กมธ.สาธารณสุข สภาปฏิรูปฯ เคาะข้อสรุป เสนอให้สปช.พิจารณา ตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพชาติ นายกฯ เป็นประธาน รมว.สธ.เป็นรองประธาน ปลัดสธ.เป็นกก.และเลขานุการ เสนอกระจายงบรายหัวไปเขตสุขภาพโดยตรง หนุนเขตสุขภาพทำหน้าที่ผู้ซื้อบริการ พร้อมเสนอให้สธ. ตั้งสำนักงานใหม่ เช่น สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายการคลังและเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพแห่งชาติ
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า วันที่ 25 มี.ค. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมี พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นประธาน ได้สรุปกรอบความคิดรวบยอดการปฏิรูประบบสาธารณสุข เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสปช. ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1.การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ 2.การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค และภัยคุกคามสุขภาพ 3.การปฏิรูประบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ และ 4.การปฏิรูประบบการเงินด้านสุขภาพ
ทั้งนี้ในประเด็นการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ได้สรุปปัญหาว่าระบบประกันสุขภาพหลายระบบ ทำให้เกิดช่องว่างในการคุ้มครองประชาชน รวมถึงมีปัญหาการผลักภาระค่าใช้จ่ายระหว่างกองทุนประกันสุขภาพ ขาดงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ขาดการพัฒนาโครงสร้างระบบบริการ ขาดแคลนกำลังคน และขาดบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับประชาชนบางกลุ่ม จึงเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” หรือ National Health Policy Board (NHPB) ทำหน้าที่กำกับทิศนโยบายสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงจัดระเบียบเส้นทางการเสนอนโยบาย แยกบทบาทและโครงสร้างของผู้ซื้อบริการ ผู้ให้บริการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบนโยบาย รวมถึงฝ่ายผู้ใช้บริการ และฝ่ายสนับสนุนบริการ
สำหรับอำนาจหน้าที่ ได้แก่ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข กำหนดทิศทางและนโยบายหลักด้านสุขภาพ กลั่นกรองนโยบายก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน วิคราะห์และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงจัดทำข้อเสนอเชิงทบทวนนโยบาย พิจารณาลำดับความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพ ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานตามนโยบาย
ทั้งนี้ ในโครงสร้าง กำหนดให้ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รมว.สาธารณสุข เป็นรองประธาน และมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นกรรมการและเลขานุการ รวมถึงมีกรรมการทั้งในส่วนของผู้ให้บริการ อาทิ ปลัดกระทรวงที่มีหน่วยบริการด้านสุขภาพ เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา และเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการในส่วนของผู้ซื้อบริการ ได้แก่ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และกรรมการในกลุ่มของเขตสุขภาพ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนคณะกรรมการสุขภาพระดับจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเสนอให้สธ. ตั้งสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักนโยบายการคลังและเศรษฐกิจสุขภาพ สำนักพัฒนากฎหมายสาธารณสุข สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สำนักพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ สำนักพัฒนาระบบยาและเทคโนโลยีสุขภาพแห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพแห่งชาติ
ส่วนระบบการคลัง กมธ.สาธารณสุข เสนอให้กระจายค่าเหมาจ่ายรายหัวไปยังเขตสุขภาพโดยตรง และให้เขตสุขภาพทำหน้าที่ผู้ซื้อบริการ จัดหาบริการที่มีคุณภาพในพื้นที่ เพื่อสนองต่อปัญหาสุขภาพ โดยสธ.ทำหน้าที่กำกับและประเมินผล
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าโครงสร้างเขตสุขภาพ ที่กมธ.สาธารณสุขเสนอ มีรายละเอียดแตกต่างจากแนวคิดของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. โดยกมธ.สาธารณสุข เสนอให้เขตสุขภาพมีผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สถานบริการสุขภาพในท้องถิ่น ทั้งรัฐ เอกชน และผู้แทนภาคประชาชน เป็นคณะกรรมการ ส่วนเขตสุขภาพตามแนวคิด นพ.ณรงค์ ให้ผู้ตรวจราชการสธ. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นคณะกรรมการเขต
- 14 views