ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จับมือกรมควบคุมโรค และกรมราชทัณฑ์ รุก “โครงการบริการให้คำปรึกษาการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีและการตรวจคัดกรองวัณโรค กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ปี 2558” ภายใต้สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และวัณโรคในกลุ่มผู้ต้องขัง แถมช่วยผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อเข้าถึงการรักษา

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคเอดส์และวัณโรคนับเป็นโรคติดต่อที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องดำเนินงานควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องให้กับประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ดังนั้น  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมมือดำเนินงาน “โครงการบริการให้คำปรึกษาการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีและการตรวจคัดกรองวัณโรค กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ปีงบประมาณ 2558” เพื่อคัดกรองผู้ต้องขังจำนวน 303,802 คน ในเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึง ความจำเป็นที่ต้องดำเนินงานคัดกรองเอชไอวีและวัณโรคในเรือนจำ เนื่องจาก ในเรือนจำมีสภาพพื้นที่ซึ่งจำกัด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ะกระจายโรคได้ง่าย ทั้งโรคเอดส์และวัณโรค จึงต้องมีมาตรการควบคุมและป้องกันที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษา/ตรวจการติดเชื้อเอชไอวีและคัดกรองวัณโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ของผู้ต้องขังในเรือนจำ จึงนำมาสู่การประสานความร่วมมือ 3 หน่วยงาน ภายใต้โครงการบริการให้คำปรึกษาการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีและการตรวจคัดกรองวัณโรค กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำนี้

“ผลที่ได้รับจากโครงการนี้คือ กลุ่มผู้ต้องขังในเรืองจำได้รับการคัดกรองวัณโรค และได้รับการบริการให้คำปรึกษาและตรวจการติดเชื้อเอชไอวีตามชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากเป็นการป้องกันโรคระหว่างผู้ต้องขังแล้ว ยังป้องกันการแพร่ระบาดออกสู่ภายนอก ภายหลังจากที่ผู้ต้องขังเหล่านี้พ้นระยะเวลาการต้องขังและออกจากเรือนจำไปแล้ว พร้อมกันนี้ยังช่วยให้ผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อได้รับการรักษา จึงนับเป็นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในแง่การป้องกันและควบคุมโรคระบาด”ศ.นพ.รัชตะ กล่าว โดยโครงการนี้ยังเป็นความร่วมมือที่ได้ดำเนินการทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินงานร่วมกัน 

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ผู้ต้องขังแม้ว่าจะอยู่ในเรือนจำ แต่ในด้านการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขจะได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับประชาชนกลุ่มอื่นๆ โดยในส่วนของการให้คำปรึกษาและการตรวจเอชไอวีแบบสมัครใจถือเป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับ โดย สปสช.ให้การสนับสนุนงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นบริการปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวี 6 ครั้งต่อปี การบริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วย Anti-HIV antibody 2 ครั้งต่อปี เช่นเดียวกับการตรวจ คัดกรองและรักษาวัณโรค ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติ การตรวจเอ็กชเรย์ปอด การตรวจเสมหะ และการให้ยารักษา