย์ กฎหมายสุขภาพแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอีกด้