ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย จับมือ 14 องค์กรภาคเอกชน ร่วมรณรงค์เลิกใช้ภาชนะโฟม บรรจุอาหาร หันมาใช้วัสดุที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ เนื่องจากในโฟมพบสารเคมีอันตราย 3 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง ละลายได้ทั้งความร้อนและน้ำมัน เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ชายถึงขั้นเป็นหมัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์อาจได้ลูกที่มีอาการดาวน์ซินโดรมได้

วันนี้ (5 มีนาคม 2558) ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จ. นนทบุรี นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ“ การรณรงค์ลด ละ เลิกการใช้ภาชนะโฟม บรรจุอาหาร เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ 14 องค์กรภาคเอกชน ได้แก่ 1.บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด(The Mall) 2.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (Top) 3.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (7-Eleven) 4.บริษัทยัมเรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) จำกัด(KFC-PizzaHut)5.บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (สถานีบริการน้ำมันบางจาก)6.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท นิตยาไก่ย่าง จำกัด (ร้านนิตยาไก่ย่างและร้านไก่ตะกร้า) 8.สมาคมตลาดสดไทย 9.สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย 10.สมาคมธุรกิจอาหารและสปาไทย11.โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ 12.บริษัท เสรีพรีเมียร์ จำกัด ผู้บริหารตลาดเสรีมาเก็ต เดอะไนน์ พระราม 9 13.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และ 14.บริษัทเอ็นเนอร์จี คอมเพล๊กซ์ จำกัด (Energy Complex ในเครือ ปตท.) เพื่อขยายผลต่อภายในหน่วยงาน

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการค้าอาหารมักนิยมใช้ภาชนะสำเร็จรูปที่ทำจากโฟมทั้งจาน ถ้วย กล่อง ใช้บรรจุอาหารปรุงสำเร็จ เช่น ข้าวผัด ผัดกระเพรา กระเพาะปลา ก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากสะดวก ใช้ง่าย รวดเร็ว  และราคาถูก  การนำภาชนะโฟมมาบรรจุอาหารร้อน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากโฟมสัมผ้สกับอาหารร้อนจัดเป็นเวลานาน จะทำให้เสียรูปทรง  เกิดการหลอมละลาย มีสารเคมีที่อยู่ในเนื้อโฟม ซึ่งมองไม่เห็นปนเปื้อนออกมาอยู่ในอาหาร  ทำให้เกิดอันตรายสะสมอยู่ในร่างกาย แบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รู้ตัว สารเคมีที่พบในภาชนะโฟมบรรจุอาหาร ที่สำคัญมี 3 ตัว ได้แก่ 1.สารสไตรีน (Styrene) เป็นสารก่อมะเร็ง เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผลต่อสมองและเส้นประสาท ทำให้อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับยาก ระบบฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ทำให้มีปัญหาต่อมไทรอยด์และประจำเดือนในสตรีผิดปกติ 2.สารเบนซิน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเช่นกัน สารชนิดนี้ละลายได้ดีในน้ำมัน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นแรง หากได้รับสารชนิดนี้เป็นเวลานาน ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสารเบนซินจะทำลายไขกระดูกทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลง และ 3.สารพทาเลท (Phthalate)เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ผู้ชายเป็นหมัน หากเป็นหญิงมีครรภ์ลูกอาจมีอาการดาวน์ซินโดรมและอายุสั้นได้ ทั้งนี้ การละลายของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมากน้อยขั้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ อุณหภูมิอาหาร ไขมันในอาหารและระยะเวลาที่อาหารสัมผัสกับภาชนะโฟม โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารประเภทผัด ทอด จะทำให้สารสไตรีนละลายออกมาได้มากกกว่า

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า รัฐบาลโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีนโยบายเร่ง จัดการอันตรายจากโฟมที่ใช้สำหรับบรรจุอาหาร และได้มอบให้กรมอนามัย รณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร  โดยเริ่มในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  ซึ่งมีผู้ประกอบการค้าอาหารในโรงอาหารและตลาดนัด รวม 311 ราย สามารถดำเนินการเลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ 31 ตุลาคม 2557และในปีนี้ได้ขยายรณรงค์ไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์วิชาการกรมต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ และนำร่องในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ 4 ภาคด้วย   

“สำหรับยุทธศาสตร์ ในการลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารครั้งนี้ เน้น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.สร้างเขตพื้นที่ปลอดการใช้โฟมใส่อาหาร โดยให้ใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติใช้แทน เช่น กระดาษชานอ้อย หรือกล่องพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น 2.การรณรงค์การใช้วัสดุธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ใบตอง ใบบัว สำหรับห่อข้าวหรือขนม ทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย ชานอ้อยผสมเยื่อไผ่ มันสำปะหลัง เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ เป็นสารอินทรีย์ ย่อยสลายตามธรรมชาติในเวลา 45 วัน ต่างจากโฟมที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี หรือประมาณ 12 ชั่วคน หรืออาจใช้บรรจุภัณฑ์ที่ได้มอก. และยุทธศาสตร์ที่ 3 การปฏิเสธการใช้โฟมทุกรูปแบบ เช่น ไม่ซื้ออาหารที่บรรจุในกล่องโฟม เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว