บอร์ดสปสช.แจงข้อกล่าวหา หลังมีผู้ร้อง ป.ป.ท.ประเด็นบริหารกองทุนบัตรทอง เผยเป็นประเด็นเก่าที่สปสช.เคยชี้แจงไปแล้วหลายครั้ง พร้อมให้ตรวจสอบ ยันทุกอย่างดำเนินการภายใต้กฎหมาย ไม่เคยมีการตกแต่งบัญชี ไม่มีการโอนเงินให้รพ.แล้วเรียกกลับ แต่เป็นการโอนให้ก่อนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง และหักลบตามผลงานที่ทำได้ ส่วนการจัดซื้อยาดำเนินการผ่านอภ. จึงไม่ใช่การเอื้อประโยชน์เอกชน และไม่มีค่าคอมมิชชั่น เงินที่ได้จากอภ.คือเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐทีมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการ ส่วนเบี้ยประชุมอนุกรรมยึดตามมติครม.
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการรายงานข่าวว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้รับการร้องเรียนในประเด็นกล่าวหาผลการดำเนินงานของสปสช.ในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 5 ประเด็น (ดูข่าว ที่นี่) นั้น สปสช.และบอร์ดพร้อมชี้แจงทุกประเด็น ซึ่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวนั้น เป็นประเด็นเดิมหลังจากที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้นำเสนอในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.57 แม้ภายหลังต่อมา ผู้บริหารระดับสูงของ สปสช.ได้แถลงข่าวชี้แจงเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.57 และยืนยันพร้อมให้การตรวจสอบ แต่ก็มีการรายงานข่าวจากทางสื่อมวลชนว่า ได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินภาครัฐ(คตร.) ศาลปกครอง ปปช. และป.ป.ท. ซึ่งในส่วนของ คตร.นั้น สปสช.ได้รายงานต่อบอร์ด สปสช.ว่าได้ดำเนินการชี้แจงแล้ว และครั้งนี้ ในประเด็นของ ป.ป.ท.นั้น มุ่งประเด็นมาที่บอร์ด สปสช.โดยตรง อย่างไรก็ตามต้องเรียนชี้แจงให้ทราบก่อนว่า สปสช.ยังไม่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ท. ในเรื่องนี้โดยตรง ทราบจากข่าว และในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สปสช.ได้รับคำสั่งจาก รมว.สธ.ให้ทำข้อมูลชี้แจงให้กับ ป.ป.ท. เนื่องจากในการดำเนินการของบประมาณประจำปี 2559 ใน 5 ประเด็นดังกล่าว รมว.สธ.จึงมอบให้สปสช.ทำข้อมูลเพื่อชี้แจง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโดย สปสช.ถือว่าการตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐหรือของสังคมเป็นเรื่องปกติ
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. ซึ่งรับผิดชอบระบบดูแลระบบธรรมาภิบาลและการตรวจสอบของ สตง. กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเด็น 5 ข้อร้องเรียนต่อ ป.ป.ท.นั้น เป็นเรื่องเก่าและขอชี้แจงเบื้องต้นว่า
1.ประเด็นที่ว่า บอร์ดสปสช.บางท่านมีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการโอนเงินไปสนับสนุนโครงการของหน่วยงาน หรือองค์กร หรือมูลนิธิ ซึ่งบอร์ด สปสช.บางท่านเป็นหัวหน้าหน่วยงานหรือเป็นกรรมการอยู่ และระบุว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ รพ.ขาดทุน นั้น ข้อเท็จจริง ในการจัดสรรเงินนั้น ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สามารถจัดสรรเงินให้หน่วยบริการหรือหน่วยงานอื่นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดบริการของหน่วยบริการได้ เช่น สนับสนุนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมต่างๆ สภาวิชาชีพ มูลนิธิ องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนจึงไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือประโยชน์ส่วนตัว
2.ประเด็นที่ว่า มีการนำเงินไปให้รพ.เอกชนในการบริการโรคเฉพาะ ซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการตามกฎหมายของ สปสช. และไม่มีหลักเกณฑ์รับรองคุณภาพ อีกทั้งคนไข้ต้องกลับเข้ามารับบริการรพ.รัฐอีก ประเด็นนี้ถือเป็นการเข้าใจผิดและมีการบิดเบือนข้อมูลเพราะ รพ.เอกชนเป็นหน่วยบริการตามกฎหมายของ สปสช. การที่จัดสรรงบให้ รพ.เอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของประชาชน เช่น การผ่าตัดหัวใจ การผ่าตัดตาต้อกระจก ซึ่ง รพ.เอกชนที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็น รพ.ที่ผ่านการประเมินคุณภาพก่อน เช่น รพ.กรุงเทพ รพ.พญาไท และการส่งผู้ป่วยกลับไปรับบริการใน รพ.รัฐ อาจเกิดขึ้นได้ตามปกติของระบบส่งต่อผู้ป่วย
