ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย” เสนอปฏิรูปโครงสร้าง สธ. ตั้ง “กรมสาธารณสุขท้องถิ่น” หรือ “กรมปฐมภูมิ” หลังระดมความเห็นหมออนามัยกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ เปิดโอกาสหมออนามัย นักสาธารณสุข คนทำงานระดับปฐมภูมิก้าวหน้าสู่ระดับบริหารส่วนกลางเหมือนวิชาชีพอื่นได้ หลังถูกจำกัดกรอบทำงานแค่ใน รพ.สต.จนเกษียณอายุราชการ ทั้งที่มี รพ.สต.ถึง 9.7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ พร้อมยกตัวอย่างโครงสร้าง ก.เกษตรฯ มท. และ ศธ.เปิดกว้างให้ ขรก.ทำงานระดับท้องถิ่นก้าวหน้า เผยที่ผ่านมานำเสนอต่อ สปช. สนช. ที่ปรึกษานายกฯ และ รมว.สธ.แล้ว

นายปรเมษฐ์ จินา

นายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อเสนอการจัดตั้ง “กรมสาธารณสุขท้องถิ่น” หรือ “กรมปฐมภูมิ” ว่า เมื่อดูการทำงานของ “หมออนามัย” หรือ “เจ้าหน้าที่สาธารณสุข” ซึ่งทำงานในระดับปฐมภูมิ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชน โดยหมออนามัยเหล่านี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลังได้รับการบรรจุตำแหน่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะทำงานในตำแหน่งนี้ไปจนเกษียณอายุราชการ เนื่องจากไม่มีช่องทางความก้าวหน้าในวิชาชีพที่จะเปิดโอกาสให้ไต่เต้าขึ้นได้ ซึ่งมาจากโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ไม่เปิดโอกาส ต่างจากกระทรวงอื่นๆ ที่มีเส้นทางให้ข้าราชการในสังกัดที่ทำงานในท้องถิ่นสามารถเติบโตได้ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอจัดตั้งกรมสาธารณสุขหรือกรมปฐมภูมิเพื่อเปิดโอกาสให้หมออนามัยมีความก้าวหน้าในวิชาชีพในระบบราชการได้ พร้อมระดมความเห็นหมออนามัยทั่วประเทศกว่า 70,000 คน เพื่อผลักดันเรื่องนี้

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า เมื่อดูการทำงานกระทรวงสาธารณสุข จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งานด้านการแพทย์ ซึ่งเน้นการบริการรักษาประชาชน และงานด้านสาธารณสุข ที่เน้นการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยทำงานร่วมกับชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาโครงสร้างเพื่อรองรับความก้าวหน้าให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขกลับไม่มีเลย โดยเป็นโครงสร้างความก้าวหน้าด้านการแพทย์ทั้งหมด ซึ่งเห็นได้จากการจัดตั้งกรมต่างๆ ในสังกัด สธ. ไม่ว่าจะเป็นกรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต หรือแม้แต่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น ประกอบกับสถานการณ์ขณะนี้มีการเน้นเรื่องกระจายอำนาจ จึงควรเปิดกว้างและให้มีการจัดตั้งกรมสาธารณสุขท้องถิ่น ที่นอกจากเป็นกรมที่กำกับดูแล รพ.สต. จำนวน 97,000 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศโดยตรงแล้ว ยังเพิ่มความก้าวหน้าให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะหมออนามัยเท่านั้น แต่รวมทุกวิชาชีพที่ทำงานใน รพ.สต.

“เราอยากให้มีการเปิดกว้างให้กับคนทำงานสุขภาพในระดับพื้นที่ภายใต้สังกัด สธ. เหมือนกับกระทรวงอื่นๆ อย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล สามารถขยับเป็นเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงอย่างรองอธิบดีและอธิบดีได้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่ปลัดตำบลสามารถขยับเป็นปลัดอำเภอ ปลัดจังหวัด และขึ้นเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราการจังหวัดได้ ซึ่งโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการก็เช่นกัน ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสความก้าวหน้าให้กับคนทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ด้วย ซึ่งหมออนามัยเป็นโครงสร้างสำคัญในระบบสาธารณสุขไทยมาเป็นร้อยปีแล้ว” ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าว และว่า ทั้งนี้ยังปิดโอกาสให้คนทำงานระดับปฐมภูมิมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้เหมือนกับวิชาชีพอื่นด้วย

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งที่ผ่านมาชมรมวิชาชีพสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย และเครือข่ายหมออนามัย ได้มีความเห็นร่วมกันต่อข้อเสนอนี้ และได้เข้ายื่นข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีบทบาทในการปฏิรูป เนื่องจากมองว่าช่วงนี้เป็นโอกาสที่จะปฏิรูปและปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดความเหมาะสมได้ และข้อเสนอนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเรื่องภายใน สธ. หากปรับเปลี่ยนระเบียบและนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่น่ามีปัญหา เพราะเป็นการปรับโครงสร้างให้เหมือนกับกระทรวงอื่น ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้กับคนทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในอนาคต ส่วนจะใช้ชื่อกรมใดนั้น ให้ขึ้นอยู่ผู้บริหารพิจารณา

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายด้านสุขภาพมักจะระบุว่า เน้นการสร้างนำซ่อม แต่เมื่อดูงบประมาณที่ลงไปในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต้องบอกว่าน้อยมาก เพียงแค่ร้อยละ 13.5 ของงบในระบบสุขภาพเท่านั้น ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วจะกำหนดให้อยู่ที่ร้อยละ 20 ของงบประมาณสุขภาพ โดยงบประมาณที่น้อยนี้จะส่งผลให้การทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพขาดศักยภาพเท่าที่ควร ซ้ำที่ผ่านมายังติดระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน

นอกจากนี้ นายปรเมษฐ์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน” ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงบทเฉพาะกาล ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกประกาศเพิ่มเติม 8 ฉบับ เพื่อรอบรับการจัดตั้งสภาวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ตลอดจนบทบาทและการดำเนินงาน การแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับถ้อยคำเพื่อนำเสนอต่อ ครม.และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยคณะทำงานได้มีการประชุมร่วมกับ สธ.และติดตามทุกเดือน ซึ่งยอมรับว่าความคืบหน้าการดำเนินงานเรื่องนี้ค่อนข้างล่าช้า แม้ว่า พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2556 และล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้วก็ตาม