3.ประเด็นที่ว่าสปสช.มีการผูกขาดการซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อเอกชน อีกทั้งเมื่อได้รับค่าคอมมิชชั่นก็นำกลับไปใช้เป็นสวัสดิการของ สปสช. ไม่คืนเข้าหน่วยบริการ ข้อเท็จจริงคือ การจัดซื้อยา วัสดุการแพทย์ เป็นการซื้อยารวมของยาและวัสดุที่มีราคาแพง ยากำพร้า ยาจำเป็นแต่หาซื้อยาก หรือวัคซีนที่สามารถต่อรองราคาได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้มติบอร์ด สปสช. และระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างทุกประการโดยดำเนินการผ่านองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ไม่เคยมีการซื้อตรงผ่านเอกชน จึงไม่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชนได้ และไม่มีค่าคอมมิชชั่น แต่ถ้าหมายถึงเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐที่ สปสช.ได้รับเงิน อภ.เป็นไปตามข้อบังคับของ อภ.ว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ซึ่งไม่ใช่เงินส่วนลดจากการซื้อยาหรือเวชภัณฑ์ แต่เป็นเงินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับหน่วยบริการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนหน่วยบริการ และเมื่อ สตง. แนะนำให้ สปสช.ออกระเบียบบอร์ด สปสช.ว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐ พ.ศ.2557 โดยกำหนดให้ใช้เพื่อสนับสนุนและพัฒนาหน่วยบริการร้อยละ 80 ของเงินที่ได้รับในแต่ละปี ส่วนอีกร้อยละ 20 ให้ใช้เพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพโดยภาพรวมแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
4.มีการตกแต่งบัญชีโดยการโอนเงินล่วงหน้าและมีการเรียกเงินกลับเพื่อการประเมินโบนัส และอ้างว่ามีการโอนเงินไปและโอนเงินกลับนั้น ข้อเท็จจริงเป็นการโอนเงินล่วงหน้าเพื่อช่วยเหลือมิให้ รพ. มีปัญหาสภาพคล่องตอนต้นปีงบประมาณ และจะมีการหักลบตามผลงานที่ทำได้ตอนปลายปีซึ่งเป็นระบบปกติ
5.ต่อประเด็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบ การปรับอัตราเงินเดือนค่าตอบแทนของคณะกรรมการหรือเลขาธิการ สปสช. ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ ใช้ในอัตราสูงสุดที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น หรือแม้แต่ค่าตอบแทนเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการมีอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน ข้อเท็จจริง คือ การเพิ่มเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการไม่ได้เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีการปรับอัตราเบี้ยประชุม บอร์ด สปสช.ก็ปรับตามมติครม. ส่วนเงินเดือนเลขาธิการนั้นสาเหตุที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น ก็เนื่องมาจากก่อนการรับตำแหน่งเลขาธิการวาระที่ 2 เลขาธิการได้รับเงินเดือนที่เต็มขั้นอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมารับตำแหน่งต่อในวาระที่ 2 บอร์ดสปสช.จึงให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิมตามมติครม.ที่กำหนดให้สปสช.เป็นหน่วยงานระดับ 3 เช่นเดียวกับ รพ.บ้านแพ้ว องค์การมหาชน
นพ.กิตติศักด์ คณาสวัสดิ์ บอร์ด สปสช.ในสัดส่วนผู้แทนนายกเทศมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และระเบียบที่บอร์ด สปสช.กำหนดไว้ ทำให้ระบบการตรวจสอบการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปีทำกันอย่างเข้มงวดเมื่อเทียบกับระบบราชการปกติ ตั้งแต่การตรวจสอบของอนุกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยอดีตผู้บริหารของ สตง. สำนักงบประมาณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข และยังมีหน่วยงาน สตง.มานั่งที่ทำงานย่อยตรวจเฉพาะ สปสช. รวมทั้ง สปสช.ต้องทำรายงานทางการเงินและบัญชีที่ผ่านการรับรองของ สตง.แล้ว เสนอต่อ ครม.ต่อรัฐสภาและต่อคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ด้วย
- 3 